บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 3: วัดผลการเรียนรู้ด้วยอะไร?


บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 3: วัดผลการเรียนรู้ด้วยอะไร?
(บันทึกนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบ PBL, CBL ตั้งแต่ตั้งต้นชีวิตของการเป็นอาจารย์ หวังผลในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการประจุมพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TU's GOALS 2020)

Knows (Knowledge) => Knows How (Competence) => Shows How (Performance) => Does (Action)

การเรียนการสอนแบบใหม่ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่จะแก้ปัญหา ไม่ใช่เรียนเพียงแค่จำไปตอบข้อสอบ 
แน่นอน...การวัดว่า นักศึกษา "รู้" (Know) กับ "มีสมรรถนะ" (Know How) พวกครูมีเทคนิกอันหลากหลายอยู่แล้วในการสร้างข้อสอบกระดาษ นักศึกษาที่ทำได้คะแนนมาก ก็พอจะบอกเอาได้ว่า มีความรู้ หรือมีสมรรถนะสูง 

อย่างไรก็ตามถ้าเราตั้งเป้าหมายของการเรียนรู้ให้สูงถึง ระดับ Shows How และ Does การวัดผลย่อมต้องต่างออกไป ในกลุ่มคณะที่เป็นวิชาชีพ ความสามารถ Show How และ Does นั้นสามารถสังเกต ตรวจสอบได้จากงานที่นักศึกษาทำ ในคณะทันตแพทย์ เราสังเกตได้จากผลการให้บริการทันตกรรมของนักศึกษา กล่าวคือ ให้บริการแก้ปัญหาให้ผู้รับบริการได้ อย่างน่าพึงพอใจ ไม่มีผลแทรกซ้อน ตามเวลาที่กำหนด กล่าวง่าย ๆ ว่า จบคณะทันตแพทย์ ก็ต้องทำฟันได้

สำหรับในวิชาที่ไม่มีปฏิบัติการทางคลินิก การวัด Show How และ Does นั้นก็ทำได้เช่นกัน
มีคำที่เกี่ยวข้องกับการวัดเหล่านี้ เช่น Comprehension, Application, Analysis, Synthesis, Evaluation สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการที่ต้องใช้สมองเชื่อมโยงความรู้ในระดับ Knowledge กับสิ่งอื่น ๆ ทั้งสิ้น คือจำได้ และเข้าใจก็ยังไม่พอ ต้องคิดต่อด้วย คิดประยุกต์ใช้ คิดวิเคราะห์ คิดประเมิน คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 

วิชาที่ผมรับผิดชอบอยู่ประเมินนักศึกษาด้วยผลงานชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า Quest หรือการสำรวจสืบค้น นักศึกษาทำการเลือกหัวข้อที่จะสำรวจสืบค้น เช่น ความดีคืออะไร การศึกษาคืออะไร เสรีภาพคืออะไร ธรรมศาสตร์คืออะไร จากนั้น จับกลุ่มประมาณ 5-8 คน เพื่อค้นคว้า อ่าน ดู พบปะ อภิปราย สัมภาษณ์ ฯลฯ ผลสุดท้ายเราต้องการรายงานหนึ่งฉบับ และการนำเสนอหน้าห้องเรียน
(ตัวอย่างการนำเสนอ http://youtu.be/EQBwDNGLvhg)

ได้กำหนดให้มีการนำเสนอหน้าห้องเรียนสองครั้งต่อกลุ่ม ครั้งแรก เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งภาคการศึกษา เรียกว่า การนำเสนอครึ่งทาง ในการนำเสนอนี้ ครูสามารถติดตาม "วิธีการคิด" ของนักศึกษาได้ว่า เขาแสวงหาแหล่งข้อมูลอย่างไร ประมวล แยกแยะมันอย่างไร นำมาสร้าง Argument อย่างไร และสามารถให้คำแนะนำ หรือทิศทางในการสำรวจสืบค้นต่อไปได้ คำแนะนำในการนำเสนอครึ่งทางจึงไม่ใช่ "ที่เธอทำมามันถูก หรือผิด" แต่เป็น "ลองไปทางนี้ต่อ ลองอ่านเล่มนั้นดู จะเห็นประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น" เป็นต้น กระบวนการนี้ทำให้เราติดตามสิ่งที่นักศึกษาคิด จากต้นจนจบ อีกทั้งมีจังหวะในการให้คำแนะนำในการค้น และคิด เมื่อผ่านมาได้ครึ่งทาง

ในกรณีนี้อาจารย์ประเมินการเรียนรู้ด้วยการดูหลักฐาน ร่องรอยของการ วิเคราะห์ จัดลำดับ ให้คุณค่า เชื่อมโยง ประเมิน จากเอกสารรายงานและการนำเสนอ

ในวิชาฝึกปฏิบัติงานภาคสนามของพวกเรานั้น มีคำที่แสดงทักษะเพิ่มขึ้นมาอีกสามคำ เป็นสามคำที่กำหนดทักษะของนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoters) ซึ่งได้แก่ การชี้นำ (Advocate) การเสริมพลัง (Enable) และการเชื่อมประสาน (Mediate) 

การฝึกภาคสนามทันตกรรมชุมชน จึงเป็นการฝึกทักษะ Advocate คือ การใช้ข้อมูลทางวิชาการ เพื่อชี้ให้ชุมชนเห็นว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพ และศักยภาพของชุมชนต่อสถานการณ์นั้นคืออะไร (มีทักษะย่อย ๆ ในนี้อีกมากมาย เช่น ทักษะการสำรวจโรค ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการสื่อสาร) ฝึกทักษะ Enable คือการเสริมพลังให้กับชุมชน นักศึกษาอาจทำหน้าที่เป็นผู้ค้นหาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา ติดต่อผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา หรือกระทั่งเป็นผู้ให้ความรู้กับชุมชนเสียเอง ส่วนสุดท้ายคือ Mediate ซึ่งเป็นทักษะการเชื่อมประสานผลประโยชน์ ของกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในชุมชน รวมถึงการเห็นความเชื่อมโยงและความซับซ้อนของประเด็นปัญหา เช่น การเวทีการหาทางออกร่วมกัน ระหว่างครู ผู้นำนักเรียน หมอ และแม่ค้า เพื่อจัดการเรื่องนักเรียนบริโภคน้ำตาลเกินขีดความปลอดภัย เป็นต้น

ด้วยการฝึก และการให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะทั้งสาม นอกจากเราวัดผลการเรียนรู้ด้วยวิธีสังเกต การที่นักศึกษาทำกิจกรรมกับชุมชนด้วยทักษะทั้งสามแล้ว ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณสุข ของเทศบาล ของโรงเรียน การสร้างสิ่งแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาพ หรือกระทั่งการเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง มาเป็นพฤติกรรมสุขภาพ 

รางวัลอันยิ่งใหญ่ของครูคือการที่นักศึกษาได้มาบอกว่า เมื่อผ่านคอร์สเหล่านี้แล้ว ฉันเติบโตขึ้น เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับสิ่งอื่นรอบ ๆ ตัว

(ลำดับขั้นความซับซ้อนของการคิด กิจกรรมที่นักศึกษาแสดงออก และการวัดผล
อาจอ่านได้จากลิงค์นี้
http://www.uwec.edu/CETL/resources/BloomsTaxonomy....
)

หมายเลขบันทึก: 573575เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2014 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2014 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท