จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

แต่งงานในอิสลาม ความเรียบง่ายแต่มีมนต์ขลัง


แต่งงาน เรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่
                เมื่อวานมีงานแต่งงานขึ้นที่วิทยาลัย ซึ่งเป็นการแต่งงานระหว่างศิตย์เก่าของวิทยาลัยกับชาวญี่ปุ่น เป็นพิธีการแต่งงานที่เรียบง่ายตามสไตล์ของมุสลิม ก็เลยถึงไปถึงงานแต่งของผู้เขียนเอง (เมื่อหลายปีก่อน เพราะตอนนี้กำลังจะได้ลูกคนที่สองแล้วครับ) ซึ่งเป็นเป็นงานที่เรียบง่ายเหมือนกัน ในขณะเดียวกันพอนึกไปถึงพิธีการแต่งงานของเพื่อนต่างศาสนิก เช่น พุทธ หรือคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีแต่งงานที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ แล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่ามันต่างกันจริงๆ กว่าจะได้แต่งงานกันได้พิธีการมันหลายขั้นตอน จนวัยรุ่นบางคนอาจจะรู้สึกว่ามันยาก จึงเลือกใช้ทางลัดเสียก็เยอะ                พอพูดถึงการแต่งงาน ก็อยากจะนำโองการอัลกุรอาน อายะห์หนึ่งเพื่อให้เห็นแนวทางที่สวยงามของการแต่งงานในอิสลาม ซึ่งปรากฏในซูเราะห์อัลอะห์รอฟ อายะห์ที่ 189 ที่ว่า                ความว่า พระองค์นั้นคือผู้ที่ได้ทรงบังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตเดียว (คือจากนบีอาดัม) และได้ทรงใหมีขึ้นจากชีวิตนั้น ซึ่งคู่ครอง(คือพระนางฮาวา)ของมัน เพื่อชีวิตนั้นจะได้มีความสุขกับนาง ครั้งเมื่อชีวิตนั้นได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง นางก็ตั้งครรภ์อ่านๆ แล้วนางก็ผ่านมันไป(คือผ่านไปโดยไม่รูสึกว่ามีความเดือดร้อนแต่ประการใด) ครั้นเมื่อนางอุ้มครรภ์หนัก (ท้องแก่) เขาทั้งสองก็วิงวอนของต่ออัลลอฮ์ผู้เป็นพระผู้อภิบาลของเขาทั้งสองว่า ถ้าหากพระองค์ประทานบุตรที่สมบูรณ์ให้แก่เราแล้ว แน่นอนเราก็จะอยู่ในหมู่ผู้ขอบคุณทั้งหลาย                ผู้เขียนทำความเข้าใจเบื้องต้นจากโองการข้างต้นได้ว่า การแต่งงานเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันของคนสอง ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้ และผลจากการแต่งงานจะนำมาซึ่งการสืบทายาท และเสริมสร้างความศรัทธา                พิธีแต่งงานในอิสลามไม่ยากครับ ขั้นตอนนี้แรกคือถ้าจะแต่งกันในพิธีต้องมี เจ้าบ่าว ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว (ส่วนเจ้าสาวอยู่ในห้องหอครับ รอรับเจ้าบ่าวเข้าไปหา) และอีก 2 คนที่มีความจำเป็นคือ พยานครับ พยานถ้าเป็นผู้ชายต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีจำนวนเป็นสองเท่าของผู้ชาย ส่วนขั้นตอนการทำการแต่งงาน ก็มีเพียงการกล่าวเสนอการแต่งงานจากผู้ปกครองฝ่ายหญิง และเจ้าบ่าวก็ตอบรับการแต่งงานดังกล่าว เงื่อนไขคือการกล่าวของผู้ปกครองฝ่ายหญิงกับการตอบรับของเจ้าบ่าวต้องต่อเนื่องกันเท่านั้นเอง                คำกล่าวของฝ่ายหญิง คือ ข้าพเจ้าแต่งงาน..........บุตรีของข้าพเจ้า กับท่านด้วยสินสอด.....บาท (ในกรณีที่เป็นเงินหรือหากเป็นอะไรอย่างอื่นก็ระบุตามข้อตกลงกัน) ส่วนเจ้าบ่าวก็ง่ายครับแค่ตอบว่า ข้าพเจ้ารับการแต่งงานกับนาง แค่นี้ก็เสร็จสิ้นแล้วครับ                หลังจากนั้นก็จะเป็นการให้โอวาสโดยผู้อาวุโสสำหรับเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตสำหรับคู่บ่าวสาว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการแต่งงานแล้วครับ เจ้าบ่าวก็เข้าไปพบกับเจ้าสาว และออกมารับแขกที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งศาสนาสนับสนุนให้มีการจัดงานเลี้ยงขึ้นในโอกาสนี้และครับ แต่ให้อยู่บนความพอดีครับ                ขอโทษครับ ผมลืมนำเสนอไปหนึ่งขึ้นตอนครับ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ในประเทศไทยกำหนดให้ต้องดำเนินการ เพื่อสงวนสิทธิให้กับเจ้าสาวในการขอหย่าหากผู้ชายไม่ได้ให้ความรักและการปกป้องดูแล นั่นคือให้เจ้าบ่าวกล่าวสัญญาผูกพันให้สิทธิแก่เจ้าสาวสามารถขอหย่าให้ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่ปฏิบัติในสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว หลายท่านที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการกล่าวสัญญาให้สิทธิกับฝ่ายหญิงในกรณีนี้ ทั้งนี้เนื่องจากในหลักกฏหมายอิสลามนั้น สิทธิการหย่าเป็นสิทธิของฝ่ายชายเท่านั้น (คงมีหลายท่านสงสัยต่ออีกแน่ว่า ทำไมสิทธิไม่เท่าเทียมกัน แต่ผู้เขียนขออนุญาตไม่พูดถึงเรื่องนี้ก่อนนะครับ เพราะมันยืดยาวเกินไป) ซึ่งเพื่อการเปิดช่องทางให้กับฝ่ายหญิงได้ปกป้องตนเองได้ซึ่งต้องมีการมอบสิทธิบางส่วนกลับไปยังฝ่ายหญิงด้วย                ที่นำเสนอข้างต้นเป็นพิธีในการแต่งงาน แต่ทั้งนี้ก่อนจะแต่งงานก็ต้องมีการดูตัวกัน สูขอ และหมั่นหมายกัน ซึ่งในอิสลามก็มีเหมือนกันครับ และก็มีแนวทางที่สวยงามมากทีเดียวครับ แต่คงต้องติดค้างไว้ในโอกาสต่อไป                สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้จากการแต่งงานในอิสลาม คือ สิทธิของผู้หญิงในการที่จะต้องได้รับการปกป้อง อิสลามให้ความสำคัญกับการปกป้องเพศหญิง และขณะเดียวกันก็ให้สิทธิสตรีที่มีความเท่าเทียมกับผู้ชายเช่นกัน ผู้เขียนใช้คำว่า เท่าเทียมนะครับ ไม่ใช่เหมือนกัน และผู้เขียนก็มีความคิดว่า ผู้ชายและหญิงมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธในเรื่องนี้ ดังนั้นสิทธิก็น่าจะต้องไม่เหมือนกันเช่นกัน ดังนั้นอิสลามจึงให้สิทธิที่เท่าเทียมกันเท่านั้น ไม่ใช่เหมือนกัน เพศชายมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงทุกคนต้องมีผู้ปกครอง โดยเริ่มจากบิดาของนาง พี่ชายหรือน้องชายของนาง อาหรือลุง ของนาง หรือญาติในฐานะที่สูงขึ้นไป และเมื่อนางได้แต่งงานแล้ว ผู้ปกครองของนางคือสามีของนาง แต่คำว่า ผู้ปกครองในระหว่างสามีและภรรยานั้นไม่ได้หมายถึงเจ้าชีวิต แต่หมายถึงคู่ชีวิต ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงประกาศไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ วรรค์ที่ 187                ความว่า พวกนางคืออาภรณ์สำหรับพวกท่าน และพวกท่านคืออาภรณ์สำหรับพวกนาง                และในซูเราะห์อันนิสาฮ์ อายะห์ที่ 34 ที่ว่าความว่า บรรดาชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนและด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขาบรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามี เนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงรักษาไว้ และบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนางและทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอน และจงเฆี่ยนนาง แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้วก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นางแท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงเกรียงไกร                โองการข้างต้นกำหนดหน้าที่ให้เพศชายทำหน้าที่ในการปกครองเลี้ยงดูเพศหญิง และเพศหญิงมีหน้าที่ในการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของสามีของนาง ท่านผู้อ่านอาจตกใจที่เห็นว่า มีการใช้ให้ผู้ชายเฆี่ยนผู้หญิงที่เป็นภรรยาได้ในอิสลาม ประเด็นนี้มีรายละเอียดครับ เพราะกว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องมีการดำเนินการในขั้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้เสียก่อน คือ การตักเตือน และการปล่อยให้นางนอนลำพังในบ้าน แต่ไม่ใช่ว่าผู้ชายไปนอนบ้านอื่นนะครับ นอนบ้านเดียวกันต่อไม่ร่วมในห้องเดียวกัน แนอกจากนี้อิสลามได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้ชายที่จะต้องปฏิบัติต่อเพศหญิง เพื่อเป็นการปกป้องเพศหญิงในทุกสถานภาพ                การแต่งงานเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมโดยหลักคำสอนของศาสนา ดังปรากฏในโองการของอัลลอฮ์ในซูเราะห์อันนูร  อายะห์ที่ 32 ที่ว่า                 ความว่า และจงให้พวกเจ้าแต่งงานกับผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้าและกับคนดีๆ จากปวงบ่าวผู้ชายของพวกเจ้าและบ่าวผู้หญิงของพวกเจ้า หากพวกเขายากจน อัลลอฮ์จะทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงไพบูลย์ ผู้ทรงรอบรู้                นอกจากนี้ทางศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล) ยังได้เน้นย้ำว่า การแต่งงานคือแบบอย่างของท่าน และการร่วมประเวณีกับบุคคลที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตนในอิสลามถือเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นภาระหนึ่งสำหรับผู้ปกครองที่จะต้องแสวงหาคู่ครองที่เหมาะสมให้กับผู้ใต้การปกครองที่เป็นผู้หญิง ผู้ปกครองจะต้องให้ความรอบครอบในเรื่องนี้ และจะเป็นต้องบุคคลสำคัญในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวร่วมกับบุตรีหรือผู้ใต้การปกครองของตน                มีผู้รู้ท่านหนึ่งได้อธิบายให้ผู้เขียนฟังถึงสาเหตุที่อิสลามไม่ยินยอมให้ผู้หญิงทำการแต่งงานด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ปกครองไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการทำซีนา (หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจทันกับสมัยนี้ก็น่าจะเรียกว่า เพศเสรี ) และเมื่อนั้นการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็คงไม่มีอะไรต่างจากการสืบเผ่าพันธุ์ของสัตว์เดรัชฉาน และถึงแม้ว่าการแต่งงานจะต้องกระทำโดยผู้ปกครอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายถึงว่า จะไม่ฟังความคิดเห็นจากผู้หญิงเลย อีกประการหนึ่งหากผู้หญิงมีความพอใจในชายใด ก็สามารถบอกความประสงค์ดังกล่าวแก่ผู้ปกครองของนางเพื่อดำเนินการได้ แต่หากผู้ปกครองของนางไม่เห็นฝ้องกับผู้ชายที่เข้ามาสู่ขอซึ่งเป็นบุคคลที่ดีแล้ว อิสลามก็ได้กำหนดทางออกเพื่อให้คนดีได้แต่งกับคนดีอยู่แล้ว รายละเอียดเรื่องนี้มีเยอะครับ ผู้สนใจคงต้องศึกษาค้นคว้าต่อนะครับ                ผู้เขียนเชื่อว่า วันที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจวันหนึ่งของผู้ที่เป็นบิดา คือ การได้เป็นผู้กล่าวคำแต่งงานบุตรสาวของตนให้กับชายที่ดีที่เหมาะสม แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและแนวความคิดเห็นวัยรุ่นในสมัย อาจทำให้คุณค่าของการแต่งงานเปลี่ยนไปด้วย วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน ซึ่งในจำนวนนั้นยังรวมไปถึงคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมด้วย กลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งงาน ใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เมื่อเธอและฉันใจตรงกัน นั่นหมายถึงเราจะทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน หรืออีกแนวทางหนึ่งที่คนยุคนี้ใช้กันอย่างกลาดเกลือนคือ การแต่งงานโดยแต่งตั้งผู้ปกครองขึ้นเอง อันนี้เป็นผลจากการที่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานของตนไปเรียนหรือไปทำงานอยู่ไกลตน จึงเป็นสิทธิที่บุตรหลานของตนสามารถแต่งตั้งให้มีผู้ปกครองที่ทำการแต่งงานแทนได้

                แนวทางแรกที่ยกมาข้างต้น คือการไม่ต้องแต่งงานแต่อยู่ด้วยกันได้นี้ แน่นอนขัดกับหลักการของศาสนาอย่างแน่นอน และหากกฏหมายอิสลามถูกบังคับใช้ กรณีนี้จะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน ส่วนแนวทางที่สอง เป็นแนวทางที่ขาดซึ่งการเดินทางไปยังเป้าหมายที่แท้จริงของการแต่งงานในอิสลาม แต่หากจะถามหาแนวทางของการแก้ไขปัญหา ก็คงต้องมากลับไปยังการสร้างความศรัทธาที่แท้จริงต่อพระเจ้า ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด และการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

หมายเลขบันทึก: 57275เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2006 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท