​สิ่งที่พบเห็น และรับรู้ : โรงเรียนคุณธรรม


เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๖ - ๒๕๕๙ ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓  ซึ่งรับผิดชอบติดตามดูแลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  มีจังหวัดลพบุรี  สิงห์บุรี  อ่างทอง  ชัยนาทให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานสถานศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

โครงการนี้กระทรวงศึกษาธิการ  มีจุดประสงค์ยกย่องเชิดชูสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนา ปลูกฝังคุณธรรม  ได้ประสบผลสำเร็จ  ตามคุณธรรมพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ๘ ประการ ได้แก่ ขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์  มีวินัย สุภาพ  สะอาด  สามัคคี  มีน้ำใจ

.

ในการประเมินครั้งแรก  ทางสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓ ได้ให้ศึกษาเอกสาร  ชมวีดิทัศน์ที่แสดงถึงวิธีการกิจกรรม หรือกระบวนการพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของสถานศึกษาต่างๆ ที่ส่งเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๓๓ โรงเรียน  ในปีต่อมาก็มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้นตามลำดับ

แต่...จากการศึกษาเอกสาร  ชมวีดิทัศน์ที่สถานศึกษาส่งมาทุกปี พบว่า สถานศึกษาส่วนมาก “เข้าใจผิด” และ “หลงทาง” หลายประเด็น ดังนี้

  • ไม่เข้าใจว่า "คุณธรรม"  คือ อะไร  หรือไม่รู้จะดูจากตรงไหนถึงจะรู้ว่าเป็นคุณธรรม
  • นำเอาผลที่ได้แค่ "ค่านิยม" หรือ “จริยธรรม” มาเสนอเป็น “คุณธรรม”
  • ไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างจริงจังต่อเนื่องหลายปี ให้กลายเป็นกิจกรรมประเภท "กิจวัตร" 
  • ทำกิจกรรม “เฉพาะกิจแต่ละปี” ขึ้นมารองรับโครงการส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม
  • คิดว่า "กิจกรรมทางศาสนา"  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง
  • ทำกิจกรรมเพื่อให้แต่นักเรียนทำ   แต่ครูไม่ต้องทำหรือไม่ต้อง “เป็น”
  • มุ่งแต่ทำกิจกรรมด้วยความศรัทธาหรือใจอยากทำ  แต่ทำอย่างไม่เป็นระบบ  หรือมีกระบวนการ/ขั้นตอนตามแนวคิดหรือทฤษฎีใดๆ ที่จะดำเนินการให้เกิด "เป็นคุณธรรม"  จริงๆ  

“ถ้าเริ่มต้นผิด  เข้าใจผิด  สิ่งที่ทำจึงเหนื่อยเปล่า  เพราะไม่เกิดผลตามที่ต้องการ”


ต่อมาคณะกรรมการได้ไปเยี่ยมเยือนสถานศึกษาต่างๆ ทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ  โดยไม่ได้นัดหมาย หรือแจ้งให้สถานศึกษาทราบล่วงหน้า  เพื่อจะได้เห็นสภาพจริง จะเรียกว่าเป็นการ “ประเมินตามสภาพจริง” ก็ย่อมได้  ทั้งเยี่ยมชมการดำเนินการของสถานศึกษาและกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดขึ้นเพื่อส่งเสริม พัฒนา ปลูกฝังคุณธรรม  อีกส่วนหนึ่งได้ขอความอนุเคราะห์ครู ผู้บริหาร และนักเรียนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรมด้วย  
.
ผลปรากฏว่าสถานศึกษาหลายแห่งเป็นไปตามที่ผม และคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตไว้  โดยสถานศึกษาหลายแห่ง  ผมและคณะกรรมการเข้าไปก่อนเคารพธงชาติบ้าง  ในระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวันบ้าง  บางครั้งเข้าไปขณะสถานศึกษากำลังเลิก  ทำให้ประจักษ์ชัดว่า  สถานศึกษาหลงทางไปทำ “กิจกรรมส่งเสริม” มากกว่าที่ตั้งใจพัฒนา คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ในลักษณะ "ปลูกฝัง" ให้ "เป็น" คุณธรรม หรือจริยธรรมจริงๆ

.

การไปเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือนัดหมายก่อน  ทำให้เห็นสภาพจริงว่า  สถานศึกษาและตัวบุคลากร นักเรียนเป็นอย่างไรทั้งสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่  บุคลิกพฤติกรรม ส่วนมากจะไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย แม้แต่ในห้องเรียน  นักเรียนยังส่งเสียงดัง วุ่นวาย  ไม่สะอาด  โต๊ะเรียนค่อนข้างสกปรก มีแต่รอยขีดเขียน ขยะเกลื่อนห้อง แถมกระดานดำ และโต๊ะครูบางแห่งสกปรกมากก็มี   

แต่...มีสถานศึกษาที่น่าชื่นชม และประทับใจอยู่หลายแห่ง  เช่น โรงเรียนบรรจงรัตน์ ลพบุรี, โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำนารายณ์, โรงเรียนอัสสัมชัญ ลพบุรี,  โรงเรียนเมืองละโว้ ลพบุรี,  โรงเรียนอินทโมลีประทาน สิงห์บุรี,  โรงเรียนอนุบาลอ่างทอง  จัดว่า "ดีเยี่ยม" ทั้งหมด  สามารถเป็นสถานศึกษา "ต้นแบบ" ที่โรงเรียนใดอยากพัฒนาคุณธรรมจริงๆ  ควรไปชมให้ได้นะครับ   เพราะเขาดูและทำกันเป็น "กิจวัตร" อย่างต่อเนื่องตลอดปี ทั้งสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ต่างๆ ก็สะอาด  ร่มรื่น  สิ่งของในห้องเรียน หรือห้องต่างๆ ทุกห้องจัดได้เรียบร้อย  สะอาด  โต๊ะเรียนไม่มีการขีดเขียนให้เห็น  ถังขยะตามห้องเรียนมีถุงดำครอบ  พร้อมฝาปิด  ไม้กวาด ไม้ถูพื้นวางได้เรียบร้อย ดูสบายตา  โดยเฉพาะโต๊ะทำงานครู  ห้องพักครูสะอาดเรียบร้อยมาก  นักเรียนพูดจาไพเราะ  มีสัมมาคารวะ  มีอัธยาศัยมีน้ำใจคอยช่วยเหลือกัน  ตัวครูเอง  การแต่งกาย และกิริยามารยาทวาจาเรียบร้อยสมเป็นครู   เรียกว่าเขาดีจริงๆ ตามที่เป็นอยู่  ไม่มีการจัดฉากให้ใครดู   เพราะสถานศึกษาไม่ทราบว่าพวกคณะกรรมการจะไปตอนไหน ไปอย่างไร  บางสถานศึกษาไปเกือบโรงเรียนใกล้เลิก จึงพลอยทำตัวเป็นผู้ปกครองที่ไปรับเด็กกลับบ้าน และได้เห็นสถานศึกษาแห่งนี้ได้อย่างเต็มที่จริง  พร้อมชวนผู้ปกครองคุยสนทนาได้ข้อมูลเชิงลึกมากมาย 

ส่วนโรงเรียนที่จัด "กิจกรรมส่งเสริม-พัฒนาคุณธรรม" ได้เด่นมาก  และหลายกิจกรรมทำยั่งยืนมาอย่างยาวนานเกิน ๒๐ ปีขึ้นไป  จนเป็นที่เชื่อถือยอมรับของสังคมว่า "ผลิตนักเรียนมีคุณภาพ" ได้แก่ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี, โรงเรียนสิงห์บุรี  จ.สิงห์บุรี,  โรงเรียนเพ็ญพัฒนา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

และที่น่าชื่นชม โรงเรียนเทศบาล ๑  อ.เมือง จ.อ่างทอง  ได้นำกิจกรรมประกวดร้องเพลงชิงช้าสวรรค์  มาเป็นตัวกระตุ้นการฝึกฝนนิสัย จิตใจ ให้เป็นคุณธรรมอย่างทุ่มเทได้เกือบทั้งโรงเรียน จนสามารถชิงชนะเลิศได้ถึง ๓ ปีซ้อน 

และที่น่าประทับใจ  คือ  โรงเรียนค่ายบางระจัน  สิงห์บุรี  ไปเยี่ยมตอนปลายเดือนกันยายน  ซึ่งแม้ว่าการปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐานทั่วไปยังไม่เด่นก็ตาม   แต่กลับจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมชั้นสูง (ความกตัญญูกตเวที)ได้ดีมาก  โดยการให้นักเรียนอำลาอาลัย  กราบคุณครูที่จะเกษียณอายุ  ที่น่าประทับใจมาก คือ เชิญนักการภารโรงที่เกษียณอายุขึ้นบนเวทีให้นักเรียนกราบคารวะด้วย   จากการสังเกต พบว่า  นักเรียนต่างกราบคารวะนักการภารโรงผู้นี้ด้วยความนอบน้อม  มอบพวงมาลัยดอกไม้  แถมมีดอกไม้ธรรมดาที่ดูเหมือนว่าจะนำมาจากบ้านของตัวเองอย่างเนืองแน่น   ที่น่าประทับใจอีกอย่าง คือ ทางโรงเรียนพานักเรียนทำกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ  ไหว้พระสวดมนต์อบรมแนะนำนักเรียน  ที่บริเวณวิหารร้างในโรงเรียน 

ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ประทับใจมาก  เช่น  โรงเรียนระบบสาธิตเทศบาล ๑ อ.เมือง จ.ลพบุรี, โรงเรียนวัดกำแพง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท  ที่ผู้บริหารตั้งใจจริงอย่างสูง ทุ่มเท เอาใจใส่ ทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริม กิจกรรมพัฒนา กิจกรรมปลูกฝังอย่างจริงจัง  แต่...ยังไม่สามารถผลักดันให้คณะครูทุกคนช่วยกันปลูกฝังคุณธรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุม

.
ซึ่งตรงนี้ผมและคณะกรรมการ ถือว่า “ถ้าบุคลากรครูยังไม่ดีจริง ยังไม่เป็นตัวอย่าง (ต้นแบบ) แล้วจะให้นักเรียนมีพฤติกรรม หรือจิตใจที่มีคุณธรรมได้อย่างไร”

.

เป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนในระดับประถมศึกษา ยิ่งเป็นแถบชนบท  มักจะมีคุณลักษณะทางจริยธรรมหรือคุณธรรม ด้านความสุภาพ ความซื่อสัตย์ ความสามัคคี และความมีน้ำใจ โดยเฉพาะ“ความมีน้ำใจ”นี้เด่นมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่านักเรียนตามสถานศึกษาชุมชนเมือง  ซึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลของชุมชนมากกว่า “ฝีมือ” ของสถานศึกษากระมัง  

และ เมื่อกลับมาอ่านจากการตอบแบบสอบถามของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ  ทำให้ได้ผลยืนยันชัดเจนว่า  สถานศึกษาส่วนมากยังไม่ได้สร้างความตระหนัก  ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาจิตใจให้เป็นคุณธรรม  แถมกิจกรรมที่จัดก็ยัง “ไม่มีระบบ กระบวนการขั้นตอนฝึก-พัฒนา”  ที่จะส่งผลให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมได้อย่างแท้จริง

.

สรุปได้ว่า

  • จริยธรรม ดูจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกาย วาจา  แต่...คุณธรรมนั้น  ให้สังเกตว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกมาด้วยความเคยชิน หรือจากนิสัยจิตใจหรือไม่ 
  • ค่านิยม  จริยธรรม  คุณธรรม  เป็นลักษณะรูปแบบ ในการพัฒนา ปลูกฝัง ฝึกฝน ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่สังคมต้องการ   ไม่ใช่หมายถึง สิ่งหนึ่ง หรือ กิจกรรมหนึ่ง หรือ ธรรมะข้อหนึ่ง แยกประเภทเป็นค่านิยม จริยธรรม คุณธรรม  เช่น อย่าคิดว่า ขันติ เป็นคุณธรรม  ส่วนความอดทน เป็นจริยธรรม นะครับ 
  • ผู้มี "คุณธรรม" จึงหมายถึง  บุคคลที่มีสภาพจิตใจในลักษณะ “มีจิตสำนึกที่ดี” หรือ “มีจิตใจที่ดีงาม” หรือ "มีจิตใจที่เข้มแข็ง" ยึดมั่นในความดี ความถูกต้อง หรือ "มีจิตใจที่กล้ารับผิดชอบ" หรือ "มีจิตใจที่รู้จักผิดชอบชั่วดี"  หรือ "มีจิตใจที่เกรงกลัวต่อการกระทำ ความชั่ว"  
  • คุณธรรมจะเห็นได้ชัดจากความเคยชินหรือแสดงออกมาโดยทันที  เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ

.

  • คุณธรรมในสถานศึกษา  สามารถสร้างได้โดย 

         ๑. บุคลากร /ครู ทุกคนต้อง “ทำเป็นตัวอย่างต้นแบบ” ในทางที่ดีงาม  หรือในสิ่งที่ตนเองจะปลูกฝังให้กับนักเรียน (คุณลักษณะที่พึงประสงค์)

         ๒. มีการจัดกิจกรรมที่ดีที่ให้นักเรียนทำเป็น“กิจวัตร” อย่างจริงจัง ต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย ๓ ปีขึ้นไป โดยมีระบบและกระบวนการทำที่ดี

         ๓. มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนต้องทำด้วยตนเอง และ/หรือได้ร่วมทำกับผู้อื่นหรือได้มาด้วย “ความยากลำบาก หรือต้องต่อสู้ฝ่าฟัน” จนกว่าประสบความสำเร็จ 

        ๔. ปลูกฝังให้นักเรียนมี “ความเชื่อ หรือ ความศรัทธา” เช่น กฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด  บาปบุญคุณโทษ พระเจ้า เป็นต้น หรือ เชื่อมั่นศรัทธาต่ออุดมการณ์เป้าหมายที่สูงส่งของชาติ / สังคม เป็นต้นหรือ

        ๕. ทำให้ “ตระหนัก” ในคุณค่าของชีวิต หรือทำให้ “เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง” ต่อความเป็นจริงของชีวิตเช่นขันธ์ ๕ กฎไตรลักษณ์ โลกธรรม ๘ อริยสัจ ๔ มรรค ๘ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เป็นต้น

         สถานศึกษาส่วนมาก  แค่ข้อ ๑.ก็ไม่ผ่านแล้วครับ,  ข้อ ๒. มีอยู่ ๗ แห่งที่ทำได้ถึง, ข้อ ๓. ที่เด่นชัดมี ๔ แห่ง, (แต่ข้อ ๔. ยังสรุปไม่ได้ชัดว่าเป็นฝีมือของสถานศึกษา หรือของชุมชนสังคม  หรือ จากครอบครัว  หรือ จากพระกันแน่  แม้ในสถานศึกษาจะมีกิจกรรมตามแนวทางศาสนา   แต่จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนมีน้อยคนมากที่จะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือนรกสวรรค์ เป็นต้น  แม้จะเป็นโรงเรียนที่วัดและพระสงฆ์จัดขึ้นก็ตาม   แต่...ที่น่าชื่นชมมาก คือ โรงเรียนในเครือของศาสนาคริต์กลับสามารถปลูกฝัง "ความเชื่อ ความศรัทธา" ได้ดีจริงๆ   ส่วนข้อ ๕. คงยังไม่มีสถานศึกษาใดทำได้  นอกจากพระภิกษุทางสายวัดปฏิบัติเท่านั้นที่ทำได้ครับ
.

        ต่อมาในปี ๒๕๕๘-๒๕๖๐ ผมได้รับเชิญจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๗ ที่รับผิดชอบดูแลจังหวัดพิษณุโลก  อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์  อุทัยธานี  พิจิตร  กำแพงเพชร  ตาก  สุโขทัย  เป็นคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามโครงการยกย่องเชิดชูสถานศึกษาที่ส่งเสริม พัฒนา ปลูกฝังคุณธรรมดีเด่น ของกระทรวงศึกษาธิการ   ได้พบสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ "ยอดเยี่ยม"  สามารถเป็น "ต้นแบบ" ในการดำเนินการส่งเสริม พัฒนา ปลูกฝังคุณธรรมอย่างจริงจัง  เช่น  โรงเรียนเซนต์โยเซฟ  จ.นครสวรรค์,  โรงเรียนเซนต์โยเซฟ จ.เพชรบูรณ์, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ อ.แม่ระมาด จ.ตาก, โรงเรียนอนุบาลทิพยา  อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์,  

         และยังมีสถานศึกษาที่ "ดีเด่น" สามารถเป็นตัวอย่างในการส่งเสริม พัฒนาจริยธรรมได้อย่างเป็นระบบ  เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๕ จ.ตาก, โรงเรียนพิณพลราษฎร์(ตั้งตรงจิตร 12) อ.วังทอง จ.พิษณุโลก, โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย เป็นต้น


         แต่เป็นที่น่าเสียดาย  ที่โครงการนี้ต้องยุติไม่ได้ดำเนินการอีก  ตามนโยบายของผู้บริหารคนใหม่  ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของวงราชการก็ว่าได้  ที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ตามคนใหม่  ตามสไตล์บริหารแบบไทยๆครับ

.      

        แม้ว่าโครงการนี้ ของกระทรวงศึกษาธิการจะยุติลง  แต่ก็ยังมีหน่วยงานหลายหน่วยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีความหวังดี  มีน้ำใจอยากเห็นสังคมไทยเป็น "สังคมคุณธรรม"  จึงได้ระดมสมองช่วยกันจัดทำโครงการยกย่องสถานศึกษาที่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านจริยธรรม คุณธรรม อยู่อีกหลายแห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี  ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ตื่นตัว  มุ่งมั่นพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย  เช่น  มูลนิธิยุวสถิรคุณ,  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ), เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ, ธนาคารออมสิน, มูลนิธิยุวพัฒน์ ฯลฯ   เพียงแต่โครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ผมได้มีส่วนร่วม  แตกต่างจากโครงการของหน่วยงานอื่นไปบ้าง  ตรงที่วิธีการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาไม่ได้แจ้งให้สถานศึกษาทราบก่อน  และ การดูคุณธรรม ที่เน้น "ความเป็นปกติ ความเคยชิน" ที่ออกจากนิสัยจิตใจ  ทั้งนี้เพราะความเข้าใจ และมีนิยามความหมายต่างกัน 

.

        ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่า  หลายท่านคงเข้าใจตรงกับผมบ้างว่า  โรงเรียนคุณธรรม  ก็คือ โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูช่วยกันดำเนินการ "ด้วยวิธีการ หรือ กระบวนการขั้นตอนที่ดี"    จนสามารถพัฒนา หรือ ปลูกฝัง "คุณลักษณะที่พึงประสงค์  ให้ "เป็นคุณธรรม  หรือจริยธรรม  หรือค่านิยม" ได้  ไม่ใช่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา โดยไม่มีระบบ หรือวิธีการ หรือ กระบวนการขั้นตอนที่ดีแต่อย่างใด  แล้วอ้างตีขลุมว่า เป็นกิจกรรมส่งเสริม พัฒนา ปลุกฝังคุณธรรม จริยธรรมอีกนะครับ   

        ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับผมอย่างนี้อย่างแพร่หลาย  ผมเชื่อว่า....โรงเรียนคุณธรรมจริงๆ  จะบังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ  และจะได้พลเมืองที่มีคุณค่าแก่สังคม และประเทศอย่างแท้จริงสืบต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 570391เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 03:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2020 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท