ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๑. เจตจำนงของบันทึกชุดนี้


ผมจึงเขียนบันทึกชุดประเมินเพื่อมอบอำนาจ นี้ เพื่อสื่อสารต่อสังคมไทย ว่าวงการศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการประเมิน หันไปใช้การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นพลังขับดัน การยกระดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติ โดยในตอนต่อๆ ไปจะได้ลงรายละเอียดเชิงเทคนิค หรือวิธีปฏิบัติ

          บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

          บันทึกตอนที่ ๑ นี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผม ว่าที่เลือกหนังสือเล่มนี้มาตีความและแบ่งปัน ต่อสังคมไทย ก็เพราะผมเชื่อในคุณค่าของคุณภาพของการศึกษาต่อคนรุ่นหลัง และต่อความวัฒนาถาวร ในระยะยาวของประเทศ และรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนที่คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ต้องการทุ่มเท ชีวิตในบั้นปลาย รับใช้บ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการเผยแพร่ความรู้สำคัญๆ ด้านการศึกษา

          จากการอ่านหนังสือด้านการศึกษาสมัยใหม่จำนวนมาก ประกอบกับการพูดคุยกับผู้มีความรู้ ด้านการศึกษา และการสังเกตสภาพการทำงานของครู และสภาพชั้นเรียน รวมทั้งการบริหารระบบการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลาง ผมลงมติกับตัวเอง (ผมอาจจะผิด) ว่าวงการศึกษาไทยใช้การประเมินผลผิดทาง และขออภัยที่ต้องใช้คำรุนแรงว่า มีมิจฉาทิฐิด้านการประเมินผลการศึกษา

          ที่ว่ามิจฉาทิฐิคือ หลงใช้การประเมินได้-ตก เน้นประเมินตามมาตรฐาน (summative evaluation) เป็นตัวนำ หรือใช้เฉพาะตัวนี้ ละเลยหรือไม่ให้คุณค่าของการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) ซึ่งต้องมอบความไว้วางใจแก่ครูเป็นผู้ประเมิน ฝ่ายบริหารต้องเกื้อหนุน (empower) ให้ครูประเมินได้แม่นยำ ผมเดาว่าฝ่ายบริหารส่วนกลางไม่เชื่อถือครู จึงไม่ไว้วางใจให้ประเมิน และละเลยคุณค่าของการประเมิน เพื่อพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย

          ผมจึงเขียนบันทึกชุดประเมินเพื่อมอบอำนาจ นี้ เพื่อสื่อสารต่อสังคมไทย ว่าวงการศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการประเมิน หันไปใช้การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นพลังขับดัน การยกระดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติ โดยในตอนต่อๆ ไปจะได้ลงรายละเอียดเชิงเทคนิค หรือวิธีปฏิบัติ

          เมื่อท่านอ่านบันทึกนี้จบทั้ง ๑๐ ตอน ก็จะแจ่มชัดว่า ทำไมผมตั้งชื่อบันทึกชุดนี้ว่า “การประเมินเพื่อมอบอำนาจ” .... เพราะ formative assessment จะเป็นเครื่องมือส่งมอบอำนาจในการประเมิน ที่แท้จริง ให้แก่ผู้เรียน เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้เรียน

          รวมทั้งจะส่งมอบอำนาจในการประเมินให้แก่ครู และยิ่งกว่าส่งมอบอำนาจ จะเป็นการฟื้นศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นครู

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567624เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2014 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Serious conditions often need strong medicine.

But somehow I think we should start the treatment at the the Ministry of Education! Once the regulator is well then other parts can adjust to fit.

มีเหตุผลหนึ่งที่ "อึ้ง" กับการประเมินโดยใช้เฉพาะแบบทดสอบ ที่ในปัจจุบันก็ยังจะ "ยัดเยียด" ให้ใช้อยู่ ซึ่งผมก็เคยถูกทดสอบตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมมาเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วคือ "...พอเรา quiz แล้ว เราจะได้คะแนนเอาไปกรอกได้เลย..." !!!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท