เที่ยวญี่ปุ่นตอนที่ 10: じゃ、またね ja, matan


วันที่ 25  มิถุนายน  2557 ตื่นเวลา 05.00 น. ตรวจเช็คสัมภาระ  อาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อย  ลงมาทานอาหารเช้าที่ห้องอาหาร เสร็จสิ้นกิจกรรมที่นี่ทุกอย่างแล้ว  ขนกระเป๋าและข้าวของขึ้นรถชัตเทิ้ลบัส ออกจากโรงแรม Tokoyo เวลา  08.00 น.  เดินทางสู่สนามบินนาริตะ 

ถึงสนามบินนาริตะ  ทุกคนต้องตรวจเช็คน้ำหนักกระเป๋า เขาให้คนละ 23  กก. ทุกคนไม่เกินแต่มีใบย่อม ๆ หิ้วขึ้นเครื่องอีกคนละใบ โหลดกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว  ต่อไปผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง  ทุกขั้นตอนผ่านไปด้วยดี

ไม่มีสัมภาระให้พะรุวงพะรังแล้ว พวกเราก็เดินตามร้านดิวตี้ฟรี  ซื้อของฝากตามใบสั่งซื้อ เราต้องการของฝากประเภทเหล้าบ๊วยติดมือเป็นของฝากคนที่เมืองไทย  ได้มา 2 ขวด  ขวดละ  3000  เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 990 บาท) ไม่ถูกเลยนะ

เหล้าบ๊วยภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า umeshu (梅酒) ทำจากการแช่บ๊วยในแอลกอฮอล์ด้วยสัดส่วนหนึ่งกลายเป็นเหล้าบ๊วยที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีแอลกอฮอล์ประมาณ 10-15%รวมทั้งมีกลิ่นของบ๊วยด้วยซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ชอบแอลกอฮอล์ก็ยังติดใจในรสชาติของเหล้าชนิดนี้ (เขาว่า)  เหล้าumeshu ที่ว่านี้นิยมกันมากทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลี แต่ที่เกาหลีจะเรียกว่าmaesilju วิธีทำก็น่าสนใจมาก คือเขาจะนำเอาลูกบ๊วยสดๆมาวางเรียงสลับชั้นกับก้อนน้ำตาลกรวดในโหลดอง แล้วเทเหล้าขาว (whiteliquor) 35 ดีกรีแบบไม่มีกลิ่นลงไป แต่สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการดองก็ประมาณ 3-6 เดือน ถึง 1 ปี ค่ะ

และเค้ายังบอกอีกว่า ประโยชน์ของบ๊วยนั้นมีหลายอย่าง ทั้งแก้กระหายและรู้สึกสดชื่นกระชุ่มกระชวยดับร้อน ช่วยลดอุณภูมิในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณ ป้องกันโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารคลื่นไส้อาเจียน แถมยังมีฤทธิ์ต่อต้านแบตทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิดและยังรักษาโรคท้องร่วงเรื่อรังได้อีกด้วย ^^ประโยชน์เยอะอย่างนี้ต้องลองจิบดูบ้าง

ได้ของฝากแล้ว  อีกอย่างที่มาถึงญี่ปุ่นแล้วต้องลองชิมของแท้ นั่นคือ ทาโกะยากิ (ขนมครกญี่ปุ่น) สั่งมาสองชนิด  กินกันสี่คน  ต้องยอมรับว่าอร่อยมาก ทั้งนุ่ม  ทั้งหอม  รสชาติดี (มาถึงญี่ปุ่นแล้ว)  ออกจากร้านอาหารเข้าไปนั่งรอเพื่อจะขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย ตามกำหนดเครื่องจะออก 11.30 น. แต่เขาประกาศเครื่องช้า จะออกในเวลา  12.30 น. ถึงเวลา เหินฟ้าสู่ กรุงเทพฯ โดยสายการบินเอเชียแอคแลนด์ติกแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ HB089  กินมื้อกลางวันบนเครื่อง ระหว่างบินเก็บภาพเมฆสวย ๆ ท้องฟ้าญี่ปุ่นมาไว้ดูเล่น  เมฆสวยมาก เครื่องบิน บินเหนือเมฆ

じゃ、またね ja, matan (ลาก่อน  แล้วพบกันใหม่นะ)

17.00 น.  ถึงสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ 6 ชั่วโมง กับอีก 30 นาที เครื่องออกช้า 1 ชั่วโมง  แต่ถึงที่หมายตามกำหนดเวลาเดิม

สิ่งที่ประทับใจเมื่อไปญี่ปุ่น

1.รถไฟมาตามเวลา ที่เรียกว่าตามเวลาที่บอกน่ะ รถไฟปิดประตูแล้วนะ ถ้าเรามาตรงเวลาในตารางเวลารถไฟ แปลว่าเราตกรถแน่นอน

2. ผลไม้อร่อย (มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีรสชาติอร่อย) ขนาดมะเขือเทศ ยังมีอาจารย์คนไทยมาแล้วขอไปซุปเปอร์มาเก็ตเพื่อซื้อกลับไทย บอกว่ามะเขือเทศที่ญี่ปุ่นหวานดี ผลไม้อื่นๆ ก็ไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะสตอเบอร์รี่ของญี่ปุ่น อร่อยเป็นที่สุด

3. ตู้ขายของอัตโนมัติมีทุกซอกทุกมุม คงไม่มีชาติใดที่มีตู้ขายของอัตโนมัติ (โดยเฉพาะขายน้ำ) เยอะเท่าญี่ปุ่นอีกแล้ว

4. โถส้วมเป็นระบบฉีดชำระอัตโนมัติ (washlet) เรื่องสิ่งประดิษฐ์เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันต้องยกให้ญี่ปุ่น

5. น้ำประปาดื่มได้ อันนี้คนจากประเทศพัฒนาแล้วอาจจะไม่ตกใจเท่าไร คนจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็ยังต้องใช้เครื่องกรองหรือต้องต้ม ก่อนกิน เพราะยังไม่ชิน

6. น้ำชาไม่หวาน โดยเฉพาะคนไทยต้องตกใจมากๆ แน่ เหมือนกับที่คนญ๊่ปุ่นเจอน้ำชาเขียวหวานๆ ของไทยไป ช้อคไปตามๆ กัน

7. แผนผังรถไฟในโตเกียวมีความซับซ้อนมาก

8. เหรียญ 5 เยน และ 50 เยน มีรูตรงกลาง จำได้ว่าไม่ตกใจ เพราะสมัยประถม เรียนเกี่ยวกับเหรียญพดด้วง ก็จำได้ว่ามีรูตรงกลางเหมือนกัน สงสัยประเทศอื่นๆไม่มี

9. ต่อแถวเวลารอขึ้นรถไฟ อันนี้บ้านเราก็พัฒนาเป็นแบบเขาแล้ว ถึงแม้จะเป็นแค่รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินก็ตาม น่าภูมิใจจริงๆ

10. ฝารองนั่งโถส้วมอุ่น ยิ่งเวลาหน้าหนาว รู้สึกขอบคุณมันมากๆ ทำให้เวลาเข้าห้องน้ำมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

11. บ้านเมืองมีความปลอดภัยสูง เวลาค่ำคืนสามารถเดินออกไปได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ต้องระวังตัวกันมากขึ้น

12. มีห้องน้ำแบบนั่งยองๆ อันนี้ สำหรับคนไทยก็ไม่แปลกเนอะ จะแปลกก็ตรงวิธีนั่ง ตรงกันข้ามกับคนไทย เราจะเอารูส้วมไว้ด้านหลัง แต่ของญี่ปุ่นไว้ด้านหน้าน่ะสิ ตอนแรกๆก็ไม่รู้ นั่งแบบไทยไปเนี่ยแหละ 555

ขอบคุณคุณยุ้ย...Miracle Tour ที่มอบสิ่งดี ๆ ให้คณะของเรา

どうも ありがとう ございます。(โด-โมะ อา-ริ-กา-โต โกะ-ซา-อิ-มาซ) :: ขอบคุณมากค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 571579เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2014 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท