การประกันกลุ่ม (Group Insurance) ตอนที่ 2 (จบ)


การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิก (Group Membership or Group Affinity Insurance) 

เป็นรูปแบบการประกันกลุ่มที่แตกต่างจากการประกันกลุ่มที่เป็นสวัสดิการให้ลูกจ้าง (Group Employee Benefit) ตรงที่องค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นผู้ถือกรมธรรม์มักไม่ใช่ฐานะนายจ้าง และสมาชิกในองค์กรมักจะเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด (100% contributory insurance) ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือกรมธรรม์และสมาชิกผู้เอาประกันนั้นจึงมักไม่เกี่ยวข้องกันในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง (Employer-Employee Relationship) ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรมักไม่ใช่เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกเหมือนกับประกันกลุ่มเพื่อสวัสดิการลูกจ้าง และสมาชิกสามารถเข้าร่วมการเอาประกันตามความสมัครใจ (Voluntary) ดังนั้นสมาชิกของกลุ่มหรือองค์กรจึงมีสิทธิ์ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิกที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย คือ ประกันกลุ่มสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตหรือผู้กู้ (ลูกหนี้) ซึ่งมีทั้งการประกันเพื่อคุ้มครองเงินกู้ (Loan Protection) หรือคุ้มครองสินเชื่อ (Credit Protection) ซึ่งเรียกประกันกลุ่มแบบนี้ว่าประกันกลุ่มสินเชื่อ (Group Credit Life Insurance) ซึ่งมักกำหนดให้เงินผลประโยชน์จากการประกันจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมักเป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับแรกก่อน (First or Primary Beneficiary) ส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้แล้วจึงจะนำไปจ่ายให้แก่ผู้รับผลประโยชน์รอง (Contingent Beneficiary) ที่ระบุไว้ นอกจากนี้ยังมีการประกันกลุ่มสำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองตามความต้องการส่วนบุคคล (Individual Protection) ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองหนี้

ประกันกลุ่มสำหรับลูกค้าสินเชื่อหรือประกันกลุ่มสินเชื่อ (Group Credit Life Insurance) เป็นการประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ โดยผู้ถือกรมธรรม์จะเป็นเจ้าหนี้ (Lender) โดยมีกลุ่มลูกหนี้ (Debtor) เป็นสมาชิกผู้เอาประกัน โดยทั่วไปเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรหรือสถาบันการเงิน (Financial Institution) ที่มีการปล่อยสินเชื่อหรือให้สินเชื่อ (Credit) แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรหรือสถาบันการเงินนั้นๆ เช่น สหกรณ์ต่างๆ (Cooperative) สหกรณ์ออมทรัพย์ (Credit Union) บริษัทบัตรเครดิต (Credit Card Company) ธนาคาร (Bank) บริษัทเช่าซื้อ (Leasing Company) บริษัทสินเชื่อเงินกู้ (Loan Company) เป็นต้น

การประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อนั้น ผู้เอาประกันที่เป็นลูกหนี้มักจะต้องเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันเองทั้งหมด โดยเบี้ยประกันจะคำนวณจากวงเงินเอาประกันโดยวงเงินเอาประกันอาจเท่ากับยอดหนี้ (Loan Amount) หรืออาจเป็นยอดที่กำหนดไว้คงที่ก็ได้

สำหรับการประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่ออาจมีช่ือเฉพาะที่เรียกแตกต่างกันออกไป การประกันที่คุ้มครองตามยอดหนี้คงเหลือของบัตรเครดิตมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Credit Shield Insurance ส่วนการประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Mortgage Insurance

การพิจารณารับประกันสำหรับการประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองสินเชื่อนั้นมักจะพิจารณาตามความเสี่ยงของผู้เอาประกันเฉพาะรายเหมือนประกันรายสามัญทั่วไป คือพิจารณาจากอายุ เพศ สุขภาพ อาชีพและทุนประกัน ทั้งนี้ขึ้นกับแบบประกันด้วย หากเป็นแบบประกันที่เบี้ยประกันเป็น Single Rate คือเบี้ยเท่ากันทุกช่วงอายุรับประกัน โดยไม่สนเพศและวัย อาจพิจารณาจากทุนประกันและภาวะสุขภาพของผู้เอาประกันเท่านั้น ถ้าเป็นแบบประกันที่เป็น Age-Band Premium คืออัตราเบี้ยคำนวณตามอายุรวมทั้งแบ่งตามเพศในบางกรณีก็อาจพิจารณารับประกันจากอายุ เพศ สุขภาพ อาชีพและทุนประกัน เป็นต้น

สำหรับวงเงินหรือทุนเอาประกันสำหรับการประกันสินเชื่อนั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ

1. แบบทุนลด (Reducing or Decreasing Face Amount) โดยทุนประกันเริ่มต้นมักจะเท่ากับยอดหนี้ตอนเอาประกัน หลังจากนั้นทุนประกันจะค่อยๆลดลงตามยอดหนี้ที่ลดลงเนื่องจากโดยทั่วไปลูกหนี้จะต้องชำระหนี้เป็นงวดตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นทุนประกันจะลดลงจนเหลือเท่ากับศูนย์เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกันซึ่งส่วนใหญ่จะเท่ากับระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้นั่นเอง

เช่น ยอดหนี้ 1 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ 10 ปี ดังนั้นทุนประกันจะเท่ากับยอดหนี้คือ 1 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี โดยทุนประกันจะลดลงทุกปีจนเท่ากับ 0 บาทเมื่อสิ้นปีที่ 10 เป็นต้น

ประกันกลุ่มที่คุ้มครองสินเชื่อมักเป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) (เพราะยอดหนี้ที่ต้องชำระมีระยะเวลาให้ชำระตามที่กำหนดไว้และที่สำคัญคือเนื่องจากเน้นความคุ้มครองสินเชื่อจึงไม่มีการสะสมมูลค่าเงินสดและมักไม่มีเงินการกำหนดผลประโยชน์เงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา) แบบประกันที่เป็นแบบชั่วระยะเวลาโดยทุนลดลงตามระยะเวลามีช่ือเรียกว่า Reducing Term Insurance (หรือ Reducing Term Assurance) หากเป็นประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นแบบชั่วระยะเวลาโดยทุนลดลงตามระยะเวลามีช่ือเรียกว่า Mortgage Reducing Term Assurance (MRTA) อย่างไรก็ตามในหนังสือ Principle of Insurance (Edition 2011) ได้ระบุความแตกต่างของ MRTA จาก Credit Life Insurance ตรงที่ว่า MRTA นั้นผู้เอาประกันไม่จำเป็นต้องระบุเจ้าหนี้เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก แต่ Credit Life Insurance นั้นจะกำหนดให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับผลประโยชน์หลักเสมอ*

2. แบบทุนคงที่ (Level Face Amount ) ทุนประกันเริ่มต้นจะกำหนดไว้เป็นจำนวนแน่นอนและคงที่ตลอดสัญญา ดังนั้นทุนเอาประกันไม่จำเป็นต้องเท่ากับยอดหนี้ก็ได้ แต่มักจะกำหนดระยะเวลาคุ้มครองเอาไว้ ทั้งนี้แม้ยอดหนี้จะลดลงหรือเหลือเท่ากับศูนย์แต่วงเงินเอาประกันภัยก็ยังคงที่เท่าเดิม เช่น ทุนประกัน 200,000 บาท คงที่ตลอดสัญญา เป็นต้น

การชำระเบี้ยประกันมี 2 ลักษณะ คือ

1.ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) ผู้เอาประกันชำระเบี้ยแค่ครั้งเดียวแต่ความคุ้มครองจะยาวไปจนสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ชำระเบี้ยครั้งเดียวแต่คุ้มครอง 5 ปี หรือ 10 ปี (ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงตามระยะเวลากู้หรือระยะเวลาในการชำระหนี้) เป็นต้น

2.ชำระเบี้ยรายปี (Annually Premium) ซึ่งมี 2 แบบคือ

2.1 Limited Premium Payment คือกำหนดระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยไว้น้อยกว่าระยะเวลาคุ้มครอง เช่น จ่ายเบี้ย 5 ปีแต่ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี เป็นต้น

2.2 Continuous Premium payment คือระยะเวลาที่ชำระเบี้ยเท่ากับระยะเวลาที่คุ้มครอง ดังนั้นผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยตลอดเพื่อให้สัญญายังมีผลบังคับ เช่น จ่ายเบี้ย 10 ปี เท่ากับระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี เป็นต้น

วิธีการชำระเบี้ยรายปีทั้ง 2 แบบอาจเปิดให้เลือกชำระเป็นรายงวด ทั้งราย 6 เดือน (Semi-annual) ราย 3 เดือน (Quarterly) หรือรายเดือน (Monthly) ได้

ส่วนเบี้ยประกัน (Premium) ที่ชำระอาจเป็นแบบชำระอัตราคงที่ตลอดสัญญา (Level Premium) หรือเพิ่มขึ้น (Increasing Premium) ในแต่ละปีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ 

ข้อดีของ Level Premium คือผู้เอาประกันชำระเบี้ยเท่าเดิมไปจนครบระยะเวลาชำระเบี้ยทำให้ผู้เอาประกันไม่ค่อยทิ้งกรมธรรม์ให้สิ้นผลบังคับ (Lapse) ในปีท้ายๆ แต่หากเป็น Increasing Premium ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้นในปีหลังๆเนื่องจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุและสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงจนบางครั้งอาจแบกรับภาระเบี้ยที่สูงขึ้นในปีหลังๆไม่ไหวและอาจทิ้งกรมธรรม์ให้สิ้นผลบังคับในปีท้ายๆในที่สุด

กรมธรรม์ประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรที่เป็นแบบชั่วระยะเวลา อาจกำหนดระยะเวลาให้สัญญามีอายุสั้นตั้งแต่ 1 ปี ซึ่งต้องต่อสัญญาเป็นปีๆ (Yearly Renewal Term หรือ YRT) และสามารถต่ออายุได้ทุกปีอัตโนมัติ ( Automatic Renew) โดยที่ผู้เอาประกันไม่ต้องส่งหลักฐานที่รับรองว่าเอาประกันได้ ( Evidence of Insurability) ให้แก่ผู้รับประกัน นอกจากนี้ยังกำหนดแบบที่ให้ความคุ้มครองยาว (Long Policy Term) ไปจนถึงสิ้นสุดอายุที่กำหนดตราบเท่าที่ผู้เอาประกันชำระเบี้ยตามที่กำหนด

ประกันที่คุ้มครองสินเชื่อนั้น หากลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เอาประกันชำระเบี้ยไว้จนครอบคลุมตามระยะเวลาคุ้มครองแล้ว หากผู้เอาประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้หมดก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ประกันคุ้มครอง ผู้เอาประกันสามารถเลือกที่จะคงสัญญาประกันไปจนสิ้นสุดสัญญาหรือจะเลือกยกเลิกกรมธรรม์เพื่อเวนคืน (Surrender) เบี้ยประกันส่วนที่เป็นช่วงระยะเวลาที่เหลือก็ได้ (ในการเวนคืนกรมธรรม์ที่คุ้มครองหนี้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันจะต้องตรวจสอบก่อนว่าไม่มียอดหนี้ที่ผู้เอาประกันค้างกับเจ้าหนี้ (ซึ่งคือผู้ถือกรมธรรม์) แล้ว หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้จึงจะดำเนินการให้ได้

ส่วนการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรอีกรูปแบบหนึ่งคือเป็นแบบคุ้มครองส่วนบุคคล (Group Individual Protection Insurance) เป็นการการประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรที่ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองหนี้แต่มีวัตถุประสงค์เหมือนการประกันชีวิตรายเดี่ยวคือเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงส่วนบุคคล ดังนั้นองค์กรหรือหน่วยงานเป็นเพียงผู้ถือกรมธรรม์เท่านั้นไม่มีส่วนในการเป็นผู้รับผลประโยชน์ สมาชิกผู้เอาประกันสามารถระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นใครก็ได้ตามกฎหมาย

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรแบบคุ้มครองส่วนบุคคล (Group Individual Protection Insurance) ที่เห็นได้ชัดในบ้านเราคือประกันที่เสนอขายให้แก่สมาชิกบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเสนอขายผ่านทางโทรศัพท์ (Telemarketing Channel) โดยเป็นแผนความคุ้มครองสำเร็จรูปที่อาจมีความคุ้มครองหลากหลายรวมไว้เป็นแพคเกจ เช่น ประกันชีวิต ที่มีผลประโยชน์ด้านประกันชีวิตและทุพลภาพจากอุบัติเหตุ ค่าชดเชยรายวันกรณีรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ที่สำคัญคือรูปแบบผลประโยชน์ความคุ้มครองที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ขั้นตอนการขายและการพิจารณารับประกันง่ายๆไม่ซับซ้อนและเบี้ยประกันที่ไม่แพง เพื่อให้สามารถดึงดูดใจลูกค้า

วิธีการชำระเบี้ยส่วนใหญ่มักจะหักผ่านบัตรเครดิตที่ผู้เอาประกันเป็นสมาชิกอยู่และนิยมหักเป็นรายเดือน

การประกันกลุ่มสำหรับสมาชิกองค์กรหรือประกันกลุ่มเพื่อสมาชิกกลุ่มอีกประเภทหนึ่งที่พบในประเทศไทยคือ การประกันภัยแบบคุ้มครองรวม (Blanket Insurance) ซึ่งเป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองภัยที่จำเพาะบางอย่าง (Specific Hazard) ให้แก่สมาชิกขององค์กรเป็นระยะเวลาชั่วคราว (Temporary) เช่น ประกันการเดินทางสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ ประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับกลุ่มทัศนศึกษาของโรงเรียน เป็นต้น โดยการประกันภัยแบบคุ้มครองรวมจะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้ถือกรมธรรม์เพียงฉบับเดียวที่ระบุภัยที่เอาประกันไว้และมักจะไม่ระบุผู้เอาประกันเป็นรายๆ นอกจากนี้มักเป็นความคุ้มครองแบบชั่วคราวที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครองไว้โดยมากคือเริ่มต้นคุ้มครองตอนความเสี่ยงภัยนั้นเริ่มต้น และความคุ้มครองสิ้นสุดหลังจากจบสิ้นระยะเสี่ยงภัยนั้น เช่น สำหรับกลุ่มทัศนศึกษาของโรงเรียน กรมธรรม์มักระบุเริ่มต้นความคุ้มครอง ณ วัน ที่มีการออกเดินทางไปทัศนศึกษาและวันสิ้นสุดความคุ้มครอง ณ วันที่สิ้นสุดการทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้การประกันภัยแบบคุ้มครองรวมมักจะไม่มีการออกใบรับรองการเอาประกันภัย (Certificate of Insurance) ให้แก่ผู้เอาประกัน เนื่องจากเป็นการประกันเหมารวมกลุ่มคนไว้แล้ว

*Chapter 5 : Term Life Insurance, Page 81.

หมายเลขบันทึก: 572504เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท