คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าวในประเทศไทย:การประกอบอาชีพของคนต่างด้าว

     คนต่างด้าว (aliens) หมายถึง บุคคล ซึ่งพำนักอยู่ในรัฐ ที่ตนมิได้เป็นคนสัญชาตินั้น หรือเป็นพลเมืองของรัฐนั้น พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า "คนต่างด้าว หมายถึง ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย" โดยทั่วไปแล้วประชาชน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของรัฐหนึ่งรัฐใด ย่อมประกอบไปด้วยบุคคลสองจำพวก คือ พลเมืองของรัฐนั้นจำพวกหนึ่ง กับอีกพวกหนึ่ง คือพลเมืองของรัฐอื่น ซึ่งเรียกว่า คนต่างด้าว คนต่างด้าว ที่เข้ามาอาศัยในดินแดนของรัฐใด ย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายของรัฐเช่นเดียวกับพลเมืองของรัฐนั้น แต่โดยทั่วไปแล้วคนต่างด้าวจะถูกจำกัดสิทธิ และหน้าที่บางประการ

     สำหรับประเทศไทยได้รับรองสิทธิในเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.43 บัญญัติว่า

     “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

      การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

     ซึ่งในปัจจุบัน เราสามารถพบได้ในทั่วทุกสังคม รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่มักจะมีคนต่างด้าวที่ถูกจ้างเข้ามาเป็นแรงงานอยู่ในประเทศไทย เช่นตาม ร้านขายของชำ ตามร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น แต่จากที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาถึงเรื่องความเป็นอิสระของคนต่างด้าวในการเลือกที่จะประกอบอาชีพในประเทศไทยนั้น มีข้อจำกัดไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้พบข้อจำกัดเรื่องการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ซึ่งบัญญัติไว้ใน "บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522" ที่ได้กำหนดไว้ถึง 39 อาชีพที่คนต่างด้าวในประเทศไทยไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพนั้นได้ จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวนัั้น ถือเป็นการละเมิด ปฏิณญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR) ข้อ 23. ที่ว่า "บุคคลมีสิทธิที่จะทำงานและเลือกงานอย่างเสรี ได้รับการคุ้มครองจากการว่างงาน มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และบุคคลที่ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรม มีสิทธิเข้าร่วมและก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อนคุ้มครองประโยชน์ของตน"

     แต่อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพสัมพัทธ์ คือ อาจถูกจำกัดการใช้เสรีภาพได้โดยกฎหมาย หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการประกอบอาชีพจะถูกกำจัดได้โดยกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพย่อมต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อจำกัด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจำกัดเสรีภาพชนิดนี้ตามอำเภอใจได้

     

อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำมีดังนี้

(๑) งานกรรมกร ยกเว้นงานกรรมกรในเรือประมงตาม (๒)

(๒) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา งานควบคุมดูแลฟาร์ม หรืองานกรรมกรในเรือประมง ทางทะเล

(๓) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

(๔) งานแกะสลักไม้

(๕) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

(๖) งานขายของหน้าร้าน

(๗) งานขายทอดตลาด

(๘) งานควบคุม ตรวจสอบ หรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายใน เป็นครั้งคราว

(๙) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

(๑๐) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

(๑๑) งานทอผ้าด้วยมือ

(๑๒) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

(๑๓) งานทำกระดาษสาด้วยมือ

(๑๔) งานทำเครื่องเขิน

(๑๕) งานทำเครื่องดนตรีไทย

(๑๖) งานทำเครื่องถม

(๑๗) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

(๑๘) งานทำเครื่องลงหิน

(๑๙) งานทำตุ๊กตาไทย

(๒๐) งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม

(๒๑) งานทำบาตร

(๒๒) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

(๒๓) งานทำพระพุทธรูป

(๒๔) งานทำมีด

(๒๕) งานทำร่มกระดาษหรือผ้า

(๒๖) งานทำรองเท้า

(๒๗) งานทำหมวก

(๒๘) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

(๒๙) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

(๓๐) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ

(๓๑) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

(๓๒) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

(๓๓) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

(๓๔) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

(๓๕) งานเร่ขายสินค้า

(๓๖) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

(๓๗) งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ

(๓๘) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

(๓๙) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้น

        (ก) งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ

        (ข) งานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ถ้ากฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย หรือเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นในราชอาณาจักรไทย

     ดังนั้น ไม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถขนาดไหน ถ้าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ก็จะไม่สามารถทำงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้เลยดังเช่นกรณีของน้องดวงตาเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทางภาษา เนื่องจากเรียนในคณะศิลปศาสตร์ น้องอาจได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นมัคคุเทศก์หรือเป็นผู้นำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่น้องไม่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพนี้ได้ เนื่องจากน้องเป็นคนต่างด้าว งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยวเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอย่างน้องดวงตา ทำให้น้องดวงตาขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ

     ซึ่งจากเหตุผลส่วนใหญ่ในบทความที่ข้าพเจ้าได้ทำการศืบค้นและศึกษานั้น ว่าเหตุใดจึงห้ามให้คนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยประกอบอาชีพเหล่านี้ เหตุผลส่วนใหญ่ที่ได้เขียนไว้ในบทความ คือ เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วมองว่าในบางอาชีพที่ได้ระบุห้ามไว้นั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าในช่วงเวลาสมัย จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อาจจะมีกรณีของชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย อาจจะเข้ามาโดยถูกกฎหมาย หรื อหลบหนีเข้ามาก็ตาม จึงต้องมีการสงวนอาชีพให้กับคนไทยเพื่อกีดกันมิให้ชาวจีนได้รับสิทธิในอาชีพต่างๆมาเกินไป แต่ในปัจจุบันที่สังคมโลกได้กลายเป็นสังคมแบบโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็ฯสังคมโลกไร้พรมแดน การติดต่อเข้าออกระหว่างประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาอย่างยิ่งถึงอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ที่ในบ้างอาชีพสำหรับสังคมในปัจจุบันแล้วไม่ควรจะมีการจำกัดไว้แต่เฉพาะคนไทย แต่บางอาชีพที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติจริงๆ จึงจะจำกัดไว้แต่เฉพาะคนไทยก็ให้ทำได้

    เพราะอาจมีคนต่างด้าวที่เป็นทรัพยากรที่มีฝีมือ อาจจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่ประชาชนชาวไทยอาจจะยังมีอยู่น้อยเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย แต่อาชีพที่เขาต้องการทำนั้นกลับเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว เช่นนี้แล้วย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ทำการปฏิเสธทรัพยากรอันมีค่าไป ดังนั้น เรื่องของการจำกัดการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวควรจะได้รับการพิจารณา เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนแรกแล้วว่า การจำกัดการประกอบอาชีพของมนุษย์นั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ดังนั้นหากยังคงมีการจำกัดอาชีพสำหรับคนต่างด้าวต่อไปประเทศก็ยังคงตกเป็นผู้กระทำละเมิสิทธิของคนจ่างด้าวอยู่ต่อไป

อ้างอิง

1.อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ.ที่มาhttp://www.mol.go.th/employee/occupation%20_prohibited.สืบค้นเมื่อ 11 พ.ค.57

2.ต่างชาติ กับ ต่างด้าว แตกต่างกันอย่างไร?.ที่มาhttp://guru.sanook.com/21278.สืบค้นเมื่อ 11 พ.ค.57

3.ปฎิณญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.ที่มาhttp://www.l3nr.org/posts/519241.สืบค้นเมื่อ 11 พ.ค.57

4.พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว.ที่มาhttp://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973762&Ntype=19.สืบค้นเมื่อ 11 พ.ค. 57

หมายเลขบันทึก: 567859เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท