KM วันละคำ : ๖๒๙. จับตัวความรู้ฝังลึก


          ขอบันทึกต่อจากบันทึกที่แล้ว ว่าผมได้เรียนรู้จากการทำหนังสือเรื่อง Tacit Knowledge in Health Policy and Systems Development ที่นำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อย่างไรบ้าง

          ในที่ประชุมพูดกันเรื่องการจับตัว (capture) ความรู้ฝังลึก ผมชี้ (ไม่รู้ว่าชี้ถูกหรือชี้ผิด) ว่า นั่นคือการหลงเอาจารีตของ Explicit Knowledge มาใช้กับ Tacit Knowledge

          จารีตของ EK เป็นจารีตวิทยาศาสตร์/วิจัย เน้นการหาความรู้โดยการทดลองในสภาวะที่ควบคุมได้ แต่จารีตของ TK เป็นจารีตของการลงมือทำ (action) หรือการพัฒนา (development) ในสภาพจริง ที่ไม่มีการควบคุมตัวแปรใดๆ

          การจับตัวความรู้ฝังลึกออกมาเป็นชิ้นความรู้ จึงไม่ใช่จารีตของ TK และไม่ควรหลงทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และวุ่นวายโดยไม่จำเป็น

          กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด เพราะเราสามารถ “เห็น” หรือ “ได้กลิ่น” ของ TK ได้ ผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความรู้ และเราจะได้ภาพหรือกลิ่นชัดโดยตั้งสติรับรู้ด้วย deep listening จะ “ได้ยิน” สิ่งที่ไม่มีอยู่ในถ้อยคำของเรื่องเล่า คือความรู้ฝังลึกมันลึกกว่าตัวตนตามจารีตของ EK มันเป็นนามธรรมที่สัมผัสได้ หากเราจิตว่างพอที่จะสัมผัส

          ในจารีตของ EK จะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของความรู้ (validate) ดังนั้น เมื่อคนที่อยู่ใน จารีตวิทยาศาสตร์/วิจัย ต้องการทำความรู้จัก TK ก็จะถามหากระบวนการ validate ความรู้นั้น ซึ่งนักจัดการ ความรู้ ก็จะตอบว่า เราไม่ validate แต่เรา appreciate จะเห็นว่าพูดกันคนละภาษา คิดกันคนละแบบ หรือคนละจารีต

          นักจัดการความรู้ ที่ใช้พลังของ TK จะไม่มัว validate ตัวความรู้นั้น แต่จะ appreciate และเป็นลมส่ง ให้ TK นั้นแสดงพลังทำให้งานยากกลายเป็นงานง่าย งานที่ไม่น่าจะทำได้ เกิดผลสำเร็จ

          TK มีกระแสแห่งพลัง ที่ไม่ต้องมี “ผู้รู้” มาบงการในเชิงวิชาการ หรือในเชิงจัดการ หากจะหนุน ก็ทำได้โดยเอา EK มาตีความผลของการกระทำ เพื่อยกระดับความเข้าใจ TK ในกระบวนการทำงานนั้น

          การตรวจจับความรู้ฝังลึกออกมาให้ได้ตัว “ความรู้” เอาไว้ดูเล่น หรือเพื่อเอามาเป็นผลงานนั้น ไม่ใช่กิจของการจัดการความรู้ หากต้องการ “สัมผัส” ความรู้ฝังลึก ก็ให้สัมผัสผ่าน ผลงาน การพัฒนาคน และการพัฒนาองค์กร

วิจารณ์ พานิช

๒๒ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567655เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท