มองพัฒนาการขบวนประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนที่ 3)


Confusing Period เวลาแห่งความงุนงง

ปะกุสดูร  วาลี่อารมณ์ขัน ปธน.คนที่สี่ของอินโดนีเซีย (ที่มา: agusnoorfiles.wordpress.com)

บรรยากาศในช่วงเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศกลางปี 2542 แบบเสรีหลังสิ้นสุดยุคซูฮาร์โตเต็มไปด้วยสีสันและความตื่นเต้น พรรคการเมืองใหม่ๆ ส่งคนลงสมัครถึงสี่สิบแปดพรรค ทั้งกลุ่มนิยมคริสต์ นิยมจีน มุสลิมสายเคร่งจนถึงสายก้าวหน้า และสายกลาง เดินไปทางไหนจะเห็นแต่ริ้วธงสัญลักษณ์พรรคการเมืองต่างๆ เต็มไปหมดจนตาลายแยกไม่ออกของใครเป็นของใครเพราะส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันเช่น พรรคแนวมุสลิมจะออกพื้นเขียวประกอบดาวและเดือนเสี้ยว พรรคแนวกลางอนุรักษ์ธงจะคล้ายของกลุ่มโกลข่าปัญจศีละ พรรคแนวต่อสู้ที่ไม่ใช่ศาสนานำจะออกพื้นแดง ขบวนแรลลี่ยาวเหยียดกับเสียงเซ็งแซ่เหมือนในสนามเชียร์บอลวิ่งกันวุ่นทั่วถนนสายหลักในกรุงจาการ์ต้า

บรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปในกรุงจาการ์ต้ากลางปี 2542 ที่เห็นคือพรรค PDI-P (ที่มา: wiki) 


48 พรรคการเมืองที่ลงชิงชัย (ที่มา: www.pustakasekolah.com)

ตัวเก็งที่จะได้เสียงเป็นน้ำเป็นเนื้อมีอยู่สี่ห้าพรรคคือพรรคเปเดอี-เป (PDI-P) นำโดยอีบูเมก้าลูกสาวปธน.ซูการ์โน แยกตัวออกมาจากพรรคเปเดอีเดิม พรรคอิสลามเก่าแก่เปเปเป (PPP) โดยปะฮัมซ่าห์ พรรคเปคาเบ (PKB) ก่อตั้งโดยปะกูสดูรผู้นำองค์กรอิสลามทรงอิทธิพลเบอร์หนึ่งของอินโดฯ Nahdlatul Ulama (NU) แยกตัวออกมาจากพรรคมุสลิมเปเปเป พรรคโกลข่า (GOLKAR) กลุ่มการเมืองสายเก่าที่ยังมีบารมีอยู่มากนำโดยปะอัคบาร์ ตันจุงที่เตะสกัดไม่ให้ปะฮาร์บีบี้ได้รับคัดเลือกลงชิงชัยปธน.อีกครั้ง อีกพรรคชื่อแปน (PAN) เป็นพรรคมุสลิมสายก้าวหน้าก่อตั้งโดยปะราอิสผู้นำองค์กรมุสลิมเบอร์สองของอินโดฯ Muhammadiyah

พรรคการเมืองใหญ่ทั้งห้า

พูดถึงมุสลิมสองกลุ่มสององค์กรนี้มีความเป็นมายาวนานร่วมๆ ร้อยปี ก่อตั้งมานานก่อนที่ประเทศจะได้รับอิสรภาพ ทำงานด้านศาสนาและสังคมช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมเป็นหลักคงคล้ายกับกลุ่มมุสลิมบราเธ่อร์ฮู้ดในตะวันออกกลางเช่น ช่วยเหลือด้านการศึกษา สาธารณสุข เลื้ยงดูเด็กกำพร้า สวัสดิการต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมุสลิมในทางอ้อม Muhammadiyah ก่อตั้งมาก่อน NU ที่เมืองยอร์คยาการ์ต้า สมาชิกเป็นยี่สิบล้านคน เรียกตัวเองว่าเป็นพวกสายก้าวหน้าของสังคมมุสลิมอินโดฯ (modernist) ที่ไม่นิยมในความเชื่อ จารีตโบราณ เดินตามกฏระเบียบของศาสนาอย่างตรงไปตรงมา เป็นพวกปฏิรูปการยึดถือแบบเก่า หรือแม้แต่ลัทธิซูฟี นิยมกฎหมายชารีอะห์ ในขณะที่ NU ก่อตั้งขึ้นภายหลังที่ชวาตะวันออกเพื่อต่อต้านการรุกคืบของ Muhammadiyah มีสมาชิกกว่าห้าสิบล้านคน เป็นพวกมุสลิมสายเก่าแก่ของอินโดฯ ที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างอิสลามและและความเชื่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวชวา (traditionalist) ดังนั้นจึงมีความเป็นท้องถิ่นนิยม เปิดกว้างทางความคิดและยืดหยุ่นมากกว่าสายก้าวหน้า

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาดพรรคเปเดอี-เป ของอีบูเมก้านำลิ่วได้เสียงที่นั่งไปถึงสามสิบสามเปอร์เซ็นต์ทิ้งที่สองพรรครัฐบาลเดิมโกลข่าตามมาที่ยี่สิบหกเปอร์เซ็นต์ ที่สามพรรคเปเปเปและที่สี่ของปะกุสดูรที่นั่งใกล้เคียงกันสิบเปอร์เซ็นต์นิดหน่อย ส่วนปะราอิสตกไปที่ห้าได้ที่นั่งแค่เจ็ดเปอร์เซ็นต์ ถึงจะชนะด้วยเสียงเป็นที่หนึ่งแต่การเลือกตำแหน่งปธน.ต้องไปว่ากันในสภาซึ่งมีสมาชิกที่มาจากการคัดสรรทั่วประเทศและตำรวจทหารอีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งหมดเจ็ดร้อยที่นั่ง

คะแนนเสียงของพรรคใหญ่ๆ (ที่มา: wiki)

ในช่วงการแข่งขันชิงตำแหน่งปธน.ปรากฏว่าปะราอิสจากพรรคแปน ทำตัวเป็นดีลเมคเกอร์ประกาศเป็นแกนกลางสร้างขั้วการเมืองร่วมกับพรรคเปเปเป พรรคโกลข่าและพรรคเปคาเบ เสนอชื่อปะกุสดูร ลงแข่งกับอีบูเมก้า โดยตัวเองได้เป็นประธานเอ็มพีอาร์หรือบ้านเราก็รัฐสภาและให้ปะอัคบาร์เป็นประธานสภาผู้แทน ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากดูความเป็นมาและเบื้องหลังของปะราอิสที่ไม่ยอมรับอีบูเมก้า ในวันลงคะแนนอีบูพ่ายให้กับปะกุสดูรไปหลายสิบคะแนนแม้แต่รองปธน.ก็เกือบไม่ได้เป็นเพราะพรรคมุสลิมเปเปเปส่งปะฮัมซ่าห์ลงแข่งด้วย

อาเมียน ราอิส พรรคแปน (ที่มา: wpapcollection.blogspot.com)

คู่ขวัญจากสององค์กรมุสลิมใหญ่ของชาติ (ที่มา: wiki)

นั่นทำให้ชาวบ้านที่เลือกพรรคเปเดอี-เป เดือดปุดๆ อารมณ์คุกรุ่นไปหลายเมือง เหมือนถูกปล้นจากการรวมหัวกันของเหล่าพรรคมุสลิมที่ไม่ต้องการให้อีบูเมก้าขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศ ถ้าอีบูไม่ได้เป็นรองปธน.คาดว่าหลายเมืองต้องเกิดจลาจลแน่ อีบูถูกโจมตีด้วยข้อหาต่างๆ ลือกันไปทั่วเช่น อินโดฯ ไม่ควรมีผู้นำเป็นผู้หญิง ไม่ใช่คนฉลาด ไม่ใช่มุสลิมที่เคร่งครัดไปจนถึงไม่ใช่มุสลิมแท้ เป็นพรรคที่นิยมชาวจีนมากไป หรือเป็นพรรคที่มีแนวคิดคนละทางกับศาสนาเป็นต้น และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนลงคะแนนเลือกปธน.ทางตรงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ปธน.และรองปธน. (ที่มา: merdeka.com)

ปะกุสดูร หรือชื่อเต็มว่าอับดุรเราะห์มัน วาฮิด ปธน.คนที่สี่ของประเทศเกิดในตระกูลมุสลิมชั้นสูงของสังคมชวาตะวันออกเป็นปัญญาชนที่ว่าไปค่อนข้างแหกคอกจากครอบครัวนักการศาสนาระดับประเทศ แม้จะอยู่ภายใต้การตีกรอบโดยศาสนาและครอบครัวแต่ก็ใช้ชีวิตอิสระมีอารมณ์ขันชอบการเป็นนักคิดนักเขียนเป็นขบถตั้งแต่วัยหนุ่ม ถึงแบบนั้นที่สุดก็ยังต้องกลับมาสืบทอดภาระกิจองค์กรมุสลิมระดับชาติ NU ต่อจากรุ่นปู่รุ่นพ่อที่ก่อตั้งกันเอาไว้

ความเป็นเสรีชนที่เปิดกว้างทางความคิดทำให้ปะกุสดูรกล้าที่จะเอ่ยปากขอโทษต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างชาวจีนในข้อหาคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2508 ตายไปหลายแสนคนทั่วประเทศ โดยองค์กรมุสลิมรวมทั้ง NU ต่างก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบไม่มากก็น้อยในเหตุการณ์ที่เป็นหลุมดำใหญ่ของสังคมอินโดฯ คราวนั้นทั้งสิ้น

ปะกุสดูรมีปัญหาสุขภาพและการมองเห็นมาก่อนที่จะเป็นปธน.นานหลายปี เข้าใจว่าต้องมีคนช่วยในการอ่านและการเขียนส่งผลต่อการทำหน้าที่ผู้นำเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา สื่อหนังสือพิมพ์ถึงกับวาดการ์ตูนล้อเลียนว่าปะบูต้าตาบอดหรือบริหารประเทศคล้ายคนหลับ ท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายรายรอบตัวทั้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดนของอาเจ่ห์ ความขัดแย้งด้านศาสนาชาติพันธุ์ การฟื้นฟูกู้คืนเศรษฐกิจ การปฏิรูปใหญ่ประเทศยังสับสนไม่ไปไหน การเมืองภายในรัฐบาล การบริหารงานประจำวันจึงตกอยู่กับทางอีบูเมก้าเป็นส่วนใหญ่ ไม่ถึงสองปีในหน้าที่ปะกุสดูรก็ลงมาถึงจุดต่ำสุดทั้งที่เข้ามารับตำแหน่งด้วยแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลายฝ่าย เป็นปธน.ที่ถูกอิมพิชเม้นท์คนแรกของอินโดฯ ไม่นับปะฮาร์โต้ซึ่งผมมองว่าลงจากอำนาจเพราะแรงขับไล่จากประชาชน แล้วดันอีบูเมก้าขึ้นเป็นผู้นำแทนในกลางปี 2544

ท่านปธน.กุสดูรกำลังพักผ่อน (ที่มา: syafiiadnangresik.blogspot.com)

เมื่อการบริหารประเทศอยู่ในภาวะงงงวย เช่นมีเรื่องเล่าเชิงเสียดสีออกมาในภายหลังว่าปะยุดโดโย่ที่เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลในสมัยนั้นนั่งประชุมกันหันไปทางนี้ปะกุสดูรก็เหมือนนั่งหลับหันไปอีกทางอีบูเมก้าก็ทำหน้างงๆ เลยขออยู่เฉยๆ ดีกว่า Law and Order ไม่สามารถปฏิบัติได้ทั่วไป ในขณะที่กฎหมายปฏิรูปมาตราใหญ่ Regional Autonomy ประกาศตั้งแต่ปี 2542 ยังต้องให้เวลาเตรียมตัวออกกฏระเบียบอีกสองปีถึงจะได้ใช้

แต่บรรดาเหล่าบูปาตินายอำเภอทั่วประเทศก็ประกาศความเป็นอิสระไม่รอช้า มีการรวมกลุ่มเรียกร้องให้ส่วนกลางถ่ายเทอำนาจมายังท้องถิ่นโดยเร็ว นำโดยนายอำเภอบุคลิคแข็งกร้าวดุดันจากเต็งการง อำเภอเล็กๆ บนเกาะกะลิมันตันแต่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของประเทศ บรรดาข้าราชการส่วนกลางที่ทำงานในจังหวัดและอำเภอต่างๆ ก็เคว้งคว้างหาทางไปไม่ค่อยถูก การอนุมัติต่างๆ จะทำอย่างไรถูกกฎหมายหรือไม่ อำนาจขึ้นกับใครและจะรับเงินเดือนจากไหน นักลงทุนภายนอกทั้งหลายก็หยุดรอดูท่าที ยกเว้นนักลงทุนท้องถิ่นที่เร่งผลักดันให้หัวหน้าส่วนราชการออกใบอนุญาตโดยเร็ว ความไม่ชัดเจนดำรงอยู่ตลอดรัฐบาลปะกุสดูร

อารมณ์ขันของปะกุสดูร  "แค่เรื่อง (นับถือคนละศาสนา) เท่านั้นเองทำเป็นวุ่นวายกันไปได้" กูรูผู้เป็นพหูสูตรแม้แต่ในหมู่นักการศาสนาที่คร่ำเคร่งก็เปล่งเสียงหัวเราะได้เมื่อเจอะเจอ (ที่มา : deviantart.com และ sosok.kompasiana.com)

ปะกุสดูร ปธน.กูรูนักคิดนักเขียนนักขบถเสรีชนนักพหุนิยมและฮิวเมอริสเสียชีวิตในปี 2552

  

"ไม่มีอะไรสำคัญแม้แต่ศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ของมึง ถ้ามึงทำแต่สิ่งที่ดีสำหรับทุกคน ผู้คนก็ไม่เคยถามหาศาสนาจากมึง"

(ที่มา: phillagogy.com)

จันทบุรี 20 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568846เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท