Open Approach - วิธีประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑


          ผมขอนำตอนหนึ่งในหนังสือ คู่คิด ครูเพลิน ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม มาเผยแพร่วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ล้ำลึกยิ่ง ดังต่อไปนี้


What : Open Approach คืออะไร?

          Open Approach คือการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้โจทย์สถานการณ์ ปัญหาปลายเปิดในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนแต่ละคนเป็นผู้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้วิธีการคิดและวีธีการทำความเข้าใจทั้งของตนเองและของผู้อื่น ร่วมกัน

          กระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach นั้นเป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทยที่แตกต่างจากเดิม เพราะบทบาทของครูเปลี่ยนไปจากที่เน้นการบรรยายเนื้อหา การทำแบบฝึกหัดให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างและการ สรุปเนื้อหาที่เรียนในช่วงท้ายบทเรียน ไปสู่การเปิดชั้นเรียนที่ก่อแรงบันดาลใจ การใช้โจทย์สถานการณ์ปัญหา การส่งเสริมผู้เรียนให้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอด บทเรียนที่นำไปสู่การประมวล สังเคราะห์ สรุป ความรู้ใหม่ร่วมกัน


Why : ทำไมต้อง Open Approach?

          Open Approach เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีวิถีและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างทั่วถึงเต็มศักยภาพของแต่ละคน ผู้เรียนได้ยกระดับความรู้ และ ระดับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูงเกิดสมรรถนะฝังลึกที่จะเรียนรู้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ในเรื่องและ ในเงื่อนไขที่ตนยังไม่เคยรู้จักได้ด้วยตนเองและโดยกระบวนการกลุ่มจนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (Transformative Learning) ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิด อุปนิสัยและความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจหลักประการหนึ่ง ของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่จะทำให้นักเรียนเป็นผู้มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          นอกจากนี้ Open Approach ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ครูสามารถเห็นศักยภาพ และสมรรถนะของผู้เรียนได้ชัดเจนเพียงพอ ที่จะนำไปปรับปรุงแผนการเรียนการสอน ปรับปรุงตัวผู้สอน ไปจนถึงเข้า ช่วยเหลือผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งส่งเสริมให้กระบวนการ Lesson Study ดำเนินไปได้เป็นอย่างดี


How : ลำดับของกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางของ Open Approach มีอะไรบ้าง?

          งานสำคัญของครูในชั้นเรียน OpenApproach

๑. ขั้นแนะนำ

๒. ขั้นเปิดประเด็นโจทย์

๓. ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์

๔.ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

๕. ขั้นสรุป


ลำดับกระบวนการเรียนรู้ “Open Approach” ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร?

๑) ขันแนะนำเป็นช่วงเวลาที่ครูช่วยสร้างภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่าแรงบันดาลใจ และ จุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการเปิดประตูใจ จินตนาการและการลงมือกระทำให้เกิดกับผู้เรียน

                     - ภาวะพร้อมเรียนรู้ คือภาวะที่จิตใจ ประสาทสัมผัสและ ร่างกายของผู้เรียนอยู่ในภาวะที่มีความตื่นทั่วพร้อมผ่อนคลายดำเนินอยู่ในสมดุลที่ดี

                     - การซึมซับคุณค่า หมายถึง การให้ประสบการณ์แก่ ผู้เรียนในการซึมซับความดี ความงาม ความจริงของสิ่งที่กำลังจะเรียน เป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่าน สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และกิจกรรมบางอย่าง โดย ไม่ต้องผ่านการคิดอย่างเป็นลำดับ

          - แรงบันดาลใจคือแรงจูงใจแรงศรัทธาในการเรียนรู้ใน การแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์สิ่งที่กำลังจะเรียน

          - จุดมุ่งหมาย คือ เป้าหมายที่ท้าทายและภาพจินตนาการที่ชัดเจนของผู้เรียนที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ในสิ่งนั้น

๒) ขั้นเปิดประเด็นโจทย์ เมื่อผู้เรียนมีแรงขับเชิงบวกในการเรียนรู้ เนื่องจากการมีภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจและการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขหรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่มีความเหมาะสม

ขั้นเปิดประเด็นโจทย์จึงเป็นช่วงเวลาที่ครูแจกเงื่อนไข หรือโจทย์ สำหรับแก้ปัญหา และ/หรือสร้างสรรค์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน และเมื่อแรงขับพบกับเงื่อนไข หรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่เหมาะสม จะเกิดเป็นความพยายามในการจัดการกับเงื่อนไขนั้นๆ จนก้าวผ่านไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหมาย และในกระบวนการนี้ผู้เรียนจะสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้คือหลักการพื้นฐานของ “Active Learning” และ “Constructionism” ทุกประเภท

โจทย์ของ Open Approach มีลักษณะสำคัญดังนี้

๑. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่เคยพบมาก่อน

๒. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาหรือ สร้างสรรค์ตามเงื่อนไขของโจทย์ได้ทันที

๓. มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความรู้ความสามารถที่ผู้เรียนสะสมอยู่ในตัว มีความยากพอเหมาะและนำไปสู่ การสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ กล่าวคือ ถ้าผู้เรียนนำความรู้ความสามารถที่สะสมอยู่มาใช้ ในกระบวนการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้สุดความสามารถ (Heuristics) ก็จะสามารถแก้โจทย์หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์นั้นได้ และพร้อมกันนั้นผู้เรียนก็ได้สร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอด สังเคราะห์ หรือ ยกระดับขึ้นจากความรู้ ความสามารถเดิมที่สะสมมา

๔. มีความน่าสนใจเชื้อเชิญและท้าทายให้ผู้เรียนเข้าไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขนั้น

๕. มีลักษณะเปิดกว้างให้ผู้เรียนทดลองและค้นคว้า วิธีการที่หลากหลายและผลลัพธ์ที่อาจแตกต่างแต่ก็ ยังสามารถกำกับทิศทางและขอบวงของการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการเรียนรู้ได้

๓) ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนลงมือแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ที่ได้มา (โดยมากมักเป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่มขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เรียนได้เผชิญกับเงื่อนไขของโจทย์ด้วยตนเองอย่างทั่วถึง) เมื่อผู้เรียนกำลังต่อสู้หรือจัดการกับเงื่อนไขหรือโจทย์ที่กาลังเผชิญด้วยแรงขับเชิงบวกนั้นผู้เรียนกำลังสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นด้วย ตนเอง

๔) ขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนได้นำเสนอวิธีการ และผลของการแก้ปัญหา และ/หรือ การสร้างสรรค์ของตนกับเพื่อน และพร้อมกันนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเพื่อร่วมกันศึกษา เปรียบเทียบ พิจารณา ประเมิน รวมถึงจัดระเบียบวิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างเหล่านั้นขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการเปิดศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนเข้าหากัน หลอมรวมศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนสู่การเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของผู้เรียนอีกด้วย

๕) ขั้นสรุป เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสังเคราะห์ และยกระดับความรู้ใหม่ร่วมกัน

บทบาทสำคัญของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach

๑) เปิดประตูผู้เรียนสู่การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง

๒) ส่งเสริมดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยการหล่อเลี้ยงแรงขับจับประเด็นตั้งคำถามเพิ่มลดหรือปรับประสบการณ์ สนับสนุนอำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อย แนะนำ ช่วยเพิ่มลดหรือปรับทรัพยากรฯลฯเพื่อให้ผู้เรียนได้นำความร้คูวามสามารถ ที่สะสมอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุดจนเกิดการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น(constructionism) จากการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้ถึงที่สุดด้วยตนเอง(heuristics) และพร้อมๆกันนั้นครูยังช่วยจัดวางวิธีบันทึกความคิดความรู้สึก ความเข้าใจ บันทึกวิธีการ บันทึกผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับวิธีการช่วยตั้งคำถามช่วยตั้งประเด็นให้ผู้เรียน สังเกตเห็นและประเมินวิธีสร้าง ความเข้าใจและวิธีทำของตนเองในการแก้ปัญหาหรือการ สร้างสรรค์นั้นๆ(metacognition)

๓) ประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้ โดยการมีสติตั้งใจฟังสังเกตและรู้สึก อย่างละเอียดอ่อนฉับไวและแม่นยำ เพื่อหยั่งให้ถึงภาวะการนำความรู้ความสามารถออกมาใช้ ภาวะการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่แรงบันดาลใจวิถีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ อาการเข้าใจ ขอบเขตและคุณภาพของความเข้าใจพลังความสามารถและ ข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคนในขณะที่กำลังเรียนรู้ผ่านการแก้โจทย์ หรือการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ เป็นการประเมินเพื่อ พัฒนาอย่างฉับพลันทันทีไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน

๔) ตอบสนองต่อผลการประเมินนั้นอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยการตั้งคำถามจับประเด็นให้คำแนะนำ ให้ตัวอย่างอำนวยความช่วยเหลือฯลฯที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างสงบ มีสติในจังหวะที่เหมาะสมทันท่วงทีเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหลุดจากภาวะติดขัดหรือการเข้าใจผิดหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้นและดำเนินการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ต่อไปได้อย่างราบรื่น

๕) ขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนด้วยวิธีการเชิงบวก เมื่อมีผู้เรียนบางคนที่ไม่อยู่ในภาวะพร้อมเรียนหรือติดขัดอย่างมากหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือรบกวนการเรียนรู้ของเพื่อน ครูจะขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนนั้นด้วยวิธีการเชิงบวก ทั้งนี้ เพื่อรักษาแรงจูงใจด้านบวกของผู้เรียนคนนั้นและรักษา บรรยากาศเชิงบวกของชั้นเรียนเอาไว้ให้ต่อเนื่อง

          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ชั้นเรียนต้องมีสภาพดังที่บรรยายข้างบน และครูต้องมีทักษะดังที่ บรรยายข้างบน ขอขอบคุณครูศีลวัต และครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 568714เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 03:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ได้เรียนรู้เยอะครับอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ได้แนวคิดดีๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในงานสอนค่ะ

ขอขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณานำมาเผยแพร่ค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณานำมาเผยแพร่ค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณานำมาเผยแพร่ค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

ขอบคุณมากครับอาจารย์ เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ต่อครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท