ครูผู้สอนไม่อยู่ ผอ.ดูหนังสือพิมพ์


อ่านแล้ว ประมวลเป็นองค์ความรุ้ แล้วจึงจัดการความรู้นั้นๆ เป็นภาคปฏิบัติ โดยนำไปใช้ในห้องเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทำจริง โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ในการค้นคว้า บอกเล่าและอภิปราย ถึงสิ่งที่เขาได้รับและปรับไปใช้ แก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น จนกลายเป็นทักษะที่ถูก

จริงๆแล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ยิ่งอยู่ในช่วงเวลาทำงาน ที่คุณครูกำลังสอนตะเบ็งเซ็งแซ่ด้วยแล้ว แทบไม่อยากผ่อนคลาย หรือ ทำตัวตามสบายใดๆทั้งสิ้น แน่ล่ะ การอ่าน เป็นการแสวงหาความรู้และช่วยให้ก้าวทันข้อมูลข่าวสาร แต่ถ้าอ่านแล้ว..เอกสารงานราชการยังค้างคาอยู่ ให้รู้สึกละอายชอบกล

ประเด็นไม่ใช่อยู่ตรงนั้น และไม่ได้อยู่ที่คำพูดของนักการเมืองท่านหนึ่ง ที่มีวลีเด็ด ที่มักจะบอกเราว่า "หนังสือพิมพ์ไม่อ่านก็โง่ แต่ถ้าเชื่อก็บ้า" ของผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ก็เพราะว่า ผมแพ้สารเคมี ที่มีกลิ่นคาร์บอน ออกมาจากกระดาษหนังสือพิมพ์ ได้กลิ่นแล้ว มักจะเวียนหัว หายใจไม่ค่อยออก อาศัยดูข่าวจากโทรทัศน์จะดีกว่า ดูทั้งเช้าและค่ำ ซึ่งก็ได้ความรู้และข่าวสารสาระ ที่คิดว่าทันสมัย และน่าเชื่อถือเหมือนกัน

ไม่เสียเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ผมก็ซื้อหนังสือพิมพิ์เข้าโรงเรียน และหาอ่านหนังสือที่เป็นพ๊อคเก็ตบุ๊ค ที่เล่มไม่หนามาก อ่านสามวันจบ หรือหนังสือที่ให้ข้อคิดทางด้านการบริหารและให้หลักการในการจัดการเรียนการสอน ที่ไม่สลับซับซ้อนและสามารถนำมาประยุกต์ได้จริงในโรงเรียนขนาดเล็ก

อ่านแล้ว ประมวลเป็นองค์ความรุ้ แล้วจึงจัดการความรู้นั้นๆ เป็นภาคปฏิบัติ โดยนำไปใช้ในห้องเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทำจริง โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ในการค้นคว้า บอกเล่าและอภิปราย ถึงสิ่งที่เขาได้รับและปรับไปใช้ แก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น จนกลายเป็นทักษะที่ถูกต้องติดตัวนักเรียนไป

หนังสือพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน..ผมอ่านบทความที่นักวิชาการเขียนไว้ เขาบอกว่ามีประโยชน์ยิ่งนัก ถ้าได้นำไปเป็นสิ่อ/เครื่องมือ  เพื่อการเรียนรู้.....

พอครูผู้สอนไม่อยู่ ไปประชุมอบรมสัมมนา ไปส่งงานที่เขตพื้นที่การศึกษา จำได้ว่า ตั้งแต่เปิดเทอมก็สามครั้งแล้ว ผมจึงไปหยิบหนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่วางซ้อนทับกันอยู่ ให้นักเรียน ป.๖ ทำงานกลุ่ม ช่วยกันค้นคว้า หาข่าว..

งานชิ้นที่หนึ่ง...(วันแรกที่ครูไม่อยู่) ให้นักเรียนหาบทความที่ค่อนข้างยาวสักหน่อย ครูอนุญาตให้ตัดได้ จากนั้นให้ศึกษาดูว่า เป็นข่าวประเภทไหน แล้วสรุปบทความตามประเด็นต่อไปนี้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน ผลเป็นอย่างไร เขียนลงสมุด แล้วส่งตัวแทนออกมารายงาน

ผมสังเกต และประเมินการอ่าน..จากสื่อที่นักเรียนไม่ค่อยได้อ่าน(เพราะเราไม่ได้บังคับ) นักเรียนอ่านได้ก็จริง แต่ยังอ่านไม่คล่อง และพบว่าการสรุปความยังต้องปรับปรุง

งานชิ้นที่สอง..(วันที่สอง ที่ครูไม่อยู่ จริงๆอยากแก้ไขเรื่องการสรุปความก่อน แต่ด้วยความที่ผมอยากทดลองเรื่องอื่น จึงต้องไปต่อ...) ให้นักเรียนค้นหาบทความที่น่าสนใจ แล้วค้นหาคำควบ และคำกล้ำ รวมเรียนว่าคำควบกล้ำ ๑๐ คำ และคำที่นักเรียนสนใจเป็นพิเศษอีก ๑๐ คำ (คำยาก) เสร็จแล้วให้นักเรียนรายงานและส่งงานให้ผม

ผมประเมินจากรายงาน..พบว่ายังมีนักเรียนหลายคน ที่ยังเข้าใจผิด คิดว่าคำที่มี ส นำ ว เป็นคำควบ และ คำที่มี ห นำ ล   ต นำ ล  เป็นคำกล้ำ  ผลการเรียนรู้จึงเป็นที่น่าพอใจแค่ร้อยละ ๖๐ เท่านั้น ส่วนคำยากในหนังสือพิมพ์ ที่นักเรียนฝึกอ่านก่อนแล้วรายงาน นักเรียนอ่านได้คล่องดีมาก

งานชิ้นที่สาม ทำเหมือนงานชิ้นที่สอง เพื่อทบทวน แก้ไข ปรับปรุง เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น จากการหาบทความชิ้นใหม่ ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันหาคำควบกล้ำกลุ่มละ ๑๐ คำ ส่วนคำที่นักเรียนสนใจ ๑๐ คำ ให้คัดลอกเป็นวลี หรือประโยคยาวๆ เพื่อจะได้ฝึกอ่านได้มากขึ้น

การสังเกตและประเมินผลครั้งนี้ นักเรียนมีความเข้าใจคำควบกล้ำดีขึ้นถึงร้อยละ ๙๐  ส่วนการอ่านข้อความรวม ๑๐ ข้อความ ที่มีคำสำคัญที่นักเรียนสนใจนั้น เป็นการสอนให้นักเรียนเชื่อมโยงไปสู่การแต่งประโยคยาวๆ และการสรุปความ ว่าบทความดังกล่าว มีสาระสำคัญ หรือมีความคิดรวบยอดอย่างไร

นับว่า หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อการสอนที่ดียิ่งนัก ดังนั้น ครูผู้สอนไม่อยู่ ผอ.อย่างผม ดูหนังสือพิมพ์กับเขาบ้าง ก็ถือว่าคุ้มค่าจริงๆ ครับ

 

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒ สิงหาคม ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 573699เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เด็กๆๆต้องชอบแน่ๆเลยครับ

ได้เรียนภาษาไทย

จากหนังสือพิมพ์ด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

อยากจะมอบ   แหนบทองคำ ฝังเพชร ให้ผอ.คนเก่งและขยันจริงๆๆๆๆ

I like your way of teaching using available resources or media.

But I have at times wondered if there should be a 'language critic' to ensure proper use of Thai language in newspapers. (Reading just headlines today, I could question a dozen of them and would say that half a dozen headlines are quite bad. 

I am not a Thai language teacher!)

หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อการสอนที่ดีมาก สำหรับครูสอนภาษาไทย รวมทั้งสอนศิลปะด้วย  เพราะหนังสือพิมพ์ เก่า ๆ เอามาให้นักเรียนทำงานศิลปะได้หลายอย่างจ้ะ

ไม่อ่านหนังสือพิมพ์..สิบปี..ช่วยชีวิต..ต้นไม้ได้..หลายสิบต้น..ถ้าทำได้ตั้งแต่เด็ก...ๆ...ก็จะไม่เป็นโรค..ยิ่งเรียนยิ่งโง่..ยิ่งโตยิ่งเซ่อ..และช่วยพ่อแม่..ไม่ให้เป็นโรค..เลี้ยงเสีย..ข้าวสุข..๕๕..อิอิ

(อาจารย์สบายดีนะคะ...มาเย้าเล่น..ห้ามโกธร..ทำลายสุขภาพตน..อ้ะ)...

มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมาจ่ายแจก..เด็กๆด้วย...จาก ยายธี

เป็นกลยุทธที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ ขอชื่นชม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท