​ไปเรียนรู้เรื่องการศึกษาของชาวบ้าน ที่อำนาจเจริญ


ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาวเมือง นักบวช นัการเมือง ข้าราชการ และ ฯลฯ ต่างก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสิ้น คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่มีทักษะ ฉันทะ และวิริยะ ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาวเมือง นักบวช นัการเมือง ข้าราชการ และ ฯลฯ ต่างก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสิ้น คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่มีทักษะ ฉันทะ และวิริยะ ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมจึงไปเรียนรู้เรื่องราวของการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่งของชาวบ้าน ที่ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยร่วมขบวนของ โครงการ ขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (NPI) ที่ดำเนินการโดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ

          เราไปเยี่ยมชื่นชมชาวบ้าน ตำบลไก่คำ ดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูล สำหรับใช้วางแผนพัฒนาตำบล ของตน ซึ่งมองในมุมหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือกลไกของชุมชนบริหาร จัดการตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิรูปประเทศไทย โดยชาวบ้านดำเนินการกันเอง ไม่ต้องรอ ทางราชการ ไม่ต้องรอนักการเมือง ไม่ต้องรอคณะ คสช.

          โครงการ NPI ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาอย่างมีข้อมูลและสารสนเทศสำหรับใช้ ตรวจสอบทำความรู้จักตนเอง ตรวจสอบทิศทางของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และใช้วางแผนการพัฒนาของตนเอง เน้นการดำเนินการของชาวบ้านหรือชุมชน เพื่อสร้างประเทศไทยที่มีการกระจายอำนาจการปกครอง และกระจายอำนาจทางการเมือง

          ผมได้เรียนรู้ว่า ตำบลไก่คำมีความท้าทายสำคัญๆ หลายอย่างทั้งที่เห็นชัดๆ คือการเป็นพื้นที่บ่อขยะของ เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เสี่ยงต่อการที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน กับทางราชการ และที่เห็นไม่ชัด คือข้อมูลที่โครงการ NPI มาดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล สภาพเศรษฐกิจ-สังคมของคนไก่คำ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญๆ ที่ผมมองว่าชาวบ้านสามารถรวมตัวกันปรับปรุงตัวเองเพื่อไปสู่ “เมืองธรรมเกษตร” ได้มากมาย แต่ผมไม่เห็นผู้นำชุมชนจับประเด็นเหล่านี้มาพูดเลย

          ประเด็นสำคัญที่สุด ที่ ดร. เดชรัต ย้ำแล้วย้ำอีก แต่ก็ไม่มีคนเห็นความสำคัญ คือค่าใช้จ่ายร้อยละ ๓๕ (ปีละ ๘๙ ล้านบาท) เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรต้องจ่าย คือเป็นค่าอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และยาสูบ

          ทำให้ผมนึกถึงคำ information literacy การพัฒนาสังคม/ชุมชนไทย ต้องเอาใจใส่พัฒนาเรื่องนี้ด้วย

          ประชาคมในจังหวัดอำนาจเจริญ รวมตัวกันประกาศแนวทางพัฒนาจังหวัดเป็นจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีเป้าหมายเป็นจังหวัดแห่งธรรมเกษตร กำหนดเวลาเดินทางไกล ๒๐ ปี สู่เป้าหมายดังกล่าว ตอนบ่าย เราได้ฟังการเล่าเรื่อง “ย้อนรอยประวัติศาสตร์และแนวทางขับเคลื่อนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร” โดยคุณชาติวัฒน์ ร่วมสุข และผู้นำชุมชนอำนาจเจริญท่านอื่นๆ อีกกว่า ๑๐ ท่าน ได้รับฟังเรื่องราวของ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่นของตน ที่น่าประทับใจยิ่ง แต่ที่ผมแปลกใจคือ ท่านเหล่านี้ยังใช้ข้อมูลน้อย แม้จะมีประสบการณ์การจัดทำแผนแม่บทชุมชนมาอย่างโชกโชน และมีประสบการณ์ทำข้อมูลชุมชน ร่วมกับโครงการ NPI

          ผมสรุปกับตนเองว่า คนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมใช้ข้อมูลและสารสนเทศ ในการกำหนดนโยบาย

          ผมได้เรียนรู้จาก นพ. ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ของ สสส. ว่าการเก็บข้อมูลชุมชนควรใช้ระบบที่ สสส. สนับสนุนให้ มช. ทำที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท ทรู และ กูเกิ้ล โดยใช้ GPS และเก็บข้อมูลใส่ สมาร์ทโฟนหรือ แท็บเล็ต ข้อมูลจะไปประมวลเข้าเครื่องแม่ข่าย ทันที และสามารถดูสภาพแวดล้อมของบ้านนั้นๆ ผ่าน Google Earth ได้ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ที่จังหวัด อำนาจเจริญ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลอำนาจเจริญน่าจะเข้าร่วมได้ โดยต้องเอาใจใส่ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้าน กระบวนการตีความข้อมูลเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในชุมชน เรื่องนี้มูลนิธิ สยามกัมมาจล น่าจะได้เอามาใช้กับการพัฒนาเยาวชนด้วย เป็นเครื่องมือให้เยาวชนสนใจสภาพความเป็นไป ของชุมชนของตน และเห็นโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนา

          มหาวิทยาลัยมหิดล อำนาจเจริญ เป็นภาคีพัฒนาที่สำคัญ ทางประชาคมอำนาจเจริญชื่นชมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการโครงการ อพ.สธ. (อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ) ๑๔ พื้นที่ และกำลังจะขยายเป็น ๒๑ พื้นที่ เพราะเป็นกิจกรรมที่ เอื้ออำนาจการปกครองตนเองของชุมชน พร้อมทั้งเอื้อการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ของชุมชน ด้วย

          จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดตัวอย่าง ในด้านมีความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน มีศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน และเครือข่ายสภาองค์กรตำบล นำโดยนายวานิชย์ บุตรี เครือข่ายธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ นำโดยนายชาติวัฒน์ ร่วมสุข เครือข่ายสภาองค์กร ชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ โดยที่ผู้นำชุมชนบอกที่ประชุมตอนบ่ายว่า สภาพการนำของประชาคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีลักษณะ “การนำร่วม” ไม่มีผู้นำสูงสุดคนเดียว

          เป็นความเข้มแข็ง บนความสำเร็จในการเชื่อมโยงเครือข่ายภายในจังหวัด และเชื่อมโยงกับกลไกต่างๆ ในระดับประเทศ ดังจะเห็นว่า ในวันนี้ หน่วยงานสำคัญๆ ในการพัฒนาประเทศมีตัวแทนมาร่วมประชุม ได้แก่ สภาพัฒน์ฯ, พอช. (ผอ. มาเอง พร้อมกับรักษาการ ผอ. พอช. อีสานใต้), สป.สช., สสส.,

          วันที่ ๓๐ มิถุนายน หลังการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วย วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ในตอนเช้า ตอนบ่ายเราไปศึกษาปัญหาฝายลำเซบาย อำเภอตะพานหิน ที่สร้างความเดือดร้อน แก่ชาวบ้าน    เราได้ทราบว่าฝายนี้สร้างโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม    เป็นโครงการปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมัยนายยิ่งพันธ์ มนสิการ เป็นรัฐมนตรี    โดยสร้างพร้อมกับฝายราศรีไสล    นายยิ่งพันธ์นี้ ต่อมาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดกรณีทุจริตคลองด่าน ร่วมกับนายวัฒนา อัศวเหม    แต่นายยิ่งพันธ์ตายเสียก่อน จึงไม่ได้รับโทษ    ส่วนนายวัฒนาหลบหนีออกไปนอกประเทศ

          ไปดูแล้ว ผมลงมติกับตัวเอง ว่านี่คือหลักฐานการทุจริตที่ทางราชการร่วมมือกับนักการเมือง ที่ต้องการหากินกับการก่อสร้าง และหลีกเลี่ยง EIA โดยการเรียกชื่อว่าฝาย ทั้งๆ ที่เป็นเขื่อนชัดๆ    เขื่อนนี้สร้างเสร็จปี ๒๕๔๓ พอปี ๒๕๔๔ ก็ก่อปัญหาน้ำท่วมแก่ราษฎรบางพื้นที่ และก่อปัญหาเรื่อยมา    เพราะเขาสร้างคันดินกั้นน้ำสูง ๕ เมตร ขนาบสองข้างลำเซบาย เหนือเขื่อน ทำให้น้ำฝนที่ตกขังอยู่นอกคันดิน ไหลลงลำเซบายไม่ได้ จึงท่วมบ้านของชาวบ้าน

          กรมชลประทานต้องแก้ไขโดยที่ประตูระบายน้ำลงลำเซบายเป็นช่วงๆ ในภายหลัง ก็ดูจะไร้ผล

          ผมถ่ายรูปหอเตือนภัยที่วัด ที่อยู่ใกล้คันดินข้างลำเซบาย เอามาลงไว้เป็นหลักฐานคอร์รัปชั่นด้วย    ชาวบ้านบอกว่าไม่เคยเตือนอะไรเลย ยกเว้นเปิดเพลงชาติเดือนละ ๒ ครั้ง    ฟังชาวบ้านพูดแล้ว เห็นชัดว่าเขาไม่มีศรัทธาในราชการเลย เขารู้เต็มอกว่า การก่อสร้างต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของเขา

          ไปอำนาจเจริญคราวนี้ ผมสวมแว่นตาการเรียนรู้ของชาวบ้าน    คนที่ไปจากกรุงเทพส่วนใหญ่ สวมแว่นตาขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล    ส่วนชาวอำนาจเจริญสวมแว่นตาการพัฒนา เป็นจังหวัดจัดการตนเอง ไปสู่สภาพชีวิตความเป็นอยู่แบบธรรมเกษตร    ผมต้องสวมอีกแว่นหนึ่ง ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีวิทยาเขตอยู่ที่อำนาจเจริญ คือแว่น comprehensive social engagement ในการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษา

          แม้จะเหนื่อย แต่ก็ได้ความรู้ และความสุข


ลงเครื่องบินแล้วไปกินอาหารเช้าเชิงวัฒนธรรมที่ร้านอาหารครัวเช้า ที่มีสารพัดเมนูหมากจอง


บรรยากาศในห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลไก่คำ


เยาวชนที่ร่วมเก็บข้อมูล ลุกขึ้นมาบอกว่าบางคำถามตั้งไว้ถามคนกรุงเทพ ไม่ใช่คำถามสำหรับคนไก่คำ


อาหารเที่ยงของผมที่ ต. ไก่คำ ข้าวอร่อย และหน่อไม้หวานมาก


ข้าวหน่วยเขือ อุดมเบต้าแคโรทีน


เรียนรู้ความเป็นมาของประชาคมอำนาจเจริญ
เรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการเป็นชุมชนจัดการตนเอง


ไปกราบพระมงคลมิ่งเมือง


ประชุมคณะกรรมการกำกับทิศ แผนงานขับเคลื่อนสังคม
ด้วยวัฒนธรรมการใช้้อมูล ที่โรงแรมฝ้ายขิด


ประชาคมอำนาจเจริญมาร่วมประชุมด้วย



ไปดูฝายลำเซบาย ได้เห็นกับตาว่านักการเมืองโกงชาติกันอย่างไร


เอกสารโครงการบอกผมว่า รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในช่วงปี ๒๕๓๙ คือตัวการ



คันดินสูง ๕ เมตรสองข้างลำเซบาย ตัวการทำให้น้ำท่วมบริเวณที่ชาวบ้านร้องเรียนมา ๑๓ ปี


นี่ก็หลักฐานคอร์รัปชั่น หอเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
 ไปเห็นแล้วผมแว่วว่า คอร์รัปชั่นที่ระบาดหนักเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุด

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มิ.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๒ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 573855เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2014 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท