moon
นันท์ธนัตถ์ จิตรประภัสสร

ความหวังของคำกลิ้ง และการค้นพบ(ของฉันเอง)


บ่ายวันที่ 16 ตุลาคม 2549 ที่อุทยานการเรียนรู้ ปางจำปี กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

            พวกเราภาคี สรส.ได้รับโจทย์จากพี่ทรงพล เจตนาวณิชย์ที่เคารพ ให้เขียนเรื่องเล่าคนละ 1 เรื่อง (เท่านั้น!) จากประสบการณ์ของตนเองในเรื่องการจัดการความรู้ โดยเฉพาะที่แลกเปลี่ยนกันไปในระดับต่างๆ (ระดับบุคคล กลุ่ม ชุมชน องค์กร) ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงเมื่อเช้านี้ แถมให้มีการฝึกเขียนแบบมีบรรยากาศประกอบ (ในเรื่อง) ด้วย

            ฉันกำลังอยู่ในอาการกังวลเนื่องจากยังมีงานเอกสารที่ชำระสะสางไม่แล้วเสร็จ พอมีเรื่องใหม่ที่ต้องเขียนในเวลาอันสั้น (ก่อนข้าวเย็นด้วยนะ) ก็เกิดการวิตกจริต คิดไม่ออก เลยเดินตามพ่อหลวงเมือง(สุจิต ใจมา) ของปางจำปีไปดูปลาในลำห้วย

            พ่อหลวงมีอาหารปลาไปหนึ่งกะละมัง ฉันควักอาหารกำใหญ่เหวี่ยงไปในน้ำ โอ้โฮ! ปลากระโดดขึ้นมากินกันผลุบผลับ สลับกันพลิกตัวฮุบอาหารเห็นท้องขาววาบๆ เต็มไปหมดเหมือนกำลังแสดงบัลเล่ต์ในน้ำ มีปลามากมายหลายชนิด(ดูจากรูปร่างหน้าตาที่ต่างกัน) เผอิญเป็นชนิดที่ฉันไม่รู้จัก เลยบอกเล่าไม่ได้ รู้แต่กินได้ เพราะพ่อหลวงเมืองบอก ฉันคิดว่ามันคงอร่อย เพราะลำธารสะอาดไร้สารพิษ (สำหรับเรื่องกิน จินตนาการอาจสำคัญกว่าความรู้ แฮ่ะๆ )

            ทำไมปลาถึงมาชุมนุมอยู่ตรงแอ่งนี้มากมาย พยายามว่ายต้านแรงไหลของน้ำตก ทั้งที่มีแอ่งข้างล่างที่กว้างกว่า ลึกกว่า ฉันคิดว่าปลามันคงมีการจัดการความรู้ของมัน จะเป็นระดับปัจเจก ระดับกลุ่ม หรือชุมชนก็ไม่แน่ใจ แต่มันคงไม่ต้องมานั่งเขียนอะไรในเวลานี้แน่ๆ

           ฉันใช้เวลาอยู่ในน้ำ(ครึ่งน่อง) ดูผีเสื้อปีกสีน้ำเงิน กับแมลงปอสีแดง(แมลงปอเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มดัชนีชี้วัดความสะอาดของแหล่งน้ำ)  และดูเฟิร์นใบแปลกๆ อยู่พักใหญ่ กลับจากลุยลำน้ำใสเย็น(เห็นตัวปลา) ฉันก็ได้เรื่องเล่าต่อไปนี้มาแลกกับเพื่อนๆ

.......................

  

กาลครั้งหนึ่ง มีหมู่บ้านเล็กๆ โอบล้อมด้วยท้องฟ้าสีครามและภูเขาสีเทาที่ขมุกขมัวด้วยสายหมอก มีลำธารสายเล็กๆ ไหลมาจากดอยสูง บ้านไม้หลายหลังมีเถากุหลาบเลื้อย บางบ้านมีดาวเรืองสีเหลืองละออ บางบ้านเห็นดอกสะเลเตชูช่อสะพรั่งอยู่ริมรั้วไม้ไผ่ติดชายน้ำ เดินตามถนนดินสีแดงได้เห็นรอยยิ้มทักทายตลอดรายทาง

หมู่บ้านเล็กๆ ที่น่ารักราวกับหมู่บ้านในนิทานนี้ แทรกซุกอยู่ในส่วนหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายฉันเดินบนสะพานไม้ไผ่เล็กๆ ที่พาดผ่านลำธารเพื่อแวะไปที่บ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านของคำกลิ้ง เด็กหนุ่มล้านนาที่มีรอยยิ้มสดใสและดวงตาเปล่งประกายความสุข บ้านน้อยของคำกลิ้งอยู่บนลานดินเกลี้ยงสะอาด ดอกบัวละวงสีสดสะพรั่งอยู่ริมธารใส เลยเข้าไปเป็นลานกว้าง มีใบยาสูบตากอยู่เต็ม ชาวบ้านล้อมวงช่วยกันคัดแยกใบยาก่อนเข้าโรงบ่ม คำกลิ้งมีส่วนช่วยบ้างบางเวลาที่ไม่ได้เรียนหนังสือผมเรียน กศน.จะจบม.สามแล้วคำกลิ้งเคยบอกอย่างภาคภูมิใจ ในวันแรกๆ ที่ฉันเข้าไปเยี่ยมและเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย คำกลิ้งอยากเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์  เฮาเลือกเกิดบ่ได้ แต่เฮาจะเลือกเป็นจะใดอยู่ที่ตัวเฮา แม่ของคำกลิ้งบอก นางหวังเพียงว่า วันที่ต้องจากไป จะแน่ใจว่าลูกของนางอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขแม้คำกลิ้งจะมีร่างกายท่อนล่างที่ลีบเล็ก ขาทั้งสองข้างงอพับอยู่ในท่านั่ง ไม่อาจเหยียดออกได้อย่างถาวร แต่คำกลิ้งมีสองแขนที่แข็งแรง สามารถยันพื้นพาตัวเองไปไหนๆ เขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือเก่ง ก่อไฟนึ่งข้าวได้อย่างแคล่วคล่อง ตอกตะปูซ่อมโต๊ะเก้าอี้ได้ไม่แพ้ใคร แถมยังกวาดลานบ้านได้เกลี้ยงสะอาดอย่างที่เห็นทุกครั้งวันที่ฉันแวะเข้าไป คำกลิ้งนั่งอยู่ในท่าเดิมที่คุ้นตาและยกมือไหว้ด้วยรอยยิ้ม เขากำลังนั่งทำการบ้าน พร้อมๆ กับเตรียมก่อไฟเตาให้พ่ออุ๊ยปิ้งปลา เขาบอกว่าถ้าสอบม.สามเสร็จ ได้ใบประกาศฯ ก็จะไปสมัครเรียนช่างซ่อม

            “ถ้าเรียนซ่อมเครื่องยนต์จบแล้ว คำกลิ้งจะทำอะไรเป็นอย่างแรก ฉันถาม สบายใจไปกับรอยยิ้มเจิดจ้าบนใบหน้าหนุ่มน้อย

นั่นน่ะ คำกลิ้งชี้ไปที่กองเหล็กอะไรสักอย่างใต้ถุนบ้าน เครื่องรถเก่า ผมไปขอที่เขาทิ้งๆ มาเก็บไว้ จะเอาไว้ทำรถเครื่องของผมเอง บังคับด้วยมือ จะไปไหนๆ ได้หมดเลย ไปไกลๆ ก็ได้ จะได้ไปซ่อมรถหรือซ่อมอะไรๆ ให้เขาตามบ้าน เห็นทีแม่อุ๊ยคงได้ตายตาหลับ ชีวิตไม่ใช่เรื่องทุกข์ยากเมื่อคำกลิ้งไม่ได้มีแค่สองมือที่แข็งแรง แต่ยังมีหัวใจที่แข็งแกร่ง ใฝ่เรียน ใฝ่รู้  ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นคนที่มีความสุข

…………..

เรื่องของคำกลิ้ง เป็นหนึ่งในหลายเรื่องของสมาชิกกลุ่มผู้พิการในชุมชนแห่งนี้ รอยยิ้มของคำกลิ้งเจิดจ้าขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ได้มีองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาสังคมเข้ามาช่วยผลักดันให้กลุ่มได้เห็นคุณค่าในตัวเองและเห็นทางออกในการดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง            ก่อนหน้านี้ ผู้พิการและทุพพลภาพในชุมชนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่ว่าจะเป็นอ้ายชิต ลูกชายผู้ใหญ่บ้านที่สมองพิการ เคลื่อนไหวไม่ได้และพูดไม่ชัด หรืออ้ายอุดม อดีตพลทหารที่ถูกกับระเบิดขาขาด พี่สมพิศที่ยังหางานทำไม่ได้เพราะเป็นโปลิโอ หรืออ้ายสมโชคที่ประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียขาไปพร้อมๆ กับการงานอาชีพและความมั่นใจในชีวิตในฐานะหัวหน้าครอบครัว ดูเหมือนเป็นเรื่องแปลกที่ตำบลเล็กๆ มีผู้พิการอยู่จำนวนมาก แต่ความจริงเป็นเรื่องปกติ หากสำรวจกันจริงๆ จะพบว่าในชนบทหลายๆ พื้นที่ มีจำนวนผู้พิการและไร้สมรรถภาพในการทำงานทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อยเลย            เมื่อทำการสำรวจข้อมูลด้วยการพูดคุยรายบุคคลอย่างเป็นธรรมชาติในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ ฉันพบว่า ผู้พิการเหล่านี้มีทุนความรู้ความสามารถในตัวเองมากมาย แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความมั่นใจที่จะแสดงความสามารถ ความภูมิใจที่จะได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว จากสมาชิกร่วมชุมชน และโอกาสที่จะได้เติบโตไปในเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง            การเยี่ยมเยียนพูดคุยรายบุคคล คุยในครอบครัว และรวมตัวคุยกันในกลุ่มย่อย เป็นกระบวนการสำคัญที่ค่อยๆ ดึงความมั่นใจในตัวเองของพวกเขากลับมานึกถึงครั้งหนึ่งที่เรานัดคุยกลุ่มย่อยผู้พิการจากหลายๆ หมู่บ้านมาคุยกันที่วัดประจำตำบล มีผู้พิการหลากหลายวัยมาด้วยหน้าตายิ้มแย้ม บางคนมีญาติอุ้มมาส่ง บางคนเข็นรถพาตัวเองมา หลายคนบอกว่า ไม่เคยได้นั่งคุยกันอย่างนี้ รู้สึกดีที่ได้มาแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก และความหวัง เพราะอยู่คนเดียวก็ทุกข์คนเดียว แต่พอมาเจอหลายคนที่ทุกข์เหมือนกัน กลับน่าแปลกที่ทุกข์ของแต่ละคนดูเหมือนจะลดลง ขณะเดียวกันก็มีกำลังใจเข้ามาแทนที่ความท้อถอย เมื่อมีกำลังใจ ก็มีพลังที่จะคิดค้นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาดู และสิ่งที่ตามมาติดๆ คือความภูมิใจในตัวเอง             การรวมกลุ่มผู้พิการอย่างสม่ำเสมอนำไปสู่การคิดวางแผนและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เพื่อแสดงศักยภาพ ทักษะความสามารถ และคุณประโยชน์ในฐานะทรัพยากรบุคคลของชุมชนที่พึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม เมื่อพ่อแม่ ครอบครัว และชุมชนเกิดความเข้าใจและให้โอกาส การเติบโตทางความคิดและการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาตนเองก็งอกงามขึ้นเป็นลำดับ คนที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นตัวอย่างของกลุ่ม หลายคนกลายเป็นแกนนำในการส่งเสริมศักยภาพผู้พิการในชุมชนของตนเอง            ครั้งหลังสุดที่ฉันเข้าไปเยี่ยมคำกลิ้ง นอกจากหนุ่มน้อยที่กำลังจะเรียนจบม.สาม ฉันยังได้ข่าวดีว่า อ้ายชิตกำลังตั้งหน้าตั้งตาเรียนเขียนอ่านจากการกดแป้นคอมพิวเตอร์ด้วยนิ้วเดียวที่ใช้การได้ (ภายใต้การสนับสนุนของพ่อผู้ใหญ่)  อ้ายอุดมได้เพื่อนบ้านช่วยต่อรถเครื่องที่ขับด้วยมือให้แกได้ขับไปรับไอศกรีมมาขายตามโรงเรียน พี่สมพิศได้เป็นครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอ การนั่งสอนบนรถเข็นไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับครูสมพิศเท่ากับจะทำอย่างไรให้เด็กสนุก ส่วนอ้ายสมโชคได้รับโอกาสจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ ให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลช่วยเตรียมอุปกรณ์และพันสำลี วันที่ฉันเข้าไปเยี่ยมบ้าน อ้ายสมโชคกำลังถอดขาเทียมและนั่งเล่นกับลูกสาวอยู่ที่ชานเรือน ใบหน้าที่เคยหมองดูดีขึ้นเล็กน้อย แกบอกว่า ยังกังวลเรื่องค่าเล่าเรียนของลูก แต่ก็จะพยายามต่อไป ฉันหวังว่าใบหน้านั้นจะยิ้มได้อย่างเต็มที่ในวันหนึ่งข้างหน้าเรื่องของคำกลิ้งและเพื่อนๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เห็นผลของการจัดการตัวเองอย่างเหมาะสม ด้วยการสนับสนุนของพลังกลุ่ม ยังมีสมาชิกในกลุ่มผู้พิการอีกหลายคนที่ยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูตัวเอง แต่ฉันหวังว่า ภายใต้ความเข้าใจของครอบครัวและชุมชนที่ไม่ปิดกั้นความสามารถของผู้พิการ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไปไม่สิ้นสุด แล้วก็ยังหวังอีกว่า จะมีอีกหลายๆ ชุมชนที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองได้เช่นเดียวกับหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้.............................เรื่องทั้งหมดที่เล่ามา เกิดขึ้น ราวๆ ปี 2540 ในช่วงที่ฉันทำงานสรุปบทเรียนด้านการเรียนร่วม (เด็กพิเศษในโรงเรียนปกติ) ให้กับองค์การช่วยเหลือเด็กแห่งสหราชอาณาจักร หรือ Save the Children UK อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อได้มาอยู่ในบรรยากาศของดอยสูงและฟ้าสีครามกับลำธารใสๆ อีกครั้ง ที่ปางจำปี กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กับเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการเรียนรู้ระดับกลุ่มของภาคี สรส. ฉันค้นพบ(ด้วยความอัศจรรย์ใจ)ว่า นอกจากภาพรอยยิ้มแจ่มใสของคำกลิ้งและรสหวานเย็นของไอศกรีมในถังของอ้ายอุดมที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำแล้วฉันยังได้พบว่า เรื่อง KM (การจัดการความรู้) ที่คิดกังวลมาตลอดว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ และไปไม่ถึง (สักที) นั้น แท้จริง อาจเป็นเรื่องที่ฉันได้เคยสัมผัสมาแล้ว (และกำลังเรียนรู้อยู่) ตลอดชีวิตก็เป็นได้  นันท์ธนัตถ์ จิตรประภัสสร

ผู้จัดการโครงการโรเรียนพ่อแม่

ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

สรส.ภาคกลาง 16 ตุลาคม 2549

ปางจำปี เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 57104เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ดีใจมากครับที่ได้อ่านเรื่องนี้
  • ขอบคุณมากครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท