ศึกษากลยุทธ์จากคัมภีร์มหากาพย์มหาภารตยุทธ์


            เป็นที่รับรู้กันในหมู่คนไทยส่วนใหญ่ว่า คนอินเดีย(หมายถึงพวกที่นับถือศาสนาฮินดู) เป็นคนเห็นแก่ตัว หรือพูดง่าย ๆ ว่าขี้โกง ตามสำนวนไทยที่บอกว่า "ถ้าเจอแขกกับงู ให้ตีแขกก่อน" จริง ๆ แล้วคนอินเดียไม่ไช่คนขี้โกงอย่างที่คนไทยเข้าใจ แต่เป็นคนที่นิยมใช้สมองหรือกลอุบายมากกว่า คือเขาไม่ได้มองว่าโลกนี้สดสวย งดงาม บริสุทธิ์ ผุดผ่องเหมือนกับที่คนไทยมองครับ แต่เขามอกโลกว่าเต็มไปด้วยความชั่วร้าย เพราะฉะนั้นการที่จะอยู่บนโลกนี้ได้ท่านต้องใช้สมอง ปัญญา หรือกุศโลบาย และเพื่อจะให้เห็นภาพชัดเจนผมจะยกกรณีตัวอย่างมาจากกลยุทธ์ในการทำสงครามเพื่อชัยชนะในมหากาพย์มหาภารตยุทธ อันยิ่งใหญ่ ว่าชัยชนะของเหล่าปาณฑพในแต่ละครั้งได้มาด้วยกลอุบายที่แยบยลทั้งนั้น

              ชัยชนะของกษัตริย์ฝ่ายปาณฑพล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากกลอุบายทั้งสิ้น  เพราะถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้วกองกำลังของฝ่ายปาณฑพไม่มีทางเอาชนะฝ่ายเการพได้เลย   แต่เพราะมีสุดยอดกุนซืออย่างพระกฤษณะที่คอยวางแผนกลยุทธ์ให้   จึงทำให้ฝ่ายปาณฑพชนะแม้ว่าจะมีกำลังน้อยกว่า ( 7 กองพล ต่อ 11 กองพล) ในการโค่นล้มแม่ทัพคนแรกคือ ภีษมะ แม่ทัพผู้ไม่เคยปราชัยแก่ผู้ใดและไม่มีใครสามารถฆ่าได้ตราบใดที่มีธนูอยู่ในมือ   เพราะฉะนั้นในการเอาชนะภีษมะจึงจำเป็นต้องใช้กลอุบาย   ฝ่ายปาณฑพก็มาคิดกันว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ภีษมะวางอาวุธ (ธนู) พระกฤษณะจึงวางแผนให้ศิขัณฑินขับรถม้าศึกไปท้ารบกับภีษมะ  เนื่องจากศิขัณฑินเป็นครึ่งหญิงครึ่งชาย (กะเทย) จึงทำให้ภีษมะปฏิเสธที่จะรบด้วยและได้วางอาวุธลง   ในขณะที่ภีษมะวางธนูลงอรชุนกับพระกฤษณะที่หลบอยู่ข้างหลังรถม้าของศิขัณฑินก็ปรากฎตัวออกมา    อรชุนนักรบที่เก่งที่สุดในการใช้ธนูก็ระดมยิงภีษมะ แม่ทัพผู้เกรียงไกรของฝ่ายเการพจนพรุนทั้งร่าง    เป็นการโค่นแม่ทัพคนแรกของฝ่ายเการพหลังสงครามดำเนินมาได้ 10 วัน

           กรณีตัวอย่างที่สองเรื่องการใช้กลอุบายจากมหากาพย์มหาภารตยุทธ์ คือ กลยุทธ์ของฝ่ายปาณฑพในการโค่นโทรณาจารย์ แม่ทัพคนที่สองของฝ่ายเการพ  เนื่องจากว่า โทรณาจารย์เคยเป็นอาจารย์สอนยิงธนูให้กับพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 องค์ คือ ยุฏิษเฐียร ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ     ทั้งห้าคนนี้ย่อมไม่มีใครกล้าต่อกรกับโทรณาจารย์และในกลุ่มพี่น้องปาณฑพก็มีเพียงอรชุนเท่านั้นที่มีฝีมือการรบทัดเทียมอาจารย์     เพราะฉะนั้นหน้าที่ในการสังหารโทรณาจารย์จึงเป็นของธฤษฏะทยุมันแม่ทัพของฝ่ายปาณฑพ     แต่ฝีมือของธฤษฏะทยุมันยังห่างไกลโทรณาจารย์มาก  มีวิธีเดียวที่จะสังหารโทรณาจารย์ได้คือต้องหาทางให้โทรณาจารย์วางอาวุธ    โดยปกติโทรณาจารย์มีบุตรเพียงคนเดียวชื่ออัศวถามา  ซึ่งเป็นบุตรที่โทรณาจารย์รักมาก และเป็นนักรบคนสำคัญของฝ่ายเการพด้วย   ฝ่ายปาณฑพที่มีพระกฤษณะเป็นมันสมองจึงออกกลอุบายโดยให้ภีมะไปฆ่าช้างชื่อว่าอัศวถามา   แล้วก็ไปตะโกนบอกโทรณาจารย์ว่าอัศวถามาถูกฆ่าแล้ว   โทรณาจารย์พอได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจแต่ยังไม่เชื่อโดยทันทีจึงรีบขับรถม้าไปสอบถามยุฏิษเฐียรผู้ที่รับรู้ทั่วกันว่าไม่เคยกล่าวคำโกหก   ซึ่งยุฏิษเฐียรก็ตอบไปด้วยเสียงดังว่า “อัศวถามาตายแล้ว” และเปล่งเสียงให้เบาลงว่า “แต่เป็นช้างชื่ออัศวถามานะ”   โทรณาจารย์ได้ยินเฉพาะประโยคแรกจึงเข้าใจว่าตนเองเสียลูกชายไปแล้ว   จึงหมดอาลัยตายอยาก ทิ้งอาวุธจากมือแล้วก็นั่งลงเข้าสมาธิ     จังหวะนั้นเองธฤษฏะทยุมันจึงถือดาบเดินเข้าไปตัดศรีษะแม่ทัพของฝ่ายเการพ   เป็นชัยชนะอีกครั้งของฝ่ายปาณฑพหลังจากสงครามดำเนินไปได้ 15 วัน

              ในกรณีตัวอย่างที่สามเรื่องการใช้กลอุบายในมหากาพย์มหาภารตยุทธ์คือการโค่นแม่ทัพคนที่สามของฝ่ายเการพ    แม่ทัพคนที่สามต่อจากภีษมะและโทรณาจารย์ก็คือ กรรณะซึ่งว่าโดยความเป็นจริงแล้วกรรณะเป็นพี่ชายคนโตของเหล่ากษัตริย์ปาณฑพทั้ง 5    แต่เรื่องถูกปกปิดเอาไว้เหล่าปาณฑพจึงรู้เพียงแค่ว่ากรรณะเป็นเพื่อนรักของทุรโยชน์    และพระกฤษณะก็รู้ดีว่าในสมรภูมิรบครั้งนี้นักรบที่เก่งที่สุด คือ กรรณะ เขาเป็นคนเดียวที่เอาชนะอรชุนได้    กรรณะมีอาวุธศักดิ์สิทธิ์อยู่สองอย่าง คือ เกาะเพชรที่ได้รับจากพระอินทร์และธนูพรหมศาสตร์ที่ได้รับจากพระอิศวร   วิธีที่จะเอาชนะกรรณะได้ก็คือต้องหาทางปลดอาวุธทั้งสองนี้ให้ได้    พระกฤษณะจึงแปลงเป็นพราหณ์เพื่อไปขอเกราะเพชรในระหว่างที่กรรณะกำลังทำพิธีอาบน้ำชำระบาป     เพราะถ้ามีใครไปขออะไรในระหว่างพิธีทำการชำระบาป    กรรณะจะไม่ปฏิเสธ     ส่วนธนูพรหมศาสตร์นั้นว่ากันว่ากรรณะเตรียมเอาไว้เพื่อสังหารอรชุนโดยเฉพาะ     และเป็นความโชคดีของอรชุนที่มีคนรับกรรมไปแทน คือ กโฏตจะ บุตรของภีมะที่เกิดจากนางรากษส (ยักษ์) ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ทำลายกองทัพ  พลทหารของฝ่ายเการพจำนวนมหาศาลถูกกโฏตจะใช้อิทธิฤทธิ์เวทมนต์สังหารจนกรรณะทนดูการล้มตายของพลทหารไม่ได้   เลยใช้ธนูพรหมศาสตร์สังหารกโฏตจะ    ซึ่งอาวุธทรงอานุภาพนี้จะใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น    ว่ากันว่าทั้งหมดเป็นแผนการปลดอาวุธกรรณะของพระกฤษณะนั่นเอง     เพราะฉะนั้นกรรณะจึงไม่มีอะไรที่เหนือกว่าอรชุน     และเมื่อทั้งสองมาเผชิญหน้ากันก็ต่อสู้ด้วยธนูอย่างดุเดือด แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกันได้และความโชคร้ายก็มาถึงกรรณะเมื่อรถม้าศึกไปติดหล่ม     กรรณะจึงขอเวลานอกเพื่อไปยกล้อรถขึ้นจากหล่ม   จังหวะนั้นเองที่พระกฤษณะได้สั่งให้อรชุนลงมือสังหารกรรณะ    อรชุนก็ไม่ยอมเพราะเป็นการเสียเกียรตินักรบ     แต่พระกฤษณะก็ย้ำว่าถ้าไม่ใช้โอกาสนี้อรชุนก็จะไม่มีทางสังหารกรรณะได้    และถ้ากรรณะไม่ถูกสังหารกองทัพฝ่ายปาณฑพก็ไม่มีวันที่จะเอาชนะกองทัพฝ่ายเการพได้     เพราะฉะนั้นอรชุนจึงจำใจต้องฝืนกฎการรบด้วยการยิงธนูสังหารกรรณะระหว่างกำลังยกล้อรถนั่นเอง     และนี่ก็เป็นชัยชนะของฝ่ายปาณฑพในการโค่นแม่ทัพคนที่สามของฝ่ายเการพหลังสงครามดำเนินไปได้ 17 วัน ก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลงในวันต่อมาคือ ในวันที่ 18 ของการทำสงคราม    ฝ่ายปาณฑพสามารถเอาชนะเการพได้โดยเด็ดขาด

 

หมายเลขบันทึก: 573729เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท