บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 5: องค์รวมที่ไม่ตื้นเขิน แยกส่วนที่ไม่คับแคบ


บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 5: องค์รวมที่ไม่ตื้นเขิน แยกส่วนที่ไม่คับแคบ

แนวคิดเรื่องการทำงานแบบองค์รวม การมองปัญหาแบบองค์รวม สุขภาพแบบองค์รวม ได้ถูกนำเสนอมานานแล้วครับ มีการเอาคำ "องค์รวม" ไปตีความและปรับใช้กันอย่างหลากหลาย การตีความแบบหนึ่งคือ "องค์รวม" ในฐานะสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ของ "แยกส่วน"

แน่นอนว่าวิธีคิดแบบแยกส่วนนั้นมีจุดแข็งคือ สามารถเข้าใจประเด็นที่ต้องการในเชิงลึก ในเชิงวิชาชีพ แต่จุดอ่อนที่สำคัญคือการละเลยภาพใหญ่ 

นักศึกษาทันตแพทย์ ก็จะมองว่า เด็กฟันผุเป็นปัญหา ค้นหาแหล่งน้ำตาล แก้ปัญหาด้วยการใช้ทักษะเชิงวิชาชีพ อุดฟัน ทาฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน
ให้ความรู้ ลึกลงไปในวิชาชีพ ลึกลงไปในเทคนิกวิธี จนลืมมองภาพใหญ่ของเรื่องฟันผุว่ามันเกี่ยวข้องกับ การบริโภคน้ำตาล การเลี้ยงดูเด็ก เวลาว่างของพ่อแม่ การเดินทางไปสู่สถานบริการ ฯลฯ

การยึดหลักองค์รวมแบบสุดโต่งก็เช่นกัน ตัวอย่างเรื่องฟันผุเช่นเดิม สุดโต่งองค์รวม ก็จะจัดประชาคม นัดครู ผู้นำนักเรียน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กำนัน ผู้ปกครอง มาประชุมกัน เล่าว่าเด็กมีฟันผุเยอะเหลือเกิน พวกเราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี ผลลัพธ์ก็จะออกมาแบบพร่า ๆ มัว ๆ ประเภทประกวดหนูน้อยฟันดี ให้ครูสอนเรื่องการเลือกกินขนมในชั้นเรียน จัดเวรแปรงฟัน ฯลฯ

พระพรหมคุณาภรณ์ได้ให้ทางออกเรื่องนี้ไว้อย่างงดงามที่สุด ในหนังสือ สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ ว่า
"...ถ้าเราจะไม่สุดโต่งทั้ง ๒ อย่าง ก็ต้องได้ครบทั้ง ๒ คือต้องได้ทั้งองค์ร่วมและองค์รวม หมายความว่า ทั้งแยกส่วนก็เก่ง วิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนในแต่ละอย่าง แล้วก็รู้ด้วยว่าแต่ละอย่างนั้นมาสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้ามันสัมพันธ์กันดี ได้สัดส่วนสอดคล้อง กลมกลืน ประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วมันก็กลายเป็นองค์รวมปกติที่ดำเนินไปด้วยดี อันนี้แหละคือทางสายกลางที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเน้น ระบบความสัมพันธ์ มากกว่าจะมุ่งแค่แยกแยะองค์ประกอบ เพราะว่าจากองค์ร่วมที่สัมพันธ์กันเป็นระบบที่ดี ก็จะเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์..."

ศึกษาให้ลึกซึ้งที่สุด ในประเด็นที่เป็นปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาให้กว้างขวางที่สุด ในแง่ของภาพใหญ่ และระบบความสัมพันธ์ด้วย
ประโยคที่พวกเรา ครูทันตกรรมชุมชน มักจะบอกนักศึกษาบ่อย ๆ คือ นักศึกษา นักวิชาการ มีหน้าที่บอกชุมชนว่า ตามตำรา ตามทฤษฎี ตามวิชาการ เราต้องทำ "อะไร" จึงแก้ปัญหานี้ได้ ส่วนชุมชนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องชีวิต และบริบทของเขาเอง เขาจะบอกว่า ต้องทำ "อย่างไร" 

ป้องกันโรคฟันผุในเด็ก นักศึกษาทันตแพทย์ ต้องทราบสถานการณ์ความรุนแรงของโรค และต้องทราบว่าจะป้องกันโรคได้ต้องมีการจัดการเรื่องการบริโภคน้ำตาลเกิน ชุมชนเป็นผู้ประเมินว่า จะทำให้เด็ก ๆ กินน้ำตาลน้อยลง ทำได้ "อย่างไร" ผลของมันอาจจะออกมาหลากหลายมาก ตั้งแต่การเจรจากับแม่ค้าเปลี่ยนชนิดขนม การที่โรงเรียนควบคุมการใช้น้ำตาลทรายในการประกอบอาหารเที่ยง การตั้งกองทุนออมทรัพย์นักเรียน เอาเงินมาออม แทนที่จะเอาไปซื้อขนม ฯลฯ ซึ่ง "อย่างไร" นี้ เหมาะกับบริบทของชุมชน

โดยสรุปสิ่งที่เกิดประโยชน์ที่สุด การใช้วิธีมองปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้เกิดความลึกซึ้งในประเด็น ส่วนการมองแบบองค์รวม ช่วยให้เห็นระบบความสัมพันธ์ และภาพรวม

หมายเลขบันทึก: 573936เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท