ว่าด้วยเรื่องสังคมสงเคราะห์ (1)


ผู้ประสบภัย..ส่วนหนึ่งของงานสังคมสงเคราะห์

ปีนี้ประเทศไทยประสบกับภัยธรรมชาติหลายระลอก  ประชาชนเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย   วาตภัย  แผ่นดินไหว  ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทำให้หลายๆคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว  เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย   บางครอบครัวต้องสูญเสียญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไป   เมื่อคนไทยเดือดร้อนมีหลายหน่วยงาน/องค์กรและกลุ่มบุคคลในภาคส่วนต่างๆของสังคม  ระดมกำลังเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านี้   

     หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  คงเป็นชื่อที่บุคคลทั่วไปยังไม่คุ้นเคยนัก  แม้แต่ประชาชนที่มาใช้บริการมีน้อยคนที่จะเรียกชื่อได้ถูก   ส่วนใหญ่มักจะเรียกขานด้วยความเคยชินว่า หน่วยสงเคราะห์  ซึ่งมีที่มาจากชื่อเดิมว่า กรมประชาสงเคราะห์   ซึ่งการเรียกขานดังกล่าวยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง   และนำไปสู่การรับรู้และเข้าใจผิดว่าหน่วยงานนี้คือ    หน่วยงานที่ให้เงิน   แจกสิ่งของ    ทั้งนี้เนื่องมาจากความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นเวลานานแล้วว่าการสงเคราะห์ คือการทำบุญ  ทำกุศล  เป็นการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ตกทุกข์ได้ยาก     ซึ่งตามหลักวิชาการแล้ว สังคมสงเคราะห์ เป็นวิชาชีพ (professional)  ที่ทำงานโดยใช้องค์ความรู้  หลักการและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการที่กำลังประสบปัญหา  หรือตกอยู่ในภาวะเดือดร้อนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด  ตามปรัชญาของงานสังคมสงเคราะห์ที่ว่า ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้ (Help  them  to  help  themselves)  ทั้งนี้โดยมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพตระหนักถึงคือ การเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์                

       จากที่ได้กล่าวถึงหน่วยงาน กรมประชาสงเคราะห์ มาบ้างแล้วในตอนต้น  จึงจะขอเขียนถึงความเป็นมาในอดีตและภารกิจในปัจจุบันของหน่วยงานนี้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2483 ในสมัยที่  จอมพล ป.  พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งพิจารณาเห็นว่าประชาชนเกือบร้อยละ 80 ทั่วประเทศในขณะนั้นตกอยู่ในความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการครองชีพและการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ทางราชการต้องให้ความช่วยเหลือ จึงจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้น โดยให้อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชนในด้านการครองชีพ  โดยมีจอมพล ป.  พิบูลย์สงคราม  นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีคนแรกของกรมประชาสงเคราะห์                 

          การดำเนินงานของกรมประชาสงเคราะห์ในระยะแรก  มีภารกิจหลักที่สำคัญคือ  การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนในด้านอาชีพ    ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและยากจนให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองโดยการจัดสรรที่ดินทำกินในรูปแบบนิคมสร้างตนเอง   สงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัย     และการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนกรมประชาสงเคราะห์ มีการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการมาเป็นระยะๆ   จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มีผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11  พฤษภาคม  2542   ที่ให้ความเห็นชอบแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐภายใต้กรอบของ ระบบบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่       (New  Public  Management)    โดยวิธีการต่างๆ เช่น  การออกมาตรการกำหนดให้ส่วนราชการปรับบทบาท   ภารกิจและโครงสร้าง  รวมทั้งเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหารราชการและการบริการประชาชน ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545   และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง  ทบวง  กรม  พ.ศ. 2545   มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม  2545 เป็นต้นมา    ได้มีการจัดตั้งส่วนราชการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ขึ้นมาสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อรับผิดชอบภารกิจของ 2 หน่วยงานเดิมคือ กรมประชาสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  และกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท สังกัดกระทรวงมหาดไทยเฉพาะในส่วนงานส่งเสริมอาชีพและรายได้  ชื่อ กรมประชาสงเคราะห์ ที่มีอายุมายาวนานถึง 62 ปีจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2545 ระบุให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  มีภารกิจ  ในการให้บริการสวัสดิการสังคม  การสังคมสงเคราะห์แก่   ผู้ด้อยโอกาส    ผู้ยากไร้    คนไร้ที่พึ่ง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ และ การประสานงานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นจัดสวัสดิการสังคม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาทางสังคมสามารถดำรงชีวิตและพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์              

    ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ   พอจะรวบรวมได้ คือ

1. ผู้ประสบภัย                การจัดสวัสดิการแก่ผู้ประสบสาธารณภัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยกรณีหลังภัยสงบและผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งในและนอกประเทศ โดยให้การช่วยเหลือและฟื้นฟู  ดังนี้

1) สงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจนที่ประสบภัยเป็นเงิน หรือสิ่งของ               

2) สงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่ประสบภัย   โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ               

3) สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและเพิ่มรายได้ โดยให้การฝึกอาชีพแก่สตรีที่ประสบภัย หรือสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ               

4) ส่งกลับภูมิลำเนา สำหรับผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งในและต่างประเทศ

2. ครอบครัวและชุมชน                เป็นการให้บริการด้านสวัสดิการสังคม  การสงเคราะห์และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบปัญหาทั้งในชุมชนเมือง  กรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค    ดำเนินการให้บริการทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการระดมทรัพยากรจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาในรูปแบบต่างๆ               

  2.1 สงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม                ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ต่างๆจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  และไร้ญาติขาดที่พึ่ง   จะได้รับการสงเคราะห์ในเบื้องต้นโดยนักสังคมสงเคราะห์    ดำเนินการ ดังนี้               

 1) สัมภาษณ์หาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ               

2) ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าตามความจำเป็น เช่น ให้คำแนะนำปรึกษา  ให้ค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนา   ค่าอาหาร  หรือเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ               

 3) ส่งไปรับบริการยังหน่วยงานอื่นตามความเหมาะสม     นอกจากนี้ยังจัดให้มีศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน 24 ชั่วโมง   ซึ่งจัดบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วจากบริการของรัฐ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์  นักจิตวิทยา  เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทาง โทรศัพท์

2.2 สงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย                สำหรับครอบครัวที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวถึงแก่กรรม ต้องโทษจำคุก   หายสาปสูญ หรือทอดทิ้งครอบครัว   เจ็บป่วยร้ายแรง   พิการทุพพลภาพ   หรือ ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยเหตุสุดวิสัยอื่นๆ      กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะพิจารณาให้การสงเคราะห์ครอบครัวๆละไม่เกิน 2,000 บาท ติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ หรือค่าใช้จ่ายในการครองชีพ   รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษา   และให้บริการแก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ในแหล่งชุมชนต่างๆ   โดยการจัดหน่วยสงเคราะห์ครอบครัวเคลื่อนที่

2.3 จัดบริการที่พักอาศัยชั่วคราว                บริการด้านที่พักอาศัยชั่วคราว   ที่มีชื่อเรียกว่า  "ที่พักคนเดินทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ"   ให้บริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย  ผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  ผู้ตกทุกข์ได้ยากที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือผู้ที่หน่วยราชการอื่นส่งมาขอพักชั่วคราว โดยไม่เสียค่าบริการ     

2.4  ศูนย์รับบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน                ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสงเคราะห์ประชาชนผู้เดือดร้อน "ศูนย์รับ บริจาคเพื่อการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ" เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ รับบริจาคเงินและสิ่งของจากประชาชน  องค์การต่างๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค   รวมทั้งรับ บริจาคผ่านตู้รับบริจาคโครงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนต่างๆ  เพื่อให้การสนับสนุน แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้นำไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันต่อ เหตุการณ์ในส่วนสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ  สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด   เป็นกลไกสำคัญในการกระจายบริการสวัสดิการสังคม ลงไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ  จัดตั้งอยู่ทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 75  แห่ง      ถือเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถไปขอรับบริการต่างๆได้สะดวก

 ♥♥    ♥♥    ♥♥    ♥♥ 

บรรณานุกรม 

กองการเจ้าหน้าที่  กรมประชาสงเคราะห์. ความเป็นมาของการจัดตั้งกระทรวง

การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใน นิตยสารการประชาสงเคราะห์. ปีที่ 45  ฉบับที่ 2 (มีนาคม- เมษายน), 2545: น. 4-15.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. 2545. กฎกระทรวงแบ่ง

ส่วนราชการกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ    กระทรวงการพัฒนาสังคมและ

ความมั่นคงของมนุษย์  พ.ศ. 2545.

ศิริพร   เกื้อกูลนุรักษ์. “งานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ในบทบาทและภารกิจของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ในเอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง งานสวัสดิการสังคมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. วันที่ 12-13 พ.ค.2548.

http://www.dsdw.go.th 

หมายเลขบันทึก: 57195เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท