กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


บันทึกข้อมูลเมื่อ วันจันทร์ ที่ 5 พ.ค. 2557

           ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับได้แก่

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7)อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families CWM)

            ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CEDAW ว่าด้วยการรับข้อร้องเรียน และอนุสัญญาสิทธิเด็กอีก 2 ฉบับคือ พิธีสารเลือกรับเรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography)และพิธีสารเลือกเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict ) ส่วนอนุสัญญาอีกสองฉบับที่ไทยยังไม่ได้เป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว [1]

           ซึ่งการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศ ไทยจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามที่ได้เข้าเป็นภาคี อาจต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามที่ตนได้เข้าเป็นภาคีในตราสารระหว่างประเทศ

           ปัจจุบันสำหรับประเทศไทยนั้น มีปัญหาเกิดขึ้นภายในสังคมและเป็นปัญหาในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ยังมีอนุสัญญาบางข้อที่ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี คือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จะเห็นได้จากข่าวดังต่อไปนี้ [2]  การหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ความคืบหน้าล่าสุดคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการสืบสวนอย่างละเอียดและเป็นกลาง ทางคณะเข้าไปตรวจสอบที่ด่านตรวจเขามะเร็ว สถานที่สุดท้ายที่พบบิลลี่ โดยเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศได้สังเกตการณ์ทำงานของเจ้าหน้าที่ และสัมภาษณ์พยานหลัก รวมถึงภรรยาของบิลลี่และชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าสำนักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

แซม ซาริฟี่ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า การได้ลงไปในพื้นที่สามารถยืนยันข้อกังวลได้ว่า บิลลี่อาจถูกบังคับให้หายตัวไป กรณีนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงอย่างยิ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญา ในการระบุตัวผู้ต้องสงสัยและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า การหายตัวไปของบิลลี่ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าบิลลี่ถูกควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นข้อเท็จจริง และการที่บิลลี่ยังไม่กลับมาเท่ากับว่าเขายังคงถูกจำกัดเสรีภาพ การถูกจำกัดเสรีภาพโดยไม่ได้พบปะญาติ หรือบุคคลอื่นเป็นการละเมิดสิทธิ และเสี่ยงต่อการทรมาน และเป็นการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม

ข้อเท็จจริงจากผู้ควบคุมตัวบิลลี่ว่า ปล่อยตัวไปแล้ว แต่มีประเด็นน่าสงสัยทำให้เชื่อว่า บิลลี่ยังคงถูกจำกัดเสรีภาพและเสี่ยงต่อการทรมาน ซึ่งมีการร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติในกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณะทำงานเรื่องคนหาย ผู้แทนพิเศษเรื่องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เนื่องจากบิลลี่มีสถานะเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเผ่าพื้นเมือง จากประวัติของชุมชนและประวัติการทำงานของบิลลี่ จึงเชื่อว่า สาเหตุของการควบคุมไม่น่าเกิดขึ้นจากการครอบครองน้ำผึ้ง 5 ขวด และการถูกบังคับให้หายตัวไปกว่าหนึ่งอาทิตย์ น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และการเรียกร้องสิทธิให้กับชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเคยมีการร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติไว้ก่อนหน้านี้

การหายตัวไปสะท้อนให้เห็นปัญหาความเสี่ยงของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่มีกลไกรับฟังความเห็น หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องความขัดแย้งกันในเชิงโครง สร้างระหว่างวิถีของคนชนเผ่า กับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าของอุทยาน แต่ที่ผ่านมา 5-6 ปี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีการจัดการ โดยใช้ความรุนแรงต่อชุมชนชาวกะเหรี่ยงด้วยทรรศนะที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีของ คนชนเผ่าการบังคับรื้อและย้ายถิ่นโดยเกิดขึ้นกับชาวบ้านทำให้เกิดความขัด แย้งการลอบสังหารแกนนำ และชาวบ้านเดือดร้อน ขณะทางอุทยานอ้างว่าตนทำถูกต้องตามกฎหมายอุทยาน

อีกประการหนึ่งคือ ปัญหาการสืบสวนคดีสิทธิมนุษยชน เช่นคดีคนหาย มักขาดความรวดเร็วเร่งด่วน ทำให้หลักฐานพยานสูญหาย เช่น หลักฐานทางโทรศัพท์ที่สำคัญมาก การตั้งประเด็นของตำรวจในท้องที่ทำให้การสืบสวนสอบสวนไม่จริงจัง ไม่ทำให้ญาติและชุมชนเกิดความเชื่อมั่น ความจริงไม่ปรากฏ และถูกปกปิดโดยกลไกรัฐเอง การสืบสวนภายในของกรมอุทยานเองล่าช้าและไม่ส่งผลต่อการสร้างความกระจ่าง ตอนนี้อุทยานตกเป็นจำเลย หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการควบคุมตัว แล้วบิลลี่ยังไม่กลับมา ทางกรมอุทยานต้องสร้างความกระจ่างเปิดโอกาสให้ตำรวจทำงานเต็มที่ การย้ายหัวหน้าและลูกน้องที่มีข้อเท็จจริงว่าอยู่ในเหตุการณ์การควบคุมตัว ออกจากพื้นที่ก่อน หรือกันไว้เป็นพยานก็อาจมีส่วนทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการสืบสวนมาก ขึ้น ด้วยพยานที่หวาดกลัวอาจนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยกับตำรวจมากขึ้น

การหายตัวไปของบิลลี่จึงเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง เพราะสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทยที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทางองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าไทยไม่สามารถคลี่คลายได้ แนวโน้มการใช้ความรุนแรงต่อชนเผ่าพื้นเมืองจะมีมากขึ้น ทั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทยต่อเรื่องคนหายยังคงเป็นปัญหาไม่มีกฎหมาย คุ้มครอง จึงต้องให้ทางสหประชาชาติที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศต่าง ๆ มีส่วนในการนำเสนอแนวทางปฏิบัติให้ประเทศไทยได้ดำเนินการทั้งด้านนโยบาย การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง และเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับ ให้สูญหาย

              จากข้อเท็จจริง นายบิลลี่เป็นผู้ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง โดยกล่าวว่าหัวหน้าเจ้าหน้าที่อุทยานได้นำเจ้าหน้าไปที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า โดยกล่าวหาว่าเป็นชนกลุ่มน้อย ได้กระทำการเผ่าทำลายบ้าน ทำลายทรัพย์สินทำให้สูญเสียที่ดินทำกิน และวัฒนธรรมที่สืบกันมา ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มานานกว่า และก่อนการประกาศเขตอุทยานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อมานายบิลลี่ได้ถูกเรียกไปค้นตัว ข้อหาครอบครองน้ำผึ้ง ถึงแม้การที่เจ้าหน้าที่ได้บอกว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่แล้ว แต่เนื่องจากไม่มี พยานหลักฐานว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่จริง ซึ่งข้อมูลสุดท้ายก็คือ การควบคุมตัวที่อุทยาน แม้การควบคุมตัวจะเป็นการทำอย่างถูกต้อง แต่หลังจากที่ปล่อยไป อาจจะเป็นการบังคับคนให้สูญหาย ซึ่งเป็นการผิดตามกติการะหว่างประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีการรับอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ในด้านสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ใช่เพียงแค่คดีของนายบิลลี่ ยังมีผู้ถูกละเมิดอีกหลายราย ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์คนสูญหายโดยการถูกบังคับ ก็จะไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดให้ต้องรับโทษได้ ข้าพเจ้ามองว่า ประเทศไทยควรที่จะเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนได้

เอกสารอ้างอิง

[1]กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, (2553), ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี(ออนไลน์), สืบค้นจาก : http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions , [5 พฤษภาคม 2557]

[2]เดลินิวส์ , ต่างชาติจับตาคดีบิลลี่หายตัววอนเจ้าหน้าที่ลุยหาความจริง(ออนไลน์), สืบค้นจาก : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/234978/... [5 พฤษภาคม 2557]


หมายเลขบันทึก: 567411เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท