บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 2: เครื่องมือไม่ใช่ผลลัพธ์


บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 2: เครื่องมือไม่ใช่ผลลัพธ์

(บันทึกนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบ PBL, CBL ตั้งแต่ตั้งต้นชีวิตของการเป็นอาจารย์ หวังผลในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการประจุมพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TU's GOALS 2020)

ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นกระบวนการเรียนรู้นำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในโลกจริง มากกว่าแค่จำไปตอบข้อสอบเท่านั้น ในการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เรามักจะพบ "พิธีกรรม" หรือกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน ที่แตกต่างไปจากการบรรยายในห้องเรียน ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการอภิปรายกลุ่มย่อย การใช้สถานการณ์ศึกษา เป็นจุดตั้งต้นของการเรียนรู้ การสรุปผลการอภิปรายด้วย MindMap การใช้กระดาษ Post-it เพื่อระดมสมอง หรือกระทั่งการ "ลง" ไปทำกิจกรรมกับชุมชน ฯลฯ

ประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าการประชุมกลุ่มย่อย การใช้สถานการณ์ศึกษา การใช้ MindMap การใช้กระดาษ Post-it ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น "เครื่องมือ" ประกอบการเรียนการสอน ไม่ใช่ผลลัพธ์ 

แน่นอนว่า การมีเครื่องมือที่ดี สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น แต่การใช้เครื่องมือเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการใช้เครื่องมือเป็นหนทางในการบรรลุเป้าหมาย เปรียบได้กับการมีค้อน มีตะปู มีเลื่อย เอาไว้สร้างบ้าน ผลลัพธ์ของการใช้เครื่องมือต้องดูที่ความสมบูรณ์ของบ้านที่สร้าง มิใช่แค่ดูว่ามีการหยิบค้อนตะปูมาใช้ก็พอใจแล้ว บางทีมือเปล่า ก้อนดิน ก้อนหิน ก็สร้างบ้านได้เหมือนกัน แต่ยากหน่อย และอาจจะใช้เวลามากหน่อย 

ผลลัพธ์ที่เราต้องการคืออะไร

1) เราต้องการให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐานในการสืบค้น การอ่าน การฟัง การคิด การสนทนากับเพื่อนมนุษย์อยู่ในระดับที่จะใช้เสาะหา ประเมินและให้คุณค่ากับองค์ความรู้ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว

2) เราต้องการจัดประสบการณ์ให้นักศึกษาใช้ทักษะในข้อ 1) สร้างความรู้ของตนเอง หรือของกลุ่ม เชื่อมโยงความรู้นั้น มาสู่การแก้ปัญหาในชีวิตจริง

3) เราต้องการให้นักศึกษาสื่อสารสิ่งที่ได้จากข้อ 2) ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานเขียน หรือสื่ออื่น  

การประชุมกลุ่มย่อย จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะการสร้างความรู้ของมนุษย์รูปแบบหนึ่ง มาจากการอภิปรายถกเถียง แลกเปลี่ยน และตรวจสอบความรู้กับมนุษย์คนอื่น ๆ

MindMap จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะสามารถรวบรวมความคิดของคนกลุ่มใหญ่ให้อยู่ในหมู่ กลุ่มเดียวกัน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ได้

Post-it จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะสามารถย้าย จัดลำดับ ความคิดใหม่ได้สะดวกรวดเร็ว

กิจกรรมในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง โลกจริง ทั้งด้านศักยภาพ และด้านปัญหา

กระนั้นก็ตาม แม้จะไม่มีการประชุมกลุ่มย่อย ไม่มีกระดาน ไม่มีสีสำหรับจะเขียน MindMap ไม่มีงบประมาณสำหรับซื้อกระดาษ Post-it ไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมในชุมชน ครูที่มีความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ อาจใช้การบรรยาย การทำรายงาน การนำเสนอหน้าห้อง ซึ่งเป็นเครื่องมือเดิม ๆ ในบริบทใหม่ เราก็เห็นกันอยู่ทั่วไปว่า บรรยายดี ๆ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีได้ การให้หัวข้อรายงานที่ดี มีกระบวนการมีเวลากิจกรรมการให้ความเห็นป้อนกลับ ก็สร้างทักษะแห่งความเป็นบัณฑิตให้กับนักศึกษาได้

สิ่งที่ต้องระวังให้มากที่สุด จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการทำความเข้าใจในเครื่องมือที่จะใช้ และต้องไม่หลงคิดว่า แค่ใช้เครื่องมือ เท่ากับเกิดผลลัพธ์แล้ว

หมายเลขบันทึก: 573551เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท