ZAMCMU
อาจารย์ ดร. ปริวิทย์ ไวทยาชีวะ

แรงม้ากับหางสือ คิดสร้างสรรค์ คิดวิพากษ์


เด็กนักศึกษาถูกดักความคิดเหล่านี้ไว้ คือ ไม่มีทั้งหางเสือ ไม่มีทั้งแรงม้า

สวัสดีชาว G2K ทุกท่าน ดูๆ ไปแล้ววันนี้ก็เกือบ 7 ปี ที่ผมเป็นสมาชิกที่นี่ หลายปีก่อนผมได้แลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องการศึกาา ซึ่งยกเอาการบ้านในวิชาการจัดการคุณภาพการศึกษามาแชร์ แต่คงจะเป็นเรื่องที่เครียดเกินไป กลับมาอ่านอีกที อ่านไปแล้วมันก็เครียดจริงๆ ครับ เหตุผลที่ผมกลับมาในบันทึกของผมวันนี้ เป็นเพราะคำๆ หนึ่งครับ

"คิดสร้างสรรค์เป็นแรงม้า คิดวิพากษ์เป็นหางเสือ"

บังเอิญว่าวันนี้ (9/6/57) ผมได้ไปร่วมสัมมนาของ สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้เหล่าคณาจารย์ได้ตื่นแจ้งในการเป็นผู้มีส่วนร่วม ผลักดัน ภาระกิจในการสร้างทักษะผู้เรียน ให้ทันกับโลกในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรารู้จักกันดีว่า 21st century skills ในบันทึกของท่านอาจารย์ต่าง ๆ ในนี้

จนช่วงสุดท้ายของการสัมมนา ท่าน อ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธ์ ท่านพูดมาคำหนึ่งว่า 

"Critical and Creative thinking is an Attitude !...คุณลองคิดเอา ให้ Creative เป็นเหมือนแรงม้า แล้ว Critical ให้เป็นตัวยับยั้ง ไต่ตรอง ไม่ใช่อะไรเราก็ไม่ ไม่ ไม่ ไปหมด ต้องคิดด้วย มันต้องมีเหมือนหางเสือไว้คอยบังคับ..."

แรงม้ากับหางเสือ ฟังดูแล้วมันน่าจะคนละเรื่องนะครับ แต่ก็มีข้อคิดบางอย่างเกิดขึ้น

พลังบางอย่าง อย่างเช่น เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ มันจะต้องเป็นเรื่องที่ไกลออกไป เป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่เราคิดแบบนี้ เพราะบางทีเราเองยังไม่มีพลังสร้างสรรค์ ยังใช้ชีวิตแบบหมดไฟ ผมเองก็ยอมรับว่าบางครั้ง ความสร้างสรรค์ มันก็มีแต่แรงถีบ หรือแรงพลักต้องอาศัยพลังมหาศาล สิ่งที่สร้างสรรค์จึงดูไกลตัว  ผมลองคิดนะครับว่าถ้าเรากำลังจะทำให้อะไรบางอย่าง "เปลี่ยนแปลง" โดยเฉพาะในทางที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยพลังจากความคิดสร้างสรรค์ เกิดแรงบันดาลใจ มันจะมีพลังบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ดันเราให้เปลี่ยนครับ เหมือนรถยนต์เมื่อจอดไว้ ก็นิ่งสนิทแต่พอเราติดเครื่องยนต์ พลังภายในที่เรามองไม่เห็นผลักเจ้ารถยนต์ ให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ ยิ่งแรงม้ามาก ก็ยิ่งเร่งได้เร็วและทันใจ แรงน้อยก็ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยขยับ 

แต่ถ้าวันนี้ คนขับรถคันนี้ขับไปข้างหน้าเรื่อย ๆ บรรเจิดเส้นทางใหม่ ไม่สนใจว่าจะไปถูกหรือไม่จะออกไปที่ไหน มันต้องมีพวงมาลัยเป็นตัวบังคับ เหมือนหางเสือของเรือ ผมคิดว่าการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้เราไตร่ตรองว่าสิ่งใดควรไม่ควร สิ่งใดถูกผิด สิ่งใดใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งมองไปแล้วมันไม่น่าจะไปด้วยกันได้ คิดสร้างสรรค์ก็ไปข้างหน้า หาความแปลกใหม่ท้าทาย แต่คิดวิเคราะห์ วิพากษ์ หาคำตอบ ตั้งคำถามให้ตัวเอง บางครั้งผมเองก็เคยคิดอะไรที่มันแปลกแหวกออกไป แต่ก็ต้องถูกกรอบอะไรบางอย่างสกัดเราไว้ทุกที เหมือนขับรถมาซอยใหม่เส้นทางใหม่ แต่สุดท้ายซอยตันหรือกลายเป็นวันเวย์ ไปไม่ถึงฝัน เราต้องคิดใหม่ รื้อเส้นทางใหม่ ต้องถอยบ้างเลี้ยวบ้าง ปรับหาเส้นทางที่ถูกต้อง ท่านผู้อ่านอาจจะลองคิดตามผมนะครับ 

ย้อนกลับมาที่นักศึกษาของเรา ในคลาสผมเองบางครั้ง เด็กนักศึกษาถูกดักความคิดเหล่านี้ไว้ คือ ไม่มีทั้งหางเสือ ไม่มีทั้งแรงม้า แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ที่จริงเราก็พูดซ้ำซากมานานหลายสิบปีแล้วกับเรื่องที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้

ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับทักษะใหม่แห่งอนาคต ศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็ปล่อยตัวจนล่วงเลยมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว เพื่อนร่วมรุ่นปริญญาเอกของผมยังมานั่งคุยด้วยกันอยู่เลยว่า "คนในศตวรรษใหม่นี้ มันจะเป็นหุ่นยนต์มั้ย" วันข้างหน้าเราก็ไม่ทราบว่าโลกนี้จะหมุนไปเร็วกว่าที่เราเป็นอยู่ขนาดไหน "ปฏิสัมพันธ์" ของ "คนกับคน" มันก็ยังต้องเป็นแบบ "คน" อยู่ดี แต่มันอาจจะหยาบขึ้น ไม่ละเมียดแบบเก่าก่อน ความรู้เองจึงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนกับโลกความจริง โลกที่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ต้องยอมรับการวิพากษ์ รวมทั้งการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองจาก "คน" อีกเดียวเช่นกัน คงไม่มีใครคิดสูตรยาบ้ารสใหม่ถูกใจเด็ก คงไม่มีใครคิดวิธีการฆ่าบุพการีที่ไร้ร่องรอยแบบใหม่ ทักษะการคิดแบบ Critical จะเป็นตัวดักความคิดเหล่านี้เอง คำถามที่ตั้งขึ้นจะอยู่บนฐานของความดีงาม เหมือนที่ท่าน ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้พูดเมื่อเช้าว่า "...ต้องคิดบวก คิดดี คิดวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์..." 

แล้วแรงม้าและหางเสือ ท่านคิดว่าสองสิ่งนี้ยังต้องเดินหน้าไปด้วยกันอีกหรือไม่....


หมายเลขบันทึก: 570132เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 01:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 01:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท