​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๔. ปฏิรูปการศึกษาฉบับทำทันที ประชาชนทำเอง


          เช้าวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมกิจกรรมประชุมภาคีปฏิรูปการศึกษา ที่ สสส. ที่สำนักข่าวอิศราลงข่าว ที่นี่ และ โพสต์ ทูเดย์ นำ “แถลงการณ์ความร่วมมือ ระหว่างนักการศึกษา / ภาคประชาสังคม / ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมหุ้นทุกภาคส่วนปฏิรูปการศึกษาไทย ฉบับทำทันที ประชาชนทำเอง” มาลงทุกตัวอักษร ที่ http://www.posttoday.com/สังคม/การศึกษา/300602/แถล... หรืออาจอ่านต้นฉบับได้ ที่นี่ และ นสพ. เดลี่นิวส์ ลงข่าวที่นี่

          ผมบอกตัวเองว่า เหตุการณ์รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด โกงกิน นำสู่ความขัดแย้งในสังคม และการปฏิวัติครั้งนี้ ประเทศไทยบอบช้ำมาก ไหนๆ ก็มีการปฏิวัติเพื่อกวาดล้างทำความสะอาดประเทศจากความโสมมทางการเมืองที่สุดจะโกงกิน อยู่แล้ว เราควรทำความสะอาดประเทศทางการศึกษาเสียด้วย เพราะระบอบทักษิณได้เข้ามาสร้างความโสมมให้แก่วงการศึกษาไม่น้อยกว่าวงการอื่นๆ

          ในวันนั้น คนในวงการศึกษาเองไปเล่าให้ที่ประชุมรับทราบว่า นักการเมืองร่วมกับผู้บริหารระดับสูง มีวิธีจัดสรรเงินเพื่อการใช้จ่ายของนักการเมืองอย่างไร เงินงบประมาณด้านการศึกษาถูกใช้ไปในทางที่ไม่เกิดผล ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร

          นอกจากข้อเสนอตามที่ปรากฎในข่าวแล้ว ผมมีความเห็นว่า ต้องดำเนินการทุกอย่างโดยคำนึงถึงการ พัฒนารอยสัมผัสระหว่างครูกับศิษย์ ให้ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งของศิษย์และของครู เป้าหมายของทุกมาตรการ ต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาจุดนี้

          ในระยะสั้น คสช. ควรใช้อำนาจ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่เด็กนักเรียน พ่อแม่ของเด็ก และแก่ครูดี และเพื่อตัดตอนคอรัปชั่น หรือการรั่วไหล ที่ยังแฝงตัวอยู่ โดยการสั่งการโยกงบประมาณพัฒนาครู ซึ่งมีอยู่ปีละ เป็นหมื่นล้าน เอามาให้สภาปฏิรูปการศึกษาที่เสนอให้ตั้งขึ้น ใช้ในการพัฒนาครูในรูปแบบใหม่ คือพัฒนา ณ จุดทำงาน ณ รอยสัมผัสกับศิษย์

          เดิมงบประมาณพัฒนาครูนั้น เป็นงบประมาณที่รั่วไหลมากมาย ผมเคยไปรับรู้โครงการที่เห็นชัดๆ ว่าคอรัปชั่น และจะเอาชื่อผมไปฟอกบริสุทธิ์ด้วย แต่ผมรู้ทันและบอกให้เอาชื่อผมออกจากที่ปรึกษาโครงการ แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือเป็นการใช้เงินแบบมิจฉาทิฏฐิ คือเน้นนำครูออกมารับการอบรม ครูต้องทิ้งศิษย์มารับ การอบรม ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าได้ผลน้อยมาก วิธีที่ได้ผลต้องเน้นที่การเรียนรู้ของครู จากประสบการณ์สังเกต และเก็บข้อมูลจากชั้นเรียน คือครูเรียนจากลูกศิษย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศฟินแลนด์ใช้อยู่ และได้ผลทำให้คุณภาพการศึกษาของเขาอยู่ในกลุ่มดีที่สุดในโลก

          งบประมาณพัฒนาครู ปีละประมาณ ๑ หมื่นล้านบาทภายใต้การจัดการแบบใหม่ พัฒนาครูแบบสัมมาทิฏฐิ จะก่อผลดีที่เห็นผลเร็ว แบบของยุทธศาสตร์การจัดการการเปลี่ยนแปลง ที่ pick the low-hanging fruits ก่อน คือทำสิ่งที่เห็นผลเร็วก่อน

          ในการประชุมกลุ่มเล็กตอนบ่าย ผมมีเวลาอยู่ประชุมสั้นๆ ได้รับรู้ท่าทีของ คสช. ในเรื่องการศึกษา และได้เสนอความเห็น ๒ อย่างที่กล่าวแล้ว คือ (๑) การดำเนินการทุกเรื่องต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่การพัฒนากิจกรรม ตรงรอยต่อระหว่างครูกับศิษย์ (๒) ต้องเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาครูประจำการเสียใหม่ ให้เน้นที่การเรียนรู้จาก การปฏิบัติหน้าที่ของครูเอง และผมได้เอ่ยข้อ (๓) ด้วย ว่าต้องคุยกับคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ หาทางเปลี่ยน วิธีการผลิตครู ให้ครูรุ่นใหม่มีทักษะในห้องเรียน ตามแนวทางการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ศึ่งเราเรียนรู้จาก ประเทศฟินแลนด์ได้

          คือหากเรายังผลิตครูตามรูปแบบเดิมๆ ก็จะปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ เพราะครูที่ผลิตในปัจจุบัน ไม่มี classroom skills ที่ต้องการ มีแต่ความรู้ทฤษฎี แต่เอามาปฏิบัติไม่ได้

          ที่น่ายินดี เป็นข่าวจากสถานีวิทยุ เอฟ เอ็ม ๑๐๐.๕ เช้าวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ เล่าผลการสอบถาม ความเห็นของประชาชนไทย ว่าเรื่องใดสำคัญที่สุดต่ออนาคตของชาติ ได้คำตอบว่า คือเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยที่เรื่องเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ ๓ ความเห็นนี้น่าจะกระตุ้น คสช. ให้หันมาให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูป การศึกษา

          ที่สำคัญคือ เป็นโอกาสที่นอกจากกวาดล้างความสกปรกของสังคมแล้ว เราอยู่ในช่วง ๑๕ เดือนแห่ง โอกาสสร้างความดีงาม สร้างสังคมคุณธรรม ให้แก่ประเทศไทย ผ่านคุณภาพการศึกษา ที่เป็นการศึกษาแห่ง ศตวรรษที่ ๒๑ ที่ไม่ใช่เน้นสอนหรือเรียนวิชาเท่านั้น แต่เน้นการเรียนรู้แบบที่ตัวแทนจากโรงเรียน ดรุณสิกขาลัย กล่าวในการประชุมวันที่ ๑๔ มิถุนายน ว่าต้องให้เด็กได้เรียนแบบ constructionism ที่นักเรียน ผ่านกระบวนการคิด-ทำ-ไตร่ตรอง (reflect) ในทุกเรื่องทุกบทเรียน จนในที่สุดเกิดนิสัย (และทักษะ) เรียนรู้ ในทุกเรื่องทุกขณะจิตในชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มิ.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๑๕ มิ.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 572728เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2014 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2014 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท