แด่คนชื่อ ‘ยวน’


คำว่า "ญวน" หรือ "ยวน" มีความสัมพันธ์ต่อ "คนเมือง" หรือ "คนล้านนา"

           เมื่อตอนเช้าผมขับรถมาทำงานตามปกติ ขณะกำลังคิดอะไรเพลินๆ ต้องตกใจสุดขีดเมื่อผมมองไปเห็น “กรวย” เข้าต้องรีบเบรคและชะลอรถอย่างกะทันหัน หันมองซ้าย มองขวาหลายรอบ แล้วค่อยๆ ขับ ผ่าน “กรวย” ไปอย่างใจระทึก ต้องค่อยๆ ขับช้าๆ อย่างระมัดระวังน่ะ เดี๋ยวลมไปสัมผัส “กรวย” เข้า ผมจะซวยเอา เพราะตอนนี้ไม่รู้ว่า “กรวย” ใครเป็น “กรวย” ใคร อาจจะเป็น “กรวยอาถรรพณ์ ใครจับ-ขยับตาย” อย่างที่เขากำลังพูดถึงก็เป็นได้๕๕๕๕

           คนที่รู้จักครอบครัวผม เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้อาจจะบอกว่ากวน...เหมือนชื่อพ่อมัน

           คนที่ไม่รู้จักผม อาจจะถามว่า ไอ้ที่กวน...เหมือนชื่อพ่อ แล้วพ่อมันชื่ออะไรล่ะ....

           พ่อผมชื่อ “ยวน” ครับ เป็น “ยวน” เฉยๆ คำเดียวโดดๆ ไม่ใช่ ยวนใจ ยวนศักดิ์ ยียวน หรือ ณยวน

           ผมแปลกใจมานานแล้วกับชื่อของพ่อผม เคยถามและได้รับคำตอบว่า เป็นชื่อที่ปู่ตั้งให้ ไม่รู้ความหมาย และไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตั้งชื่อนี้ ไม่ใช่มีพ่อคนเดียวที่ชื่อนี้ คนรุ่นใกล้ๆ กันเป็นผู้หญิงก็ชื่อนี้ และคิดว่ามีคนชื่อ “ยวน” หลายคนแน่ๆ

           พ่อผมไม่เคยเปลี่ยนชื่อเลย เป็น เด็กชายยวน นายยวน หนานยวน ครูยวน ผอ.ยวน ลุงยวน ปู่ยวน แต่ที่เป็นไม่ได้ หรือไม่ได้เป็นกับเขาคือ “ตายวน” เพราะพ่อมีแต่ลูกชาย จึงไม่สามารถเป็นตาให้หลานเรียกได้

           ไม่แปลกที่พ่อผมจะมีชื่อคำๆ เดียว เพราะคนสมัยก่อนมักจะตั้งชื่อลูก หลาน คำเดียวง่ายๆ เสมอ ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาถึงชื่อ ตาสี ยายสา ตามี ยายมา ป้าแม้น ฯลฯ ไม่มี เขมชาติสุริยง เกนหลง อัมพิกา อาทิตย์ หรือชื่อยอดฮิตอย่าง “วิทยา”

            แต่สิ่งที่ผมสงสัย และยังคงสงสัยอยู่จนถึงบัดนี้ก็คือทำไมต้องชื่อ “ยวน” ด้วย ชื่ออื่นมีมากมาย และ “ยวน” มันมีความหมายอะไร....และมันไม่ได้มีแค่ “ยวน” เดียว แต่มันมีหลาย “ยวน” และโชคดีที่พ่อ แม่ผมไม่ได้ตั้งชื่อพวกเราเป็น ยวนหนึ่ง ยวนสอง ยวนสาม....(เหมือน บีหนึ่ง บีสอง อ่ะน่ะ)

            ผมมาถึงบางอ้อ (ที่ไม่ได้ติดบางพลัด) ก็คราวที่ได้อ่านบทความ “ ‘คนเมือง’ ร่องรอยความขัดแย้ง” ใน หนังสือพิมพ์มติชน วันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หน้า ๑๘ ใน เขียนโดย คุณวิภา จิรภาไพศาล จะขอตัดตอนนำมากล่าวถึงสักเล็กน้อย

            คุณวิภาได้นำเสนอถึง คำว่า “คนเมือง” ที่ปัจจุบันเราหมายถึงคนภาคเหนือของประเทศ หรือล้านนาในอดีต อ้างถึงนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม บทความชื่อ “ไทยเหนือ ไทยใต้ คนเมือง : ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างล้านนากับสยาม” โดย เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว และ “คนเมือง” โดย วรชาติ มีชูบท

            ผู้เขียนทั้งสองต่างค้นคว้าเอกสารเก่าพบคำอื่นๆ ที่ผู้คนล้านนาเรียกตนเอง และคนอื่นใช้เรียกคนล้านนา เช่น “คนยวน” ที่ ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เขียนไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ว่าคือ คำที่คนล้านนาเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ ปัจจุบันอาศัยอยู่อำเภอเสาไห้ จ.สระบุรี และอำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ใช้เรียกตนเอง ไม่มีใครรู้จักคำว่า “คนเมือง”

            “คนลาว” คือคำที่คนสยามเรียกคนล้านนา ดังที่พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่บันทึกเกี่ยวกับการเปิดโรงเรียนฝึกหัดราชการโดยรับบุตรของบรรดาเจ้านายล้านนาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ว่า “...การฝึกหัดนักเรียนคนไทยกับคนลาวนี้เปนการผิดกันมาก เพราะคนไทยนั้นถึงจะเลวทรามเพียงใดตั้งใจจะรับราชการอยู่แล้ว ก็สามารถฝึกหัดบอกเล่าเข้าใจกันได้ง่ายแลมีความกล้าหาญอดเหนียว คนลาวนั้นถึงแม้ว่าจะฝึกหัดได้ดีมีคุณวุฒิเท่ากับคนไทยก็ดี แต่ความอดเหนียวกล้าหาญไม่มี มักจะเกียจคร้านเสียมาก...”

             คำว่า ญวน, ลาว และไทยพายัพ ฟังจากคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในล้านนา ๓๐ กว่าปี (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๖๒) อย่างมิชชันนารีอเมริกัน ศาสนาจารย์วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “...นอกจากคนไทยในส่วนอื่นของประเทศไทยแล้วโดยเฉพาะในส่วนเหนือนี้ เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพวกเราและเป็นยอดรักของพวกเราตลอดจนมิตรสหายและผู้ร่วมงานอื่นๆ ด้วย ถ้าท่านผู้เคยปฏิบัติงานด้วยภักดีมานานในระหว่างพวกนี้จะยอมรับเรียกพวกนี้ว่า ‘ญวน’ ไม่เรียกว่า ‘ลาว’ แล้วจะเป็นที่น่าตื่นเต้นแก่ข้าพเจ้ามาก แต่ถ้าท่านไม่ยอมรับเรียกตามนั้น ข้าพเจ้าแนะนำชื่อใหม่ให้ ชื่อเก่าเรื่องเก่าของลาวนั้นได้ล่วงพ้นมานานนมแล้ว เพราะคำว่า ‘ลาว’ ที่นำมาใช้เรียกคนภาคเหนือในประเทศไทยนั้นเป็นการหลงผิดทั้งเพ ผิดทั้งการเรียกและผิดทั้งสำเนียง แม้ว่าไทยหรือชาวยุโรปหรืออเมริกันบางคนจะเคยเรียกผิดอย่างนั้นมาชั่วกัปป์ชั่วกัลป์แล้วก็ตาม แต่พวกของเราเองไม่เคยแม้แต่เอ่ยถึงชื่อนั้นเลย...”

              ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบมาเมื่อพี่ชายทั้ง ๒ คนของผมมาเรียนที่โรงเรียนสวรรค์อนันต์ อ.สวรรคโลก มีเรื่องชกต่อยกันประจำ เหตุผลหนึ่งคือถูกเรียกว่า “ไอ้ลาว” เพราะคนสวรรคโลกพูดภาษาไทยกลาง ส่วนคนทุ่งเสลี่ยมบ้านผม พูดภาษาเหนือ หรือภาษาคำเมือง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมภาษาทำให้เกิดความแปลกแยก และนำซึ่งความขัดแย้ง

             “ไอ้ลาว” ที่เขาเรียกพี่ผม ก็คงเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ตกค้างมาจากบรรพบุรุษที่เรียก “คนเมือง” หรือคน “ล้านนา” ว่าเป็น “คนลาว” ใช้แบ่งแยกออกมาจากคนสยาม ซึ่งเป็นการข่มกันด้วยภาษาที่แสดงถึงความเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ล้านนา” หรือ “มณฑลภาคพายัพ” ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามหรือคนไทยภาคกลาง จึงถูกมองว่าต่ำต้อยกว่า

              ผมโชคดีเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย ทั้งสองแห่งต่างก็อยู่ในแวดวงหรืออยู่ในดงของภาษา “คำเมือง” เหมือนกัน จึงไม่มีใครเลือกผมว่า “ไอ้ลาว” จะมีก็แต่ “ไอ้คนหน้าขาว” เท่านั้น

               และคนชื่อ “ยวน” หรือ “ญวน” ก็เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศนาม “ล้านนา” หรือเป็นตัวแทนแห่งความทระนงแห่งชาติพันธุ์ของตนที่ไม่ได้หลงลืมที่มาแห่งบรรพชนของตน

               คำว่า “ยวน” จะมีความหมายของมันว่าอย่างไรผมยังไม่ทราบในตอนนี้ แต่ คำว่า “ยวน” ในอดีตนั้น คือชื่อที่คนล้านนาเรียกตนเอง และคนอื่นใช้เรียกคนล้านนา

               ดังนั้น ช่างน่าภูมิใจที่พ่อ “ยวน” ของผมมีส่วนเกี่ยวของกับประวัติศาสตร์ภาคพายัพ หรือประวัติศาสตร์ล้านนาถึงแม้นว่าพ่อผมจะไม่ใช่ “คน” ในประวัติศาสตร์ก็ตาม.

หมายเลขบันทึก: 568026เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท