ภาษาและวัฒนธรรมทมิฬ บางอย่างที่น่าสนใจในมาเลเซีย


ภาษาและวัฒนธรรมทมิฬบางอย่างที่น่าสนใจในมาเลเซีย

โดย ดร. วรเดช มีแสงรุทรกุล 

(เขียน 30 มิถุนายน ค.ศ. 2014 เป็นส่วนหนึ่งของ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ CD รวมบทความทางวิชาการเรื่อง มุมมองจากจารึกและเอกสารโบราณ ไฟล์ผลงานของศิษย์เก่า เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ ร.ศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม ของภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2014)

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า มาเลเซียมาจากคำว่า มลายา มาจากภาษาทมิฬ ซึ่งหมายถึงแผนดินมาเลเซีย โดยถ้าเปรียบเทียบกับการอธิบายศัพท์ตามไวยากรณ์ภาษาทมิฬ ก็อธิบายได้ว่า மலைแปลว่าภูเขา,เนินเขา ส่วนคำว่า ยา หรือ ยู (จากคำว่า มลายู) น่าจะมาจากคำว่า อูรฺ ஊர்ในภาษาทมิฬที่แปลว่า ชนบท หมู่บ้าน ชุมชน และการอาศัย ดังนั้น เมื่อคำว่า มะไล ต้องสนธิกับคำว่า อูร ดังนั้น มะไล กลายเป็น มลาย + อูร กลายเป็น มลายูร โดยในภาษาทมิฬ รฺ ท้ายคำเป็นวิภัตติให้เป็นคำนาม นปุงสกลิงค์ (ไม่ใช่เพศชายหรือหญิง) หรือพหุพจน์แสดงการยกย่อง จะใส่ไม่ใส่ก็ได้ และสุดท้ายจึงกลายเป็นคำว่า มลายู จึงหมายถึง เมืองหรือชุมชนที่เนินเขา (Aciriyar Kulam. 2008: 188)

และเมื่อนำคำวิภัตติภาษาอังกฤษที่รับมาจากภาษา ละติน หรือ กรีก คือคำว่า เซีย -sia มาบวกเข้าด้วยกัน ในภาษาทมิฬ อุ หรือ อู ที่สุดคำถือเป็นเสียงอ่อนให้ตัดทิ้งได้ จึงกลายเป็น มาเลเซีย Malaysia จึงหมายถึงดินแดนของชาวมาเลเซีย

แม้ว่าจะมีภาษาฮินดีและชาวอินเดียกลุ่มอื่นๆที่ค้าขายในมาเลเซีย แต่ชุมชนชาวทมิฬเป็นชุมชนโบราณของมาเลเซียที่ถือว่าเข้ามาในยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์คือ สมัยของศรีวิชัยและลังกาสุกะ โดยชาวทมิฬแต่ครั้งสมัยโจฬะนั้นเป็นนักเดินเรือที่เก่งมากได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนต่างๆใน ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคำว่าเรือในพจนานุกรม มาเลเซียเองก็คือคำว่า กาปัล กล่าวว่าได้เป็นคำยืมมาจากภาษาทมิฬ นั้นก็คือคำว่า กับปัล (Wilkinson, R. J. , 1908 : 95) ไทยใช้ว่า เรือกำปั่น สำหรับเรียกเรือเดินสมุทรของฝรั่ง

เพราะว่าชุมชนชาวทมิฬเข็มแข็งในทางวัฒนธรรมอินเดียใต้ที่โดดเด่นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เพลงกัรนาฏิก (เพลงร่วมสมัยของอินเดียใต้) ภารตนาฏยัม ไปจนถึงการเทศบูชา พระมุรุคา หรือพระขันธกุมารของอินเดียใต้ในช่วงเดือนไตมาสัมซึ่งเดือนไตมาสัมคือช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี เรียกว่าเทศกาล ไตปูซัม தைபூசம் โดยที่เทศกาลนี้ชาวทมิฬในมาเลเซียจะจัดขึ้นที่ถ้ำบาตูที่อยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงกลางเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจันทรคติของอินเดียใต้ ซึ่งเทศกาลและวัฒนธรรมที่งดงามของชาวทมิฬในมาเลเซียนี้เป็น สิ่งที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศมาเลเซียอย่างมาก

นอกจากวัด บาตูมาไล ศรี มุรุคา เปรุมาล โกวิลเทวสถาน ของถ้ำบาตู แล้วในบริเวณหน้าถ้ำบาตูก็มีเทวสถานของชาวฮินดูมากมายที่น่าสนใจคือ รามายณ เคฟ (Ramayana cave) หรือถ้ำพระรามของชาวทมิฬในมาเลเซียที่สะท้อนความคิดเกี่ยวกับเรื่องราววีรกรรมของพระรามในสายต่อของชาวทมิฬในมาเลเซีย นั้นจะเข้มข้นหรือแตกต่างจากฉบับ “หิกายัต เสรีราม” ที่เป็นรามายณะฉบับท้องถิ่นของชาวมาเลเซียเช่นไร

ถ้ำรามายณะ( Batu cave )

ถ้ำรามายณะในบริเวณใกล้ถ้ำบาตู ( Batu cave ) มีชื่อว่า รามายณะ เคฟ (Ramayana cave) ถือว่าอยู่ในพื้นที่ของ ศรีมหามารีอัมมัน เทวสถานัม (Sri Mahamariamman temple Devasthanam)เมืองกัวลาลัมเปอร์

ถ้ำพระรามในบริเวณใกล้ถ้ำบาตู ( Batu cave ) มีมานานแล้ว แต่ได้มีการตกแต่งทางเดินเพื่อขึ้นไปบูชา พระ ศรี อมรนาถัร สยัมภู ศิวลิงคัม ซึ่งเป็น สยัมภูศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และได้เปิดให้ชมอย่างเป็นทางการ วันที่ 6 เดือน ธันวาคม ปี ค.ศ. 2013 โดยผู้มาทำพิธีเปิดคือ ตาน ศรี ฑัตโต อาร์ นาฏราชา ( Tan Sri Dato R. Nadarajah) ผู้ซึ่งเป็นนายทุนในการสำรวจและก่อสร้างถ้ำดั้งกล่าวให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น



จากการเดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง

ผลการสำรวจพบว่า รามายณะที่ปรากฏเป็นรูปปั้นในถ้ำบาตู นั้นเป็นรามายณะสำนวนใหม่สุดของชาวทมิฬในมาเลเซีย โดยได้รับอิทธิพลจากรามายณะ ฉบับกัมพัน ฉบับวาลมิกิ และตำนานพื้นบ้านของเมืองราเมศวรัม ในรัฐทมิฬนาฑู

โดยเนื้อเรื่องเป็นตอนสำคัญที่น่าสนใจคือ

  • 1.ตอนต้นเรื่อง พระคเณศ และฤาษีวาลมิกิ
  • 2.กวนข้าวทิพย์กำเนิดพระราม
  • 3.ฤาษีวิศวามิตรเชิญพระรามปราบนางกากนาสูร
  • 4.ปราบนางกากนาสูร
  • 5.พระรามโปรดนางอหลยา
  • 6.พระรามเสด็จมิถิลา สบตากับนางสีดา
  • 7.พระรามหักธนู และฤาษีปรศุราม
  • 8.นางสีดาสยุมพร
  • 9.นางไกยเกษี ถูกนางเฒ่ากุจจียุยง
  • 10.พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา เสด็จข้ามแม่น้ำไปสู่ป่าด้วย
  • 11.พระพรตเสด็จตามมาขอให้พระรามคืนนคร แต่ได้รองเท้าไปแทน
  • 12.นางสีดาเห็นกวางทอง
  • 13.ทศกัณฐ์ปลอมเป็นฤาษี มาลักนางสีดาไป
  • 14.สดายุต่อสู้กับทศกัณฐ์
  • 15.พระรามปลงศพพญานกสดายุ
  • 16.หนุมานถวายแหวน
  • 17.จองถนน หรือ รามเสตุ
  • 18.องคตสื่อสาร
  • 19.ปลุกกุมภกรรณ ด้วยช้าง ด้วยกลอง ฯลฯ
  • 20.รบกับทศกัณฐ์
  • 21.พระรามบูชาพระศิวลึงค์ (ตำนานเมืองราเมศวรัม มีอยู่ในฉบับเตลุกุ ของอันธรประเทศด้วย)
  • 22.อภิเษกพระรามครองเมือง (จบเหมือนฉบับกัมพันที่จบเพียงเท่านี้)
  • 23.หนุมานแสดงวิศวรูป “ปัญจมุขี”

แสดงว่ารามายณะฉบับทมิฬก็ยังได้รับสืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษชาวทมิฬในมาเลเซียที่อยู่ตั้งแต่ยุคแรกในประวัติศาสตร์ของแห่งอาณาจักรศรีวิชัย หรือลังกาสุกะ ถ้าแม้ฉบับภาษาถิ่นของชาวมาเลเซียจะมีความผิดแปลกไปจากฉบับของทมิฬและสันสกฤตอย่างไร แต่เรื่องรามายณะฉบับดังเดิมของชาวทมิฬก็ครองใจชาวทมิฬในมาเลเซียมากที่สุด

คำยืมภาษาทมิฬในภาษามาเลเซีย (บาหาซา มาเลเซีย Bahasa malaysia)

อิทธิพลของวัฒนธรรมของไทยในทมิฬนั้นได้รับการศึกษาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีตรียัมปาวาย ตรีปาวาย ที่เป็นพระราชพิธีของกษัตริย์มีความสำคัญแต่โบราณและปัจจุบันก็ยังอนุรักษ์ไว้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นพิธีของคนทั้งแผ่นดินเหมือนในสมัยโบราณ แต่ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์มีความสำคัญในฐานะเป็นหนึ่งในพระราชพิธี 12 เดือนอยู่นั้นเอง แต่สำหรับคนทมิฬในมาเลเซียหรือในอินเดียใต้นั้นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ของเขามีความสัมพันธ์กับชุมชุน กลายเป็นประเพณีพื้นบ้านที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่นมากกว่า ถ้าในอินเดียใต้พวกนักการเมืองชาวฮินดูมีอำนาจมาก พิธีกรรมเหล่านี้ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นให้จัดงานฉลองในเทศกาลสำคัญ ปีละครั้ง หรือสองปีครั้งบ้าง แต่สำหรับมาเลเซียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม พิธีกรรมของชาวฮินดูนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากนายทุนและนักการเมืองเสียงข้างน้อยในอินเดีย ซึ่งดูเหมือนจะมีความสำคัญอยู่แต่ภายในชุมชนเท่านั้น ส่วนการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่สำคัญของมาเลเซียก็เป็นเรื่องของการวางแผนการจัดการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ดีมากกว่า

เพราะชาวทมิฬในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองชั้นสองของมาเลเซียที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาวพื้นเมืองมาเลเซีย จีน ฝรั่ง แขกอิสลาม แขกซิกข์ และแขกทมิฬ เป็นต้น โดยที่คนทมิฬดูเหมือนจะได้รับการดูแลและสวัสดิการจากรัฐบาลมาเลเซียน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ

แต่เนื่องจากวัฒนธรรมทมิฬนั้นโดดเด่นและอยู่คู่กับมาเลเซียช้านานจึงทำให้คำมาเลเซียมีคำยืมที่จากภาษาทมิฬจำนวนมากเป็นร้อยครับที่อ้างถึงในพจนานุกรม An abridged Malaysia-English dictionary ของ Wilkinson, R. J. ที่จัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1908. แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าบางคำน่าจะเป็นคำที่มาเลเซียยืมมาจากสันสกฤตมากกว่า เมื่อข้าพเจ้าศึกษาจากพจนานุกรมภาษามาเลเซียที่ใช้ในปัจจุบันคือ Kamus Kembangan ของ Anwar Ridhwan and Lai Choy แล้วพบว่าคำที่มาเลเซียอาจจะยืมมาจากภาษาทมิฬ ซึ่งอาจจะเป็นภาษาทมิฬแท้ๆ หรือคำที่ภาษาทมิฬยืมมาใช้ก่อน แล้วมาเลเซียจึงยืมไปใช้ต่อ โดยการสังเกตจากระบบไวยากรณ์ของภาษาทมิฬ เช่นรูปของวิภัตติปัจจัยนั้น ก็มีอยู่บ้าง ดังเช่นที่ปรากฏในตารางแสดงความสัมพันธ์คำยืมภาษาทมิฬในภาษามาเลเซียนั้น ซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจว่าน่าจะมาจากภาษาทมิฬมี 34 คำดังต่อไปนี้

ถ่อยคำเหล่านี้เป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรมภาษามาเลเซียเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีภาษาทมิฬก็เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้พูดในมาเลเซีย มีคนทมิฬในมาเลเซียจึงไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องรู้เฉพาะถ่อยคำเหล่านี้ และก็ยังมีคำยืมที่ทมิฬยืมผ่านภาษอื่นๆ ก่อนที่จะส่งผ่านสู่ภาษามาเลเซียอีกมากที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการจะศึกษาภาษาทมิฬในมาเลเซียให้ลึกซึ้งทั้งภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน แลภาษาโบราณของชาวทมิฬ

คำไทยที่ยืมมาจากภาษามาเลเซีย

คำไทยบางคำที่ใช้อยู่ก็อาจจะเป็นคำยืมที่มีอยู่ในหลายวัฒนธรรม โดยมากเราก็คิดว่าเรายืมจากแขกทมิฬแต่คำหลายคำเช่นคำว่า กุลี कुलीคนส่งของ, ชีรา जीराยี่หร่า, สาบุน साबुनสบู่, อะจาร अचारแตงดอง

แต่ความจริงคำเหล่านี้ในพจนานุกรมภาษาทมิฬ (Aciriyar Kulam. 2008: 354-355)นั้นมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากภาษาฮินดี ดังเช่น

คำว่า กุลิ குலி ในภาษาทมิฬแปลว่า พี่สาวคนโตของภรรยา

กุลาม แปลว่าகுலாம் ทาส

กุลาลัน குலாலன் แปลว่า ช่างปั้นหม้อ

กุลาลิ குலாலி แปลว่า สตรีที่อยู่กับงานปั้นหม้อ

กุลีนัน குலீனன்แปลว่า สมาชิกของชนชั้นสูง (aristocrat)

ยี่หร่า ภาษาทมิฬว่า จีระกัม หรือ ซีระกัม  சீரகம்แต่เดิมเขียนว่า ชีระกัม ஜீரகம் ตัว ช ช้างนี้ไม่ค่อยใช้ในภาษาทมิฬปัจจุบันนิยมใช้กับคำยืมภาษาต่างประเทศ ภาษาต่างแคว้นในภาษาทมิฬ

คำว่า อาจาด ในภาษาฮินดีใช้ว่า อะจาร แต่ทมิฬใช้ว่า โอรุกาย ஊறுகாய் อะจาร ในภาษาทมิฬเป็นคำยืมจากภาษาฮินดี และอะจาร นั้นแต่เดิมเป็นอาหารที่นิยมกินกับไก่สะเต๊ะของอิสลามด้วยเข้าไปมาเลย์กลายเป็น อาจาร นิยมกินกับไก่สะเต๊ะ (อายัม สะเต๊ะ) เหมือนกัน ไทยออกเสียงเป็น อาจาด นิยมกินกับ หมูสะเต๊ะ แทน (เพราะอิสลามกินหมูไม่ได้แต่คนไทย คนจีน กินได้) (Aciriyar Kulam. 2008: 189,462)

แสดงว่าคำว่า กุลี कुलीคนส่งของ, ชีรา जीराยี่หร่า, สาบุน साबुनสบู่, อะจาร अचारแตงดอง นั้นทมิฬเองก็ยืมมาจากภาษาฮินดีไม่ใช่ของทมิฬมาแต่เดิม

การที่นักวิชาการสมัยก่อนว่าไทยเรายืมมาจากภาษาทมิฬอาจจะเกิดจากการสับสนระหว่างคำยืมภาษาทมิฬ และฮินดี เพราะคนไทยเรารู้จักทมิฬมาก่อน หลักฐานจากคำยืมภาษาทมิฬในเรื่องรามเกียรติ์ และในวรรณกรรมโบราณต่างๆ เช่น กุเรปัน(รามาเกียรติ์) ฤาษีกไลโกฏิ (กัมพะรามายณะ) นางตันไต (นิทานนางตันไต) ตะไล (ขนม/บั้งไฟ) โจฬะ (ประวัติศาสตร์จารึก) ชาวทมิฬ (คัมภีร์มหาวงศ์) ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่ศึกษามาเฉพาะทางภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์แล้วก็อาจจะไม่รู้เลยว่าคำเหล่านี้มีที่มาจากภาษาทมิฬ แต่คำภาษาทมิฬในภาษาไทยก็ยังมีปริมาณน้อยกว่าศัพท์ที่พบในภาษามาเลเซีย ที่ปัจจุบันเขาก็ยังใช้อยู่เป็นอีกภาษาหนึ่งในประเทศมาเลเซียของเขา

เอกสารอ้างอิง

Aciriyar Kulam. 2008 .Tamil-Tamil-English ‘Akharathi’. Published by Sura books . Chennai.

Anwar Ridhwan and Lai Choy. 2010.Kamus Kembangan. Selangor: United publishing house.

Chidabaranatha Chettiar ,A. 1991. English-Tamil Dictionary. University of Madras, Chennai: University.

Daud Baharum. 2013. Kamus Dwibahasa Kontemporari. Selangor Darul Ehsan: Vivar Printing.

Mahalingam ,T.V. 1976.Mackenzie Manuscripts summaries of the Historical Manuscripts in the Mackenzie collection Volume II ‘ Telugu, Kannada and Marathi’. University of Madras. Chennai: University.

Murugan ,V. 2001.Tolkappiyam in English. Institute of Asian Studies.Chennai:Institute.

Nakkeerar, R. 2001. Tamil - Bengali – English Dictionary. Chennai:Bharathi Tamil Sangham.

Premanandakumar. 2001.Translation theory and Application ‘Translating modern English text into Tamil and from Tamil into English: an Approach’. Editor by Dr. M. Valarmathi, International institute of Tamil Studies. Chennai: institute of Tamil Studies.

Rama Santhiran ,K. 2002.Iniya Tamil Ilakkanam. Chennai: Kumaran Pathippakam.

Wilkinson, R. J. , 1908. An abridged Malaysia-English dictionary. Kulara lumpur: the F.M.S. government press. 

หมายเลขบันทึก: 572922เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท