หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เปิดตัวว่าด้วยเรื่องโภชนาการสำหรับนักเรียน


นิสิตได้มีบทบาทในการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองอยู่ค่อยข้างมาก (นิสิตเป็นศูนย์กลาง : Learner-centered) มีครูคอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลั่นกรองให้ข้อเสนอแนะ (Facilitator) และคอยสร้างความเชื่อมั่นให้นิสิตได้นำความคิดของตนเองไปสู่การปฏิบัติจริง

เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗  ผมและทีมงานมีโอกาสลงชุมชนร่วมเรียนรู้กับอาจารย์และนิสิตโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ของหลักสูตรโภชนาการและความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการส่งเสริมโภชนาการสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด” ณ ตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

             โครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่เพิ่งจัดขึ้นใหม่ในปีนี้ (๒๕๕๗)  แต่เป็นโครงการต่อเนื่องในภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคมมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖  เมื่อนับการขับเคลื่อนในปีนี้จึงเป็นการขับเคลื่อน ๓ ปีต่อเนื่อง
             การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้  ถือเป็นกลยุทธ์อันสำคัญที่มุ่งมั่นก่อให้เกิดความเข้มแข้งและยั่งยืนตามหลักคิดการบริการวิชาการแก่สังคมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” (Service Learning)  เป็นการเรียนรู้ผ่านมิติการใช้ "ชุมชนเป็นฐาน"   และสังเคราะห์ข้อมูล  หรือประมวลสถานการณ์ชุมชนไปสู่การ "สร้างกิจกรรม" เพื่อแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน”




                ย้อนกลับไปสู่ปี ๒๕๕๕  จะเห็นได้ชัดว่าหลักสูตรดังกล่าวมุ่งขับเคลื่อนเรื่อง "มาตรฐานร้านค้าแผงลอย"  ในชุมชนเป็นหัวใจหลัก  ผ่านการทำงานร่วมกับแกนนำชุมชน รพ.สต. อสม. รวมถึง อบต.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม

                กระทั่งปี ๒๕๕๖ จึงขยับออกจากกลุ่มแม่ค้ามาสร้างแกนนำในกลุ่ม “อสม” ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยหมายใจว่าเมื่อมหาวิทยาลัยถอนตัวออกจากชุมชน กลุ่ม อสม. จะเป็นทีมหลักในการดูแลป้องปราม หรือแม้แต่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยตนเองร่วมกับ "ภาคี-ภาคส่วน" ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็มองว่ากระบวนการต่างๆ  ได้ถูกออกแบบไว้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว หรือเรียกว่าเดินทางมาอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ผิด




ปี ๒๕๕๗ : ต่อยอด สะสาง (ไม่ใช่เริ่มต้นใหม่ในเรื่องเดิมๆ)

               การทำงานในปี ๒๕๕๗ ; เท่าที่ผมลงพื้นที่สัมผัสด้วยตนเองผ่านกิจกรรม (หน้างาน) ที่นิสิตได้ลงแรงปฏิบัติในชุมชน โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ สิ่งที่ผมสัมผัสได้อย่างชัดแจ้งและน่ายินดีมีหลายประเด็น อาทิ
                    (๑) มีกระบวนการหยิบจับข้อมูลเดิมในรอบ ๒ ปีมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงบริบทและสถานการณ์ด้านสุขภาวะของชุมชน
                   
(๒) มีกระบวนการพานิสิตลงสำรวจข้อมูลเบื้องต้นร่วมกับอาจารย์เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการก่อนปิดภาคเรียนปลายที่ผ่านมา โดยเดินเท้าสำรวจข้อมูล ประชุมแกนนำที่มีทั้งผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. กลุ่ม อสม. คณะครู
                   (๓) มีเวทีสะท้อนข้อมูล เพื่อร่วมตัดสินใจ หรือร่วมออกแบบกิจกรรมที่จะมีขึ้นร่วมกัน





นอกจากนี้ ปากคำของนิสิตยังตรงกับข้อมูลที่คณะอาจารย์ได้บอกเล่ากับผมว่าการงานในครั้งนี้นิสิตใน "รุ่นปัจจุบัน" (ชั้นปีที่ ๔)  ยังได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดา "นิสิตรุ่นพี่"  โดยเฉพาะ “พี่รหัส” ที่จบไปแล้วได้คอยให้คำแนะนำกับรุ่นน้องอยู่อย่างสม่ำเสมอ  มีการบอกเล่า "ข้อมูลชุมชน" และ "ข้อมูลกิจกรรม"  ในปีที่ผ่านๆ มาอย่างต่อเนื่อง เสมือนการ “ทวนบทเรียน” ให้กับรุ่นน้องไปในตัว
                   กรณีเช่นนี้ ผมมองว่านี่คือระบบการเรียนรู้ที่มีพลังของ “ศิษย์ปัจจุบันกับศิษย์เก่า” ที่หลักสูตรอื่นๆ ควรตระหนักและเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างโครงข่ายการเรียนรู้
                  
เพราะนี่คือสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบสายสัมพันธ์ในหลักสูตรของชาวอุดมศึกษาที่มีค่ามากกว่าการ “ร้อง-เต้น-กิน-เที่ยว” ของ “พี่รหัส-น้องรหัส”  หรือกระทั่งการทะลุถึงมิติของความรู้ที่ถูกค้นพบแล้วส่งต่อจาก “รุ่นสู่รุ่น” (พี่สอนน้อง) มิใช่การค้นพบความรู้แล้วเก็บเข้าลิ้นชัก หรือชั้นหนังสือในคณะที่ยากยิ่งต่อการแตะต้องสัมผัส 
                  การถ่ายทอดหนุนเสริมกันเช่นนี้  ส่วนตัวผมมองว่า  นี่คือคุณค่าและความหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่มีอะไรเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว  ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไปในมิติสังคม  เมื่อได้มาจึงเป็นหน้าที่ที่ต้องส่งมอบ หรือส่งต่อไปยังคนอื่น  เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งการการดำรงอยู่-ต่อยอด และสะสาง  โดยมีหมุดหมายหลักคือการพัฒนาระบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน




ปี ๒๕๕๗ : ออกแบบกิจกรรม (คิด-ลงมือทำ-ติดตาม)
         
จากการสัมภาษณ์ต้นธารของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดว่า “คณะผู้สอน” ได้เตรียมนิสิตรุ่นนี้มาเป็นอย่างดีตั้งแต่ปี ๒๕๕๖  โดยให้นิสิตรุ่นนี้ลงพื้นที่ร่วมกับรุ่นพี่ แต่ไม่ใช่ให้ลงพื้นที่ในสถานะของ “ตัวละครเอก” (พระเอกนางเอก)   เพราะกำหนดบทบาทให้เป็นเพียง “ผู้ช่วย” ของรุ่นพี่เท่านั้น
                 ส่วนตัวละครเอกที่เป็นพระเอกและนางเอกตัวจริงเสียงจริง  จะเป็นใครอื่นไม่ได้  นอกจากนิสิตรุ่นพี่และชาวบ้าน

                  แนวทางดังกล่าวนี้ คือการวางระบบการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้า   ซึ่งดำเนินการในทำนองนี้มาร่วม ๒ ปี เป็นการวางระบบการเรียนรู้ภายใต้วิชา “โภชนาการชุมชน”  ผมเองก็มองว่ากระบวนการเช่นนี้กำลังพัฒนาไปสู่การสร้างเป็น “วัฒนธรรม”  ในรายวิชานี้โดยปริยาย ไม่ใช่รอให้ถึงเวลาเรียน “ค่อยเรียนค่อยปฏิบัติ” หากแต่มีกระบวนการกระตุ้นให้เกิดความสนใจที่จะลงพื้นที่ร่วมกับรุ่นพี่เป็นระยะๆ เสมือนการเรียนล่วงหน้าที่ง่ายต่อการเข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อต้องเรียนในวิชาดังกล่าวในปีถัดมา




สำหรับการพูดคุยกับนิสิตหลายๆ คนในครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นถึงระบบความคิดในการลงสู่ชุมชนที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

              (๑) นิสิตลงสู่ชุมชนด้วยความเป็นทีม ไม่มีใครไม่ลงชุมชน แต่เป็นการลงทั้งระบบ ลงทั้งชั้นเรียน
              (๒) มีกระบวนการโหวตคัดเลือกประธานค่าย โดยไม่จำกัดว่าหัวหน้าชั้นต้องเป็นประธานค่ายเสมอไป รวมถึงมีประธานฝ่ายต่างๆ เหมือนค่ายอาสาทั่วไป จึงนับเป็นการวางระบบการทำงานเป็นแผนกๆ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ความเป็นผู้นำไปพร้อมๆ กัน
             (๓) มีระบบการแบ่งงานตามช่วงชั้นของโรงเรียน มีใบงานที่ชัดเจนว่าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละแผนกต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง นับตั้งแต่บริบทอันเป็นสภาพทั่วไปของโรงเรียนและชุมชน ข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาวะของนักเรียนผ่านการสังเกตและผ่านแบบสำรวจที่ถูกออกแบบจากตรรกะทางวิชาชีพ อ้างอิงจากกรมอนามัยและผ่านการตรวจทานของอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง
             (๔) มีกระบวนการออกแบบกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างบรรยากาศของการเป็นกันเอง ระหว่างนิสิตกับนักเรียนผ่านแนวคิด “บันเทิงเริงปัญญา”
             (๕) มีกระบวนการติดตามพฤติกรรมของนักเรียนเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ระยะหนึ่งสัปดาห์ไปสู่ระยะหนึ่งเดือน ผ่านนักเรียนโดยตรง ผ่านครูประจำชั้น และผ่านผู้ปกครองอย่างเป็นระบบ





กระบวนการที่ถูกออกแบบข้างต้น ได้สื่อให้เห็นว่านิสิตได้มีบทบาทในการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองอยู่ค่อยข้างมาก (นิสิตเป็นศูนย์กลาง : Learner-centered)  มีครูคอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลั่นกรองให้ข้อเสนอแนะ (Facilitator)  และคอยสร้างความเชื่อมั่นให้นิสิตได้นำความคิดของตนเองไปสู่การปฏิบัติจริง  ทั้งการปฏิบัติในเชิงเดี่ยว-เชิงกลุ่ม หรือแม้แต่การปฏิบัติการร่วมกับนักเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศ หรือสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนผ่านกลไกของการ “ลงมือทำ”(Learning by Doing)





ปี ๒๕๕๗ : CBL&PBL

                    เท่าที่สังเกตกระบวนการผ่านสถานการณ์จริง และผ่านการสัมภาษณ์นิสิต สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจนก็คือโครงการดังกล่าวนี้ได้ขับเคลื่อนด้วยหลักคิดของการใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” (Community-based learning : CBL) เนื่องเพราะกระบวนการทั้งปวงเริ่มต้นจากการฝังตัวในชุมชน เรียนรู้ต้นทุนของชุมชน (Capital Social) วิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย สังเคราะห์สถานการณ์สุขภาวะชุมชน  นำทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชนมาต่อยอดเป็นโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน หรือที่เรียกว่าจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Project base learning & Activity Based Learning) หรือ PBL นั่นเอง





การเรียนรู้ชุมชนในมิติ CBL ไม่ใช่มานับเอาปีนี้เป็นต้นธารของการต่อยอดสู่ PBL หากแต่หมายถึงการฝังตัวเรียนรู้และขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ หรือก่อนนั้นในรูปแบบกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจารย์ในหลักสูตรได้ลงขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนมาก่อนหน้านี้ 

                แต่สิ่งที่ชี้ชัดว่าได้มีการหยิบจับข้อมูลมาสู่การปฏิบัติจริงก็คือการเห็นพ้องตรงกันระหว่างมหาวิทยาลัย,ชุมชน (ครู,อสม,รพ.สต.) ว่า “นักเรียนมีปัญหาเรื่องสุขภาวะ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบันในโรงเรียน ข้อมูลดังกล่าวจึงถูกแปลงมาสู่โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในปี ๒๕๕๗

               และในระยะต้นนี้ ทั้งนิสิตและอาจารย์ หรือแม้แต่คณะครูก็ดำเนินการมาถูกทางแล้ว กล่าวคือ ในระยะต้นน้ำ (มิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๕๗) ยังคงมุ่งมั่นต่อการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียน สำรวจประเมินสุขภาวะของโรงอาหาร ห้องสุขา ถังน้ำดื่ม...
              เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลนี้แล้ว  ย่อมนำไปสู่การวิเคราะห์สังเคราะห์ร่วมกับผู้มีส่วนร่วม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อื่นๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรม (Project base learning) ร่วมกันอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องและมีพลัง (เกาให้ถูกที่คัน) กันต่อไป




ส่งท้าย
               นี่เป็นเพียงระยะเริ่มต้นการเรียนรู้คู่บริการตามโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตรโภชนาการและการความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์
              ในความเป็นจริง จะว่าไปแล้ว ระยะทางยังยาวไกลนัก   แต่ต้องชื่นชมว่าเริ่มต้นกันได้อย่างน่ายกย่อง  เพราะถึงแม้จะยังไม่เปิดเรียน นิสิตร่วม ๕๐ คนก็พร้อมใจยกชั้นเรียนมาขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกันอย่างไม่อิดออด
              ความไม่อิดออดที่ว่านั้น ได้สะท้อนภาพความใส่ใจใคร่รู้ (เรียนรู้) ของนิสิต
             
เป็นการเรียนรู้ที่สื่อให้เห็นถึงพลังจิตอาสา (จิตสาธารณะ) ที่มีอยู่ในตัวตนของแต่ละคน 
             เป็นการเรียนรู้ที่ฉายให้เห็นถึงมิติความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่าง “เพื่อนกับเพื่อน” 
             รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “นิสิตกับอาจารย์” หรือกระทั่ง “นิสิตกับชุมชน” ตามครรลองหลักคิดอันเป็นปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) และอัตลักษณ์นิสิต (การเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 571028เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2014 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 นักเรียนมีปัญหาเรื่องสุขภาวะ

ผู้ที่ใกล้ชิดกับนักเรียนน่าจะเรียนรู้ข้อมูลได้ดีที่สุด

โครงการนี้จึงน่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง

เป็นกำลังใจ ส่งแรงเชียร์ให้นะครับ

นักเรียนได้เรียนรู้โภชนาการ

นิสิตได้เรียนรู้ชุมชนมากกว่า การเต้น กินเที่ยว

ดีใจที่พบกิจกรรมแบบนี้

นับว่าจะหายากแล้วครับ

ขอบคุณสำหรับกิจกรรมดีๆครับ

ชื่นชมกระบวนการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองดีเพื่อสังคมเช่นนี้มากๆ เป้นกำลังใจให้ค่ะ

...ด้วยความชื่นชม และขอเป็นกำลังใจค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท