"ปล่อยวาง ร่างโลก"


                                                            รปล่อยวา


โลกคือ แหล่งกำเนิดของหมู่สัตว์ ที่กำเนิดมานานหลายล้านปี สิ่งมีชีวิตอาศัยโลกเกิด ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ธาตุ อินทรีย์ อาหาร กฎ กาลเวลา ฯ เป็นเครื่องหล่อหลอมให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดเกิดขึ้นมา เมื่อสรรพสิ่งอาศัยโลกกำเนิด สรรพสิ่งจึงต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาของโลก ไม่มีทางที่จะหลีกพ้นได้เลย 

สิ่งมีชีวิตดำเนินตามกรอบของโลกและของตัวเองคือ สัญชาตญาณและเผ่าพันธุ์ และในที่สุดก็จากโลกนี้ไป ภาพรวมของสิ่งมีชีวิตจึงอยู่ในลักษณะเกิด แก่เสื่อมและตาย เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัยโลก

สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ก็ดำเนินไปตามกรอบนี้เช่นเดียวกัน ต่างแต่ที่มนุษย์มีความรู้ ความคิด การวางแผน การกระทำ ฯ ที่อ้างตัวเองเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต จึงคิดแสวงหากำไรจากโลก จากการครองชีวิตอยู่ให้เป็นผู้ที่โดดเด่น เหนือกว่าผู้อื่น หรืออย่างน้อยก็เพื่อการเอาตัวรอดแบบเห็นแก่ตัว ญาติและพวกพ้อง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างอำนาจการเป็นใหญ่ ชื่อเสียง ความอยู่ดี อยู่สบาย ไม่เดือดร้อน อันเป็นพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ทั่วโลก

ปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบคือ ทรัพย์สินเงินทอง ลูกหลาน บริวาร แต่บริวารเหล่านี้ ก็ตกอยู่ในกรอบของโลกเช่นกันคือ เสื่อมลงและเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงตัวเองด้วย ในที่สุดก็หาสาระหรือแก่นสารของชีวิตไม่ได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์รู้จักโลกและบริวารของชีวิตอย่างเข้าใจและอย่างแท้จริง

๑.พระพุทธศาสนาสอนอะไร? สิ่งที่เป็นแก่นแท้หรือสาระของการดำรงอยู่บนโลกนี้ พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า การรู้จักโลกและเข้าใจโลกดีแล้วปล่อยวาง นั่นคือ หลักในการคลายมือ คลายใจ เมื่อจะจากโลกนี้ไป เนื่องจากว่า เราเกิดมาจากโลกนี้เพียงแค่ชั่วเดียว ขณะโลกเป็นอยู่มานานหลายล้านปี เราคิดจะครองโลก ครองทรัพย์สินของโลกนั้นถือว่า ไม่รู้จักโลกและไม่รู้จักชีวิตตนเองเมื่อเราไม่ปล่อยวางโลก สมบัติโลก บริวารของตน ผลคือ เราก็เข้าใจว่า ทรัพย์สินที่ตนเองหามาได้เป็นของเราจริงๆ ลูกหลานที่เราเลี้ยงดูมา เพื่อนที่เราสนิทด้วยรวมไปถึงสรรพสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้ล้วนเป็นของเราทั้งสิ้น 

แม้แต่ร่างกายที่เราครอบครองเลี้ยงดูมาหลายปี จนแก่เฒ่า เราก็ยังไม่รู้แน่แท้ว่า เป็นของโลก เป็นของธรรมชาติของโลก ที่ดำเนินไปตามเส้นทางของมันคือ เสื่อมและสลายไป เมื่อมนุษย์ไม่รู้จักโลกจริง ไม่รู้กายแท้ จิตก็ถูกครอบงำด้วยความไม่รู้ จึงเกิดความอ่อนไหวหรือหวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ลูก สามี ภรรยา ตาย ทรัพย์สินเสียหาย ร่างกายเจ็บป่วย จิตล้มเหลวหรือวิกฤติ ร่างกายและจิตใจก็พลอยห่อเหี่ยวหรือจิตวิตก กังวล เป็นทุกข์ ความกดดันเหล่านี้ ก็จะเกาะกุมสุมใจเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้กายและใจ ถูกทำลาย ถูกบีบคั้นให้เราเป็นทุกข์อยู่เสมอ เพราะเรามีอุปาทานนั่นเอง

๒. ทำไมชาวโลกควรปล่อยวาง สิ่งที่ชาวโลกควรศึกษาเรียนรู้โลกที่อาศัยอยู่ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เนื่องจาก ๑) โลกเป็นของโลก มิได้เป็นของมนุษย์แม้ว่ามนุษย์จะพยายามยึดครองหรืออ้างว่าโลกเป็นของเราก็ตาม ๒) ชีวิตเป็นของธรรมชาติ ที่มีเงื่อนไขอยู่เหนืออารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ๓) สรรพสิ่งเป็นของกลาง มิได้มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ๔) ไม่มีใครแบกหามไปได้ทุกที่ เมื่อตายก็ต้องปล่อยทิ้งไว้บนโลกใบนี้ทั้งหมด ๖) อย่ายึดว่าเป็นของกู เมื่อยึดกลับเป็นทุกข์ซะเอง เป็นกังวล เป็นห่วงและผูกพัน จนจิตไม่ยอมสลัดทิ้งได้ แม้กระทั่งตาย จิตจึงไม่พ้นวัฏภาพนี้ได้

๓. ความหมายคำว่า “ปล่อยวาง” มาจากคำกริยาสองคำคือ ปล่อยและวาง ปล่อย หมายถึง การวาง การทอดวาง การสละ เช่น ปล่อยปละ วาง หมายถึง การปล่อย การสละ ไม่ยึดไว้ เช่น วางใจ วางมือดังนั้น ปล่อยวาง หมายถึง การสละ การไม่ยึดถือไว้ การวางใจ เพื่อมิให้ยึดถือหรือเกาะกำไว้ 

สำหรับความหมายเชิงเปรียบเทียบทางศาสนา หมายถึง การปล่อย การละวาง การสลัดออก การไม่ยึดบางสิ่งไว้ในใจ เพื่อมิให้ผูกพันหรือกังวล จนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์หรือความไม่สบายใจเรียกว่า “อุปาทาน” (Attachment) การยึดมั่นถือเอาสรรพสิ่งในโลกตั้งแต่วัตถุสิ่งของ ข้าวของ บุคคล หรือร่างกายของตน จนเป็นเหตุให้จิตผูกพัน มั่นหมาย ไม่ปล่อย ไม่วาง เพราะอวิชชา (Ignorance) ครอบงำจิตใจ จนลืมความจริงของโลกว่า อะไรคือ แก่นสารของชีวิตและลืมไปว่า สรรพสิ่งเป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกในชาตินี้เท่านั้น 

สิ่งที่ยึดมั่นในอุปาทาน มี ๔ อย่างคือ ๑) ยึดในกามารมณ์ต่างๆ เช่น ในรูป เสียง กลิ่น ฯ ที่มีกายเป็นฐาน ๒) ยึดในความคิด ความเห็นของตน ความเชื่อ หรือทฤษฎีต่างๆ สำนักตนที่เข้าใจเอง จนเกิดความผิดทำนองคลองธรรม ๓) ยึดในศีลพรตหรือกฎข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เชื่อ ที่คิดว่าของตนเคร่ง ศักดิ์สิทธิ์กว่าหรือดีกว่าสำหนักอื่น จนเป็นเหตุให้ผิดๆ จนงมงาย ๔) ยึดมั่นในตัวเองว่าเป็นของตน ของจริง กลายเป็นหลงผิดว่าตัวกู ของกู

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนากล่าวโดยรวมแห่งการยึดมั่น ถือแน่นด้วยการอุปาทานจากขันธ์ ๕ เป็นแดนแห่งทุกข์ เนื่องจากว่า กายคือ โลกย่อส่วนของสรรพสิ่ง จิตอยู่ในโลกย่อส่วนนี้ จนพุพังไป ย่อมรู้แก่ใจว่า โลกนี้ มีอะไรเป็นแก่นสารเมื่อก่อนจากโลก

๔. ทัศนะของพระอริยสงฆ์ การปล่อยวางเป็นหลักคำสอนสั้นๆ แต่เป็นหัวใจในคำสอนของพระพุทธองค์ จนมีสาวกมากมายที่สามารถเข้าใจในหลักนี้ได้ แล้วได้ถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์หรือประชาชนทั่วไป จนกลายเป็นคำคมที่สามารถนำไปสู่การวางใจ การทำใจได้ด้วยการถ่ายทอดออกมาง่ายๆ เช่น 

หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่า ว่างจากตัวกู ทุกข์ กิเลสและเข้าไปอยู่ในภาวะว่างนั้นๆ 

หลวงพ่อชากล่าวว่า การปล่อยวางเหมือนการวางจากการแบกของหนักแล้ววางลง เหมือนการไม่แบกตน ไม่แบกโลก ไม่แบกสมบัติ

หลวงพ่อปัญญานันทะกล่าวว่า การยึดถือ เหมือนชาวนาที่สงสารงูเห่า แล้วนำมาอุ้มไว้ แล้วงูก็กัดเอา งูเหมือนทรัพย์สิน การไม่รู้จักแก่นแท้ของมัน สมบัติจึงกัดเอา 

๕. นิทานและตัวอย่างประกอบ ในเรื่องนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีชายคนหนึ่งในเมืองพาราณสี ที่เลี้ยงชีพด้วยการจับลิงมาขาย วันหนึ่งเข้าไปในป่า เพื่อจับลิงโดยนำเอาหม้อคอคอดไปด้วย พอหาที่ได้ก็ใส่ถั่วลิสงในหม้อไว้ จากนั้น ก็รอลิงมาหาอาหารเมื่อลิงล้วงมือลงไปในหม้อแล้วกำถั่วไว้แน่น จากนั้นชายคนนั้นก็สามารถจับลิงได้ เนื่องจากว่า ลิงเอามือออกจากหม้อไม่ได้ และไม่ยอมปล่อยวางมือ เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า การยึดมั่น ถือแน่น กำแน่น ย่อมก่อให้เกิดผลต่อตัวเองคือ หลงโลก หลงสมบัติ หลงตัวเอง จนถอนตัวเองจากโลกได้ยาก จึงถูกทุกข์ครอบงำอยู่ร่ำไป

อีกเรื่อง เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๕๗ ได้เดินทางไปอ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี งานบวชหลานของเพื่อน ได้มีโอกาสพูดคุยกับยายคนหนึ่งชื่อ ยายบุญชอบ พานทอง อายุ ๘๑ ปี ซึ่งเป็นแม่ของเพื่อน ได้ถามท่านว่า รู้สึกเบื่อหรือรำคาญบ้างไหม ท่านตอบว่า เฉยๆ และถามเรื่องลูกหลาน ห่วงลูกหลานบ้างไหม ท่านตอบว่า ไม่ห่วง ปล่อยวางแล้ว เลี้ยงเขาโตแล้ว ให้เลี้ยงตัวเองบ้าง เรื่องนี้ก็สะท้อนให้รู้ว่า เมื่ออายุมากเข้าสู่วัยชราควรที่จะเตรียมใจพร้อมการเข้าสู่โลกหน้าหรือเตรียมตัวสละสรรพสิ่งต่างๆ แห่งโลกนี้ เพื่อให้จิตยานไปอย่างบางเบาและบริสุทธิ์

๖. หลักการวางปล่อยวาง ในหลักการของพระพุทธศาสนาได้สอนไว้มากมาย เพื่อให้บุคคลที่เกิดมาบนโลกได้วางใจถูกและหมดจด ก่อนที่จะลาจากโลกไปอย่างไม่ห่วงหาอาลัยใดๆ กับสมบัติ ลูกหลานหรือแม้แต่ตัวเอง กระนั้น ก็มีชาวพุทธไม่น้อยที่แยกแยะคำสอนที่เป็นแก่นไม่ออก เนื่องจาก ยังไม่มีภูมิสติ ปัญญาเต็มและไม่มีประสบการณ์ดีพอ ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงเก็บสะสมธรรมมากขึ้น เมื่อเก็บตกคำสอนทั้งมวลได้จนตกผลึกย่อมจะรู้ว่า อะไรคือ แก่นแท้หรืออะไรคือรหัสแห่งธรรมวิถี ในที่นี้ขอกล่าวไว้ ๒ ส่วนคือ ๑) ส่วนที่ควรเรียนรู้ว่าอะไรควรปล่อยวางในขณะมีชีวิต และ ๒) ก่อนตายควรจะเตรียมตัวหรือปล่อยวางอย่างไรมิให้จิตมัวหมองก่อนจากโลกไป

อันแรก สิ่งที่เราควรปล่อยวางคือ ๑) เรื่องกรรม (Action) ที่เป็นส่วนบุคคล เราไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ เพราะเป็นเรื่องผลกรรมที่เขาได้ทำลงไปและลงต้องผลของตนเอง การวางท่าทีเช่นนี้ จะทำให้เราเป็นคนเย็นชาต่อคนอื่นหรือไม่ ให้เราพิจารณาเหตุการณ์หรือเรื่องที่เราช่วยเขาไม่ได้จริงๆ เท่านั้น ๒) บทบาทหรือหน้าที่ หากเราไม่มีหน้าที่หรือมีบทบาท ก็ไม่ควรเข้ายุ่งเกี่ยวหรือพัวพัน เพราะอาจกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิง เดือดร้อนได้ ๓) เรียนรู้หลัก กฎต่างๆ ของโลกและธรรมชาติให้มาก เพื่อจะได้นำมาเป็นบทเปรียบเทียบหรือทำใจว่า เส้นทางของสรรพสิ่งเป็นเช่นนั้นทั้งมวล จะได้ลดความโง่งมงายลงหรือบรรเทาทุกข์ลง

อันที่สอง เรื่องที่เราควรปลดปลง ปล่อยวางก่อนสิ้นลมคือ ๑) ฝึกลมหายใจเอาไว้ เพื่อให้รู้ทันก่อนสิ้นลม จะได้ไม่หลงเตลิดจนมืดมนก่อนลาโลก ๒) แผ่เมตตา ให้อภัยคนอื่น สัตว์อื่น เพื่อป้องกันมิให้ตนกลายเป็นคนจิตเจือไปด้วยพิษความเคียดแค้น ที่ฝังรากจิตให้เศร้าหมอง ๓) พยายามปล่อยวางภาระ ปลดละวางสิ่งต่างๆ มิให้เราผูกจิตด้วยสมบัติต่างๆ อันเป็นของโลก มิใช่ของจิต อย่าแบก อย่ารับโลกเกินไป ก่อนที่จะเดินทางไปสู่ปรโลกหน้า อย่างอิสระบางเบาใจ ๔) ยกเอาสรรพสิ่งที่เรารู้มา สะสมมา หรือแม้แต่กายสังขารตน ขึ้นสู่กฎของพระไตรลักษณ์ อันเป็นกฎสากล ที่ทุกๆ สิ่ง ต้องดำเนินไปเช่นนี้ หนีไม่พ้น ตัวเราขณะนี้ก็ไม่เว้น กำลังเดินทางไปสู่เส้นทางนี้เช่นกัน 

——————-<๒/๖/๕๗>———————

คำสำคัญ (Tags): #ปล่อยวาง
หมายเลขบันทึก: 569580เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2014 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2014 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วทำให้พี่รู้ตัวเองว่า...พี่กำลังปฏิบัติเรื่องปล่อยวางนี้อยู่บ้าง...เรียกว่า เคลียร์ทุกเรื่องบนโลกใบนี้...ทำทุกวันให้ดีที่สุด ไม่ให้คนข้างหลังเดือดร้อน ไม่ยึดติดหรือผูกพันกับภพนี้มากจนเกินไป พอถึงคราจากโลกนี้ไปจริง ๆ ใจเราจะได้ไม่กังวล...แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมในใจส่วนลึกถึงคิดว่า...ถ้าตัวเราพ้นจากภพนี้ ภพหน้าดูจะมีความสุขมากกว่าภพนี้...พยายามสลัดจะไม่คิด จนแล้วมันก็วนมาอีกจนได้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด...คิดทบทวน อาจเป็นเพราะเราคิดแต่สิ่งดี ๆ ฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ดีให้มากกว่าสิ่งที่ไม่ดี จนสุดท้ายก็ทำดีได้ในที่สุด...จึงทำให้ใจเราสบาย เบามากกว่า...

พี่สงสัยคำว่า "ติดดี" คืออะไรรึ? ไม่ทราบจริง ๆ ค่ะ...ตอบด้วยคร้า...


...ว่างจาก...ตัวกู ทุกข์ กิเลสและเข้าไปอยู่ในภาวะว่างนั้นๆ

 

หลักธรรมะนี้ช่วยได้ทุกๆ เรื่องนะคะ   


ขอบคุณค่ะ

For P' Bus

Why don't we hold the goodness?

All of things in the world are nothing even if our life except emptiness. How do we act to the world? see it so know it and let it be...,then knowing  on being beyond becoming.

ขอบคุณค่ะ...Get เลยค่ะ...คริ ๆ ๆ...ขอปฏิบัติต่อค่ะ :)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท