เรียนเพื่อรู้วิชา หรือ เรียนเพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพ


หัวใจไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การได้มีโอกาสฝึกคิด ร่วมกันคิด สร้างชิ้นงาน ฝึกนำเสนอ ฝึกโต้แย้ง และฝึกอื่นๆ การเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ คือการฝึกใช้ความรู้

          ช่วงเที่ยงและบ่ายวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยง และพูดคุยหารือ กับท่านเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ Kristi Westphalen เรื่องความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ที่สถาบันอาศรมศิลป์ จัดโดยท่านอธิการบดี รศ. ประภาภัทร นิยม

          สาระที่เป็นหัวใจที่เสวนากัน ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือเป้าหมายของการศึกษา ในขณะที่เป้าหมาย ของเรา (ประเทศไทย ตามที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงศึกษาธิการ) คือเรียนเพื่อรู้วิชา ตามคติโบราณ “รู้สิ่งใดไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” แต่ฟินแลนด์ยึดคติสมัยใหม่ คือจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้พัฒนา เต็มศักยภาพ

          นั่นคือ ไทยยึดการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ส่วนฟินแลนด์ยึดแนวทางการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ท่านยกตัวอย่างวิธีที่ครูชั้น ป. ๕ นักเรียนอายุ ๑๐ ปี ของประเทศฟินแลนด์ จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครูยกเอากล่องกระดาษกล่องหนึ่งมาวางบนโต๊ะ มอบหมายให้นักเรียนกลุ่มละ ๔ - ๕ คน ทำโครงงาน ออกแบบสินค้าที่จะบรรจุลงกล่อง พร้อมทำแผนธุรกิจในการจำหน่ายสินค้านั้น รวมทั้งทำแผนการตลาด เสนอต่อเพื่อนในชั้นเรียน โดยตระหนักว่า เพื่อนๆ ที่เหลือทั้งชั้นจะหาช่องจับจุดอ่อนของข้อเสนอนี้ นี่คือโจทย์ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ๑๐ ขวบนะครับ

          หัวใจไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การได้มีโอกาสฝึกคิด ร่วมกันคิด สร้างชิ้นงาน ฝึกนำเสนอ ฝึกโต้แย้ง และฝึกอื่นๆ การเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ คือการฝึกใช้ความรู้

          เด็กจะเติบโตทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการเรียนแบบ active learning อย่างนี้ ไม่ใช่เรียนผ่านการสอนแบบถ่ายทอดวิชาความรู้โดยครู

                                       ท่านทูตฟินแลนด์กำลังเสวนา

                         บรรยากาศในห้องประชุมและรับประทานอาหาร

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567656เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เทียบบ้านเรานั่นคือกิจกรรมระดับ ม.ปลาย หรือ มหาวิทยาลัยเลยค่ะ ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะอาจารย์

...การเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ...ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ...เป็นการเติมเต็มศักยภาพให้แก่ผู้เรียนได้อย่างน่าสนุกนะคะอาจารย์...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท