ทัวร์วัฒนธรรมนำจิตอาสาสู่การทำดี : อีกหนึ่งกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบ "บันเทิงเริงปัญญา"


โครงการดังกล่าวยังเป็นกลยุทธหนึ่งในการบ่มเพาะเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามในมิติต่างๆ แก่นิสิตอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำนึกรักษ์ การรู้สึกรักหวงแหนและศรัทธาต่อศิลปะแขนงต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น รักและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา การเคารพต่อภูมิปัญญาและปราชญ์ชาวบ้าน

การพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกชั้นเรียน มิได้จำเพาะจงจงแต่เฉพาะโครงการที่จัดขึ้นโดยนิสิต หรือองค์กรนิสิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย “มหาวิทยาลัย" หรือ “หน่วยงานในมหาวิทยาลัย" ด้วยเช่นกัน

โครงการ “เยือนสิมชมศิลป์อีสาน ท่องถิ่นฐานอารยธรรมนครจำปาศรี" เป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่ขับเคลื่อนบนฐานคิดและครรลองข้างต้น

โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนงานพัฒนานิสิตของกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนายจิรัฏฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร (นักวิชาการศึกษา) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและชุมชนในเขตอำเภอนาดูนและอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม





การมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการณ์แบบห่างๆ ในโครงการนี้ พลอยให้ผมได้หวนคิดถึง “วาทกรรม" ที่ผมเคยได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตร่วมๆ จะ ๑๐ ปีก่อน นั่นก็คือ “... ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า..."

ครับ-วาทกรรมที่ว่านี้ถูกนำมาขับเคลื่อนบนฐานคิดส่วนตัวของผมเองจริงๆ เป็นความเชื่อความศรัทธาในทำนองเดียวกับ “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้" (เว้นแต่เราจะไม่เปิดใจเรียนรู้)

ก็ด้วยความเชื่อเช่นนั้นเอง เมื่อนิสิตต้องลงพื้นที่ไปจัดค่ายอาสาพัฒนา ผมจึงต้องเคี่ยวเข็ญให้นิสิตใส่ใจกับวาทกรรมข้างต้น ถึงขั้นกำหนดเป็นแบบแผนว่าเมื่อกลับออกมาจากค่ายต้องตอบให้ได้ว่าในชุมชนนั้นๆ มีเรื่องราว หรือตำนานใดบ้าง ถ้าตอบไม่ได้ ให้ถือว่าการเรียนรู้ในวิถีค่ายอาสายังไม่บรรลุผล...

ครับ-ถึงแม้จะสร้างอาคารเรียน เทพื้นสนาม ซ่อมห้องสุขา จัดห้องสมุดเสร็จสิ้นก็เถอะ หากตอบไม่ได้ว่าชุมชนนั้นๆ มีเรื่องราวใดบ้าง ผมถือว่าไปไม่ถึงดวงดาวแห่งการเรียนรู้

ด้วยเหตุนี้นิสิต “ชาวค่าย มมส" (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) จึงจำต้องออกแบบกระบวนการไปสู่การเรียนรู้บริบทชุมชนไปในตัว ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาทำงานเชิงเดี่ยวแข่งกับเวลาจนหลงลืมที่จะเรียนรู้เรื่องราวอันเป็น “ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม" หรือ “มรดกทางสังคม" ในชุมชนนั้นๆ





สำหรับโครงการนี้ ผมถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจไม่ใช่ย่อย เป็นการจัดในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา" พาเที่ยวท่อง (ทัวร์วัฒนธรรม) โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้นำนิสิตจากแต่ละองค์กร

ผมมองว่าโครงการนี้ จะก่อเกิดอานิสงส์แก่นิสิตในหลายประเด็น เป็นต้นว่าสร้างกระบวนการบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่นิสิตในอีกช่องทางหนึ่ง ยึดโยงเรื่องจิตสาธารณะ รวมถึงการช่วยให้นิสิตได้ฝึกทักษะในการเก็บข้อมูลชุมชน ศึกษาชุมชน เคารพต่อภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เมื่อถึงคราวต้อง "ออกค่าย" จริงๆ ย่อมสามารถประยุกต์ใช้ หรือเข้าใจในบริบทแห่งการเรียนรู้ชุมชนได้อย่างไม่เคอะเขิน




เช่นเดียวกับนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้พบเห็นสัมผัสกับความงดงามและยิ่งใหญ่ในเชิง "เรื่องเล่า" ในชุมชนนั้นๆ ย่อมสะกิดให้หวนคิดคำนึงถึงเรื่องราวในบ้านเกิดตัวเองได้ไม่มากก็น้อย เป็นการทบทวนความทรงจำที่มีต่อบ้านเกิด (จิตสำนึกรักบ้านเกิด) ผ่านสถานการณ์อันแปลกใหม่ในต่างถิ่น

นอกจากนั้นยังช่วยทำให้นิสิตได้รู้เรื่องราวของ "ความเป็นจังหวัดมหาสารคาม" มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เรียนจบจากที่นี่ แต่กลับไม่รู้ว่าเมืองมหาสารคาม มีเรื่องราวประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอย่างไร...
ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมถือว่าเป็นอีกหนึ่งในชะตากรรมที่นิสิตไม่สามารถเดินทางไปถึงดวงดาวแห่งการเรียนรู้




กรณีเช่นนี้ ไม่เพียงนิสิตเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าว ผมเชื่อว่า "บุคลากร" ที่เกี่ยวข้องย่อมได้ประโยชน์จากโครงการนี้ไม่แพ้กัน ยิ่งในช่วงต้นน้ำก่อนสัญจรไปสู่พื้นที่นั้น ผศ.สมชาย นิลอาธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ได้มาบรรยายปูพื้นความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมนครจำปาศรี และ “สิมโบราณ" ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของการเรียนรู้ ยิ่งทำให้นิสิตและเจ้าหน้าที่เกิดแรงบันดาลใจ ตื่นตัวที่จะไปสัมผัสจริง..




อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้ว ผมมองว่าโครงการดังกล่าวยังเป็นกลยุทธหนึ่งในการบ่มเพาะเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามในมิติต่างๆ แก่นิสิตอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำนึกรักษ์ การรู้สึกรักหวงแหนและศรัทธาต่อศิลปะแขนงต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น รักและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา การเคารพต่อภูมิปัญญาและปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

การได้ไปสัมผัสกับ “สิมโบราณ" พร้อมๆ กับการสัมผัสถึงเรื่องราวอันเป็น “จิตรกรรมฝาผนัง" ในตัวอาคารของสิม ที่มีทั้งวิถีพุทธ วิถีพราหมณ์ วิถีสามัญชน ล้วนย่อมสามารถเป็นแรงบันดาลใจอันดี หรือการเป็นสายลมสะกิดและกระตุ้นเตือนให้นิสิตได้เกิดการทบทวนถึงความเป็นชีวิต และจุดหมายของการใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องกังขา




โครงการดังกล่าวนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้บนฐานคิดของการใช้ "ชุมชนเป็นห้องเรียน" หากสามารถบรรจุเป็น "แผนพัฒนานิสิต" อย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าจะเป็นโครงการแห่งการเรียนรู้ที่ทรงพลังสำหรับนิสิต พอถึงคราวต้องจัดกิจกรรม อาจเชื่อมโยงกับนิสิตในคณะต่างๆ ทั้งคณะที่มีวิชาชีพเกี่ยวข้อง และการเปิดรับให้ผู้นำนิสิตจากองค์กรต่างๆ ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม

ขณะเดียวกันหากสามารถกำหนดเป็นกิจกรรมหลักให้นิสิตในรายวิชา “พัฒนานิสิต" ได้เรียนรู้ ยิ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ทรงพลังได้ในอนาคต

เหนือสิ่งอื่นใด ไม่แต่เฉพาะนิสิตเท่านั้นที่ผมมองว่าได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ฯ สิ่งหนึ่งที่ผมแลกเปลี่ยนกับทีมทำงานก็คือการมีโครงการได้จัดทำเอง ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะแต่ละคน (เจ้าหน้าที่) จะได้พัฒนาระบบความคิด กลยุทธ หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการบริหารโครงการตนเองไปในตัว ไม่ใช่ก้มๆ เงยๆ ทำหน้าที่แค่กลั่นกรองให้คำปรึกษาโครงการแก่นิสิตไปวันๆ ดีไม่ดี อาจเฉื่อยชา เย็นชา และขาดแรงบันดาลใจไปในที่สุด

ครับ-ชีวิตควรต้องค้นหาแรงบันดาลใจไปเรื่อยๆ ค้นหาและสร้างแนวทางใหม่ๆ การเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ไม่ใช่จ่อมจมวันต่อวัน ชามต่อชาม เฉกเช่นที่เห็นดาษดื่นทั่วทุกองค์กร



หมายเหตุ

1.สถานที่การศึกษาเรียนรู้
1.1 วัดโพธาราม,วัดป่าเลไลย์ พระธานตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
1.2 วัดยางทวงวราราม อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

2.ภาพโดย นิสิตจิตอาสาและงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส.



หมายเลขบันทึก: 571823เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2014 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ  (ค้่)  คุณ  แผ่นดิน..(ยายธี..แวะมาคุย)..อยากไปเที่ยว..จ.มหาสารคาม..เคยผ่านไป..ก็นานๆๆๆมาแล้ว...

บังเอิญมี อ.จากมหาสารคาม..มาทำ..ดร.ทางประวัติ..ศาตร์ไทย..ที่นี่..ม.ฮัมบอรก...ชื่อ..อ.  อุศนา  นาศรีเคน..อาจารย์แผ่นดิน..รู้จักกันไหม..เจ้าคะ..(เธอพักอยู่กับ..ยายธี..น่ะค่ะ)...

(เห็นรูปเขียนบนผนัง..สวยมาก..ฝีมือ..ทีเขียนดูแปลกๆๆผิดไปจากที่เคยเห็นมา..เป็นภาพวาดสมัยใด..เคยถูกลบแล้วเขียนใหม่รึเปล่า..คะ..)...

สวัสดีค่ะ เห็นภาพเขียนบนผนัง สวยงามมากนะคะ แต่เห็นอยู่ในอาคารที่ไม่มีผนังล้อมรอบ จึงเกิดความเป็นห่วงว่าภาพจะเสียหายเสื่อมโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เพราะลมฟ้าอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิ รวมทั้งฝนจะสาดหรือไม่ มือคนที่จะไปสัมผัสก็เป็นตัวทำลายได้เช่นกัน เสาโดยรอบแสดงว่าอาคารหลังนี้เป็นของเก่า น่าจะอนุรักษ์โดยใช้ความรู้สมัยใหม่ การทำผนังปิดส้อมและควบคุมอุณหภูมิน่าจะยืดอายุภาพออกไปได้นานให้อยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน ภาครัฐและศรัทธาประชาชนน่าจะช่วยกันได้นะคะ

นี้

น่าชื่นชม...น่าสนับสนุนมากๆต่ะ..

น่าศึกษามากทั้งสองแห่งค่ะ ภาพฝาผนังสวยงามมาก เป็นห่วงเช่นเดียวกับอาจารย์กัลยา GD กลัวจะเสียหายไปกับสายลมและแสงแดด 

เจดีย์พระธาตุก็งดงามมาก ที่บ้านมีพระกรุนาดูนอยู่องค์หนึ่ง และหลวงพ่อนาคปรกนครจำปาศรี พระธาตุนาดูนอีกองค์หนึ่ง  ซึ่งชาวมหาสารคามท่านหนึ่งให้มาไว้บูชาเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ขอพระธาตุนาดูนปกป้องคุ้มครองอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท