ปัญหาการศึกษา(7) “ปัญหาการศึกษาไทย แก้ไม่ยาก แต่แก้ไม่ได้” - ทินกร กระมล


4 ป 1 ส กับ การศึกษาไทย : เปลี่ยนการเรียน ปรับการสอน ปฏิรูปการสอบ ปฏิวัติการเลือกเรียน สร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน หรือ สร้างงานให้สอดคล้องกับหลักสูตร

ที่มาแหล่งความรู้: http://www.mthai.com/webboard/5/130095.html

เนื้อหา:

“ปัญหาการศึกษาไทย แก้ไม่ยาก แต่แก้ไม่ได้”


4 ป1 ส กับ การศึกษาไทย

ผู้ใหญ่หลายท่านเคยให้ความเห็นไว้ว่า “ปัญหาการศึกษาไทย แก้ไม่ยาก แต่แก้ไม่ได้” ฟังดูแล้วอาจรู้สึกกวนใจพิกลเหมือนเล่นคำกับปัญหาระดับชาติ ฟังดูแล้วไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ ในท้ายที่สุดท่านก็ขยายความเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ที่ว่าแก้ไม่ยากนั้น ก็คือ ทำการศึกษาในระดับปลายทางก่อนสู่ตลาดแรงงานให้มีความเท่าเทียมกันในทุกสถาบันและในทุกด้าน เสมือนเป็นหลักประกันว่า ผู้ใดจบจากที่ใดก็ได้งานทำที่เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของผู้เรียน



ทำเช่นนี้แล้ว ปัญหาการแข่งขันในระดับรากหญ้า หรือระดับอนุบาลที่มีปัญหาแป๊ะเจี๊ยะบ้าง ปัญหาเด็กฝากบ้าง และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายจะลดน้อยถอยลงไป เพราะก็ไม่รู้จะแข่งขันกันไปไยในเมื่อทุกสถาบันนั้นมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จบจากที่ใดก็มีงานทำทั่วทุกคน แต่ตรงนี้แก้ไม่ได้หรอก เพราะทรัพยากรของเราจำกัด จำกัดทั้งงบประมาณ จำกัดทั้งตำแหน่งงาน จำกัดทั้งจำนวนโรงเรียน และอื่น ๆ ปัญหาจึงทิ้งค้างอยู่นับแรมปีแรมเดือนอยู่อย่างนี้



กล่าวไปทำไมมีให้มากความกับเรื่องราวที่แก้ไม่ได้ข้างต้น ก็ในเมื่ออยู่ในวังวนของการขาดแคลนทรัพยากร หรืออีกนัยหนึ่ง ทรัพยากรจำกัดนั่นเอง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศเป็นไปอย่างมีคุณภาพท่ามกลางสภาพการณ์เยี่ยงนี้เล่า



เพราะเชื่อว่า การกระทำทุกอย่างล้วนสะท้อนจากทัศนคติ ดังนั้นการที่ต้องการให้การกระทำแต่ละจังหวะชีวิตดำเนินไปอย่างมีคุณค่า ล้วนต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเสียก่อน การกระทำอย่างสร้างสรรค์จึงจะคลอดออกมาได้



เปลี่ยนการเรียน



เริ่มจากเป้าหมายการศึกษา เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ หรือเรียนเพื่อให้ได้เกียรติบัตร หรือเรียนเพื่อความภูมิใจของพ่อแม่และวงศ์ตระกูล เหล่านี้ดูเหมือนงดงาม แต่ทว่าขาดแรงผลักดันที่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อบรรลุซึ่งสิ่งดังกล่าว พฤติกรรมการเรียนรู้ก็หยุดชะงักลง เช่น สอบเข้ามหาลัยได้แล้วก็หยุดค้นคว้า หยุดอ่านหนังสือ หยุดต่อยอดความรับรู้เดิม เราพบว่าเป้าหมายเหล่านี้ควรถูกลดเป็นเป้าหมายรองน่าจะดีกว่า แล้วควรพัฒนาเป้าหมายหลักในการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาตนเองให้มีสติและปัญญาที่จะสามารถครองชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างดี



ในเรื่องของการเรียนรู้ก็ต้องเน้นที่จะพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุดในทุกด้าน นับเรื่อยจากระดับรากหญ้าหรือระดับอนุบาลที่ต้องพยายามฝึกฝนเครื่องมือที่แม่ให้มาอย่างเชี่ยวชาญ เช่น เท้า มือ ปาก และอวัยวะอื่น ๆ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการทานข้าว อาบน้ำ แต่งตัว และอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ควรได้รับการฝึกฝนลักษณะนิสัยที่สร้างคนให้สมบูรณ์ทั้งด้านจิตวิญญาณ และจิตวิทยาด้วย เนื่องจากเป็นระดับรากฐานที่สำคัญ อีกทั้งเป็นวัยที่ฝึกฝนได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ ต่อมา ในระดับประถมปลายจึงค่อยเน้นด้านความรู้วิชาการ เพื่อสร้างรอยหยักในสมองให้รู้จักคิดเอง ทำเอง



การเน้นการแข่งขันทางการเรียนตั้งแต่วัยประถมเท่ากับเป็นการสั่งสมประสบการณ์ความเห็นแก่ตัวให้กับเด็ก และความแพ้ไม่เป็นให้ฝังแน่นในจิตวิญญาณวัยเยาว์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งก่อตัวและเติบใหญ่ต่อไปในอนาคตเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ ในตอนท้ายระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา การผสมกลมกลืนในด้านวิชาชีพ กับด้านจิตวิญญาณอย่างเหมาะสมจะก่อให้เกิดยุวชนที่มีคุณภาพต่อสังคมสืบไป



นอกเหนือจากเป้าหมายการศึกษาแล้ว สถานที่ศึกษา ไม่ควรจำกัดเพียงในห้องสี่เหลี่ยม ทุกที่ ทุกคนที่แวดล้อมตัวเด็กสามารถเป็นครูให้เรียนรู้ได้เสมอ แม้แต่ธรรมชาติ จากตรงนี้จะทำให้เด็กเคารพต่อทุกอย่างที่ให้ความรู้ เขาจะเคารพธรรมชาติ ไม่ให้ร้าย เขาจะเคารพเพื่อนฝูง ไม่ทำร้าย เขาจะเคารพข้าวของชาวนา ไม่ดูถูก และไม่กินทิ้งกินขว้าง เขาจะเคารพพ่อแม่ผู้ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้เขาเป็นอันดับแรก



ต่อมาในเรื่องของวิธีเรียน ควรลดการท่องจำให้น้อยลง แม้ว่า การท่องจำจะเป็นวิธีการเรียนที่ง่ายที่สุดที่แม้คุณไม่เข้าใจในเนื้อหาเลย แต่สามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำ คุณก็สามารถเอาตัวรอดได้ วิธีการท่องจำส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ในระยะยาว เพราะขาดการนำความคิดของผู้สอนมาประสานสอดคล้องกับผู้เรียน แต่เป็นการประทับคำพูดของผู้สอนอย่างขาดวิจารณญาณเลยทีเดียว โดยขาดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากงานวิจัยเราพบว่า คนเราสามารถเรียนรู้และจดจำได้ดี 10%จากการอ่าน 20%จากการได้ยิน 30% จากการได้เห็น 50%จากการได้ยินและได้เห็น 70%จากการได้พูด และ 90%จากการได้พูดและได้ทำ



เราถูกสอนให้คิดตาม มาตลอด ไม่เคยได้รับอนุญาตให้คิดเอง หรือ คิดต่าง และทุกครั้งที่คิดต่างมักถูกโยงไปในเรื่องของความแตกแยก ไม่สามัคคี ไม่รักชาติ หรือ แม้แต่เรื่องของการลบหลู่ผู้สอน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง ผลของการคิดตามที่ผ่านมาคือ ความชื่นชมผิด ๆ ว่าเป็นคนว่านอนสอนง่าย เชื่อฟัง และสุดท้ายคือการเลียนแบบ แต่ทว่า ผลของคิดต่างหรือคิดเอง เราจะได้สิ่งใหม่เสมอ



ปรับการสอน



แน่นอนย่อมเกี่ยวข้องกับบุคลากรอีกกลุ่ม คือ ครู เป้าหมายของการสอนหนังสือของครูในปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนมากตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม หลายคนสอนเพื่อเงินเดือน หลายคนสอนเพื่อค่ากวดวิชา หลายคนทำเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงาน การเลื่อนซี หาใช่เพื่อการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกศิษย์ไม่ จะเป็นเรื่องที่ท้าทายหรือเรื่องที่น่าตื่นเต้นหรือไม่ที่ครูจะได้พบลูกศิษย์ที่หลากหลายทุกปี จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีหรือไม่ที่จะพยายามปรับการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัยตลอดเวลา การเฆี่ยน ตี ดุ ด่า หรือ กระทบเทียบไม่ควรเป็นคุณสมบัติของครูที่มีจิตวิญญาณอันงดงามเลย การแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และการโน้มน้าวให้เด็กที่มีพัฒนาการที่ดีสามารถต่อยอดในสิ่งที่ยากยิ่งกว่าได้ น่าจะเป็นคุณสมบัติของครูที่ดีมิใช่หรือ



เช่นเดียวกับการปรับการเรียนที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น การสอนแบบท่องจำดูเหมือนง่ายและได้ผลในระยะสั้น แต่ส่งผลระยะยาวเสมือนยาพิษที่เกาะกินลูกศิษย์ต่อไป การเปิดเวทีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างจะช่วยรังสรรค์สิ่งงดงามของการศึกษาได้มากมายอย่างน้อยก็มุมมองที่รอบด้านขึ้น


ปฏิรูปการสอบ


การสอบคือ เครื่องมือในการประเมินผลการเรียนรู้หรือการสอนของทั้งผู้เรียนและผู้สอน มิใช่คำพิพากษาที่จะระบุความเป็นคนโง่หรือฉลาดให้กับเด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการตัดสินชะตาชีวิตของทั้งชีวิตของลูกศิษย์



ลูกศิษย์ที่ทำข้อสอบไม่ได้ตรงตามที่ผู้สอนต้องการ ควรได้รับการเยียวยาเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นจากผู้สอนโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนเกียรติรางวัลสำหรับผู้เข้าใจหรือทำข้อสอบได้ ไม่ควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะถือว่าเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างดีแล้ว ตรงข้ามหากมีการส่งเสริมจนเกินเหตุอาจส่งผลให้เกิดความโอหังทางวิชาการหรือเหยียดหยามผู้ได้คะแนนต่ำกว่าโดยใช่เหตุ สังคมควรสอนให้มีการเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ



ข้อสอบที่สมควรส่งเสริมให้มีมากขึ้นคือ ข้อสอบแบบเขียนตอบ หรืออัตนัย เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนการเรียบเรียงความคิดในการสื่อสารกับผู้อื่น อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองทางวิชาการให้กว้างขวาง ส่วนข้อสอบปรนัย ควรมีเท่าที่จำเป็นเพื่อไว้ใช้หลอกล่อให้ผู้สอบมึนงงหรือไว้ตรวจสอบความแม่นยำอีกทอดหนึ่งหรือการสอบที่ต้องการความรวดเร็วในการรู้ผล เพราะเหตุว่าข้อสอบแนวนี้เป็นข้อสอบในการจำกัดกรอบความคิดให้กับเด็ก อีกทั้งส่งเสริมวิชามารในการสอบ เช่น สามารถนำคำตอบมาแทนค่าคำถามได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด



ปฏิวัติการเลือกเรียน



เด็กวัยรุ่นหลายคนในปัจจุบันมักอ้างการเลือกเรียนว่า ทำเพื่อพ่อแม่บ้าง ทำเพื่อครอบครัวบ้าง ซึ่งเมื่อจบการศึกษาขั้นสูงไปแล้วมักไม่ได้ใช้วิชาชีพที่ตนร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม นับเป็นความสูญเสียของการศึกษาอีกเช่นกัน เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ความสามารถหรือศักยภาพที่ตนเองมีเป็นหลักในการเลือก อีกมุมหนึ่งของผู้เลือกเรียนก็มักเลือกเรียนในสายอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดแรงงานเป็นสำคัญ เช่น อาชีพที่ให้ผลตอบแทนสูง อาชีพที่มีเกียรติยศ ชื่อเสียงเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม


สร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน หรือ สร้างงานให้สอดคล้องกับหลักสูตร


นอกเหนือจากทัศนคติหรือค่านิยมการเลือกเรียนดังกล่าวแล้ว ยังพบว่า หลักสูตรในระดับวิชาชีพล้วนไม่สอดคล้องกับกาลสมัยอีกด้วย ส่งผลให้นิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ ไม่สามารถสร้างงานได้เอง ไม่สามารถประยุกต์นำเนื้อหาที่เรียนไปใช้ในการทำงานได้อย่างทันท่วงที ต้องเข้าฝึกอบรมหลังจบอีก ประมาณกว่า 6 เดือนเพื่อจะสามารถทำงานได้ เป็นต้น



หรืออีกนัยหนึ่ง อาชีพที่มีในตลาดแรงงานที่เป็นจริงไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียน ยกตัวอย่างให้เห็นได้คือ อาชีพนักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยในประเทศ ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้เมื่อเทียบกับนานาประเทศ หรืออาชีพวิศวกรที่เน้นการออกแบบต่าง ๆ เช่น วิศวกรเครื่องบิน วิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่ควรจะสามารถออกแบบเครื่องบิน หรือคอมพิวเตอร์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ได้ แต่ประเทศไม่มีอุตสาหกรรมเหล่านี้รองรับ การศึกษาที่เล่าเรียนมาก็ดูจะไร้ค่าไป



เปลี่ยนการเรียน ปรับการสอน ปฏิรูปการสอบ ปฏิวัติการเลือกวิชาชีพ สร้างงานให้สอดคล้องหลักสูตร หรือ สร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับงาน เหล่านี้คือข้อสังเกตที่ผู้เขียนต้องการแสดงให้ผู้อ่านเห็นและตระหนักในภาระหน้าที่อันพึงมีต่อสังคม อย่างน้อยที่ผ่านมา เราล้วนมีส่วนที่ทำให้ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่บิดเบี้ยวไป ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ฉะนั้นเราท่านจึงควรมีส่วนร่วมผลักดันให้ระบบการศึกษามันดีขึ้นได้ตามหน้าที่หรือสถานภาพทางสังคม



ผู้ใดเป็นครู ก็ควรปรับเปลี่ยน ผู้ใดเป็นผู้ปกครองก็ควรต้องมีมุมมองใหม่ในการสนับสนุนบุตรหลาน อย่ามัวฝันรออัศวินม้าขาวที่จะมากอบกู้วิกฤตการณ์การศึกษาดีขึ้นอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลย มันเป็นไปไม่ได้เลย แค่คิดก็ผิดเสียแล้วละท่าน

คำสำคัญ (Tags): #ทินกร
หมายเลขบันทึก: 57258เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2006 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท