วิชาพัฒนานิสิต (๔) : เสียงจากนิสิต


ถึงแม้นิสิตเหล่านี้จะยังไม่มีประสบการณ์ของการเป็น "นักกิกรรม" ไม่ใช่แกนหลักของ "องค์กรนิสิต" แต่สิ่งที่เขาพยายามเรียนรู้ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี่เหร่เลยแม้แต่น้อย หากวันหนึ่งเขาเดินทางเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม ผมเชื่อว่า วินาทีและสถานการณ์แห่งการเรียนรู้ในเวทีนี้ ย่อมทำให้เขามี "อาวุธ" ที่ดีในการที่จะ "รุกและรับ" หรือเดินต่อได้อย่างไม่ขาดเขิน

หลังจากนิสิตที่เรียนวิชาการการพัฒนานิสิตได้จัดโครงการเสร็จสิ้นแล้ว นิสิตในแต่ละกลุ่ม ยังต้องจัดทำเอกสารรายงานโครงการคืนกลับมายังผู้สอน ภายในเล่มรายงานนอกจากจะเป็นภาพรวมของการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ในเชิงกลุ่มแล้ว ยังมอบหมายให้นิสิตได้เขียนสะท้อนการเรียนรู้ในเชิงปัจเจกบุคคลเข้ามาด้วย เป็นการฝึกคิด ฝึกเขียน เน้นการเขียนถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ เน้นการเขียนอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่ปลุกปั้นเกินความจริง

และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผมคัดย่อ ตัดตอนมาจากเรื่องแต่ละเรื่องของนิสิต

การมาออกค่ายครั้งนี้ เป็นการออกค่ายครั้งแรก รู้สึกดีใจที่ได้ไปออกค่าย ได้ไปทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และยังได้ทำประโยชน์กับชุมชน ถึงจะไม่มากก็เถอะ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับเพื่อนๆ ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม และยังมีผู้ใหญ่ในชุมชนมาช่วยทำฝาย ช่วยบอกวิธีทำฝาย รวมถึงให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่าดีทั้งการกิน การนอน การจัดเตรียมอุปกรณ์ทำฝาย

อธิตา ทรัพย์สมบัติ


ตอนที่กินข้าวนั้น ดิฉันรู้สึกประทับใจมากเลย กินด้วยกันโดยไม่ต้องเอ่ยชวนให้ยากเลย ทุกคนสนิทกันได้โดยในพริบตา ตอนกินข้าวได้ยินเสียงพูดหยอกกันแล้วทำให้ดิฉันรู้สึกดีใจและมีความสุขที่เห็นทุกคนรักและสามัคคีกัน หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จก็พากันลุยงานต่อ ถึงแดดจะร้อนก็สู้ตายค่ะ มีการแบ่งกลุ่มไปทำฝายดินบ้าง ทำฝายหินบ้าง ฝายดินก็บรรจุดินใส่ถึงกระสอบปุ๋ยแล้วนำไปเรียง ทุกคนช่วยกันจนฝายดินเสร็จก็มาช่วยเพื่อนๆ ทำฝายหินกันต่อ พอตอนเย็นก็ทานข้าวพร้อมหน้ากันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีร้องเพลงเล่นกีตาร์ เป็นภาพที่อบอุ่นและน่าจดจำไปตลอดชีวิต

รัชนี คุ้มกุดหว้า


การทำกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ว่า การสร้างฝายชะลอน้ำมีประโยชน์ต่อชาวบ้านมากเพียงใด และสำคัญต่อสัตว์มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไก่ป่า นก และสัตว์อีกหลายๆ ชนิด การทำฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ได้เพื่อต่างคณะมาหลายคน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านว่ากินอยู่กันอย่างไร ดำรงชีพอย่างไร พึ่งพาและพอเพียงกันอย่างน่ายกย่อง

ศุภกฤษ อ่างคำ





ดีใจที่นานๆ ได้ไปวัด มาเรียนสองปีไม่เคยไปวัดดังที่ตัวเองตั้งใจ แต่ก่อนอยู่บ้านไปวัดเกือบทุกอาทิตย์ พอมาเรียน มมส กลับไม่ได้ไป มีความประทับใจอย่างมากที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ใส่บาตร มีความสบายใจ ได้นั่งเรือเป็นครั้งแรกในชีวิต ได้ฟังเทศน์ในบทที่ไม่เคยฟังมาก่อน ได้ทานข้าวร่วมกับคนเยอะๆ ถึงแม้จะเป็นบรรยากาศแปลกๆ แต่ก็รู้สึกดี ได้รับบรรยากาศแบบบ้านๆ เป็นป่าเหมือนบ้านเกิด ทำให้คิดถึงบ้านมากขึ้น

พิชิต พรมถึง


14 กุมภาพันธ์ 2557 ตรงกับวันมาฆบูชา พวกเราได้ไปทำโครงการที่วัดดอนหนาด ไปรอลงเรือกันข้ามแม่น้ำตั้งแต่เช้า แล้วก็ใส่บาตร กินข้าวเช้าเสร็จก็ไปติดป้ายสุภาษิต และปิดท้ายด้วยการปลูกต้นไม้ การออกค่ายครั้งนี้เพื่อนๆ ทุกคนร่วมแรงใจกันเป็นอย่างดี เช่น ตระเวนหาสถานที่ การค้นหาคำสุภาษิต ทำป้ายสุภาษิต ตระเวนหาซื้อต้นไม้ และสุดท้ายก็คือตื่นแต่เช้ามาทำโครงการ ซึ่งหัวหน้านัดหมายเวลาไว้ตอนตีห้า ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำโครงการมา แต่ทุกคนก็สามารถมาทันเวลากัน

เสาวลักษณ์ บุญโสม


งานตกแต่งบริเวณเสาธงเป็นการออกแบบรูปการ์ตูนที่มีการแต่งกายที่แตกต่างกันตามประเทศในกลุ่มอาเซียน บริเวณที่วาดรูปเป็นผนังด้านหลังเสาธงซึ่งจะอยู่ตรงหน้าเด็กนักเรียนในเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี ตัวการ์ตูนที่ออกแบบมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น บางตัวหน้าตาแปลกๆ บางตัวตาตีบ บางตัวตาโต บางตัวผอมบาง และบางตัวอ้วนหนา สมาชิกในกลุ่มต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ ตัวการ์ตูนกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นก็ลงมือวาด พอวาดเสร็จก็ถึงเวลาต้องลุยลงสีกันอย่างชุละมุน คนประมาณสิบกว่าคนรุมละเลงสีที่ตัวการ์ตูนคนละตัว บางตัวก็สองคน แข่งกันระบายสีอย่างสนุกสนาน มองดูแล้วช่างเป็นภาพที่สวยงาม ต่างคนก็ต่างพ่อต่างแม่ ต่างคณะต่างสาขา ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยหยอกล้อเสียดสีกัน ความผูกพันก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของงานจัดบอร์ด ก็มีแต่สาวๆ สงบเสงี่ยม เรียบร้อยทำงานกันอย่างเงียบสงัด ประนีประนอมเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ละคนเหมือนผ้าพับไว้ คนหนึ่งก็พับกลีบดอกไม้ทีละกลีบ พับไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็นจนได้ดอกไม้หลายดอก...บางส่วนก็ช่วยกันนำเนื้อหาไปติดที่บอร์ดอย่างบรรจง

กลุ่ม ๕ วิชาพัฒนานิสิต : โครงการเทสี สาดความรู้ มุ่งสู่ชุมชน




รู้สึกดีที่ได้ทำงานกันเป็นกลุ่ม สนุกที่ได้ลองทำ ได้ลองใช้เครื่องมือช่าง การทำงานช่วยให้เราสนิทกันมากขึ้น ต่างคนต่างมาจากต่างคณะต่างสาขาก็ได้คุยถึงเรื่องการเรียนการสอนของแต่ละคณะแต่ละสาขาว่าเป็นอย่างไร ยากง่ายยังไง เสียดายตอนท้ายโครงการบางคนไม่ได้อยู่ช่วยงานจนจบ เพราะมีธุระ และติดเรียนในบางวิชา แต่ก็ยังบอกกล่าวต่อเพื่อนๆ ให้ได้รับรู้

กิตติพร กล้าหาญ


ก่อนที่จะลงไปทำโครงการมีความรู้สึกว่าจะไปทำๆ ไม พอเรากลับมาแล้วทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร เรียนรู้แค่ทฤษฎีในห้องเรียนก็คงเพียงพอแล้ว แต่พอได้ลงพื้นที่แล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นก็หายไป และรู้สึกผิดว่าทำไมตนเองคิดแบบนั้น เพราะการที่เราได้ลงไปสัมผัสจริงๆ มันมีอะไรที่มากกว่านั้น คือ ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้และได้เห็นผู้รับมีความสุขและเห็นผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ยิ่งมีความสุขใจ

พิมพ์ชนก รัตนะ


รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในโครงการ มีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทุกคนทำด้วยความสมัครใจ ดูทุกคนมีความสุขกับค่ายนี้มาก และได้อะไรใหม่ๆ ในชีวิตมากขึ้น ได้ทำงานที่เป็นอิสระ ไม่ถูกบังคับหรือมีกฎมากจนเกินไป ได้ทำสิ่งที่ตนไม่เคยทำและอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ด้วยความอบอุ่น

กษมา โพธิ์ดม



การทำงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จทำให้เราได้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องต่างคณะ ได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ เพราะเราได้ฝึกเขียนโครงการมาก่อนแล้วจึงมาเขียนโครงการจิตอาสาร่วมกัน การทำงานเป็นทีมยากและท้าทายมาก บางคนแทบจะไม่ช่วยทำงาน ถึงทำก็ทำแบไม่เต็มที่ แต่เราก็ค่อยๆ พูดจากัน เพราะต่างคนต่างก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำโครงการกันมาก่อนเลย เราต้องแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจน ว่าใครทำอะไร รับผิดชอบอะไร มีการประชุมวางแผนกันชัดเจน บางคนแทบไม่มีเวลามาช่วยงานเพื่อน เราก็ต้องจัดแจงหน้าที่ให้เขาทำเพื่อไม่ให้เกิดการเห็นแก่ตัวภายในกลุ่ม ซึ่งสุดท้ายก็ลุล่วงได้ด้วยดี เพราะทุกคนให้ความร่วมมือ และมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

ภคกร โพธิ์ศรี


ในการทำงานรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะอุปสรรคการทำงานมันเยอะ ในการกวาดใบไม้ ก็จะมีฝุ่นดินฟุ้งกระจายขึ้นจำนวนมากจนทำงานได้อย่างยากลำบาก แต่ก็สู้ และคุ้ม เพราะได้ทำงานกันอย่างเป็นทีม

พีรพล พลดอน


เป็นกิจกรรมที่ดีต่อสังคมและโบราณสถาน และรู้สึกว่าการทำบุญไม่ใช่เพียงแค่การนำดอกไม้มาบูชาแล้วกราบพระเท่านั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถช่วยเหลือกิจกรรมของวัด เช่น ล้างห้องน้ำ ทำคามสะอาดโบสถ์ กวาดลานวัด ซึ่งก็ถือเป็นการทำบุญเหมือนกัน

ทิติยา แทนกลาง




ทำให้รู้จักเพื่อนต่างเอก รู้จักผู้ใหญ่บ้าน ได้พบปะกับคนในหมู่บ้าน และได้รู้ว่าประวัติหมู่บ้านเป็นมาอย่างไร

หฤทัย เจริญสุข


ทำให้ได้ประสบการณ์หลายๆ อย่าง ฝึกให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักการทำงานเป็นทีม ฝึกการทำงานร่วมกับชุมชน ได้ลองผิดลองถูกในการทำงาน และที่สำคัญคือได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ รวมถึงความประทับใจที่ชาวบ้านได้มาช่วยทำกิจกรรมอย่างอบอุ่น

ปทุมพร สนนิยม


สิ่งที่ได้มา ไม่ใช่แค่ทำโครงการสำเร็จ แต่ได้ความรู้หลายอย่างกลับมาด้วย เป็นความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รู้ว่าเขาประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมคือการทอเสื่อ ชาวบ้านมีอัธยาศัยที่ดีมาก ช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงกายที่ออกมาช่วยพัฒนาวัด ทางแม่บ้านก็มาร่วมทำอาหารและร่วมรับประทานด้วยกัน ทำให้เกิดไมตรีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านเกิดที่อบอุ่นของตนเอง

มณีรัตน์ จันทะนัน


การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของดิฉัน ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมทาสีวัดในครั้งนี้มากๆ เพราะห้องน้ำไม่ได้รับการดูแลจากชาวบ้านแถวนั้น สภาพของห้องน้ำไม่น่าใช้ทำธุระส่วนตัวมาก แต่พอดิฉันและเพื่อนๆ ได้ทาสีและปรับปรุง ก็ช่วยให้ดูดีขึ้นและน่าเข้ามากยิ่งขึ้น

จุฑามาศ รันสี




ครับ, นี่คือเรื่องราวที่นิสิตได้สะท้อนคืนกลับมา ผมตัดตอน-หมายถึงคัดลอกเอามาเพียงบางส่วน แต่ไม่ได้ดัดแปลง เปลี่ยนสารใดๆ
สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นปรากฏการณ์เล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับแต่งกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และเน้นการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

แน่นอนครับ, ถึงแม้นิสิตเหล่านี้จะยังไม่มีประสบการณ์ของการเป็น "นักกิกรรม" ไม่ใช่แกนหลักของ "องค์กรนิสิต" แต่สิ่งที่เขาพยายามเรียนรู้ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี่เหร่เลยแม้แต่น้อย หากวันหนึ่งเขาเดินทางเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม ผมเชื่อว่า วินาทีและสถานการณ์แห่งการเรียนรู้ในเวทีนี้ ย่อมทำให้เขามี "อาวุธ" ที่ดีในการที่จะ "รุกและรับ" หรือเดินต่อได้อย่างไม่ขาดเขิน


ครับ, นี่คือการเรียนรู้ที่ท้าทายผมและทีมงาน
และนี่คือการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่างกิจกรรมนอกชั้นเรียนกับการเรียนในชั้นเรียนที่น่าสนใจ แถมยังซ่อนเร้นการปลูกฝัง หรือบ่มเพาะความเป็นอัตลักษณ์ (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) -เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) -ค่านิยมความเป็นนิสิตฯ (พึ่งได้) ได้อย่างแนบเนียน ...

และเช่นเดียวกัน วิถีการเรียนรู้เช่นนี้ คงไม่ผลิดอกออกผลในชั่วพริบตาหรอกนะครับ ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน หรือแม้แต่แสนนาน แต่ที่แน่ๆ นี่คือกระบวนการบ่มเพาะในระยะต้นน้ำที่สำคัญ และสำคัญมากๆ


หรือท่านว่า ไม่จริง ล่ะครับ !


หมายเลขบันทึก: 567050เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ชื่นชมและส่งเสริมให้มีกิจกรรมดีอย่างนี้ต่อไปค่ะ วาดรูปและทาสีกันได้สวยงามมากค่ะ

ฝากติดตามนะคะ

http://www.gotoknow.org/user/thebeattlecity38/posts

ได้การสะท้อนความคิดเห็นจากนิสิต

มากเลยนะครับ

กิจกรรมนอกห้องเรียน

มีเรื่องดีๆแบบนี้เสมอครับ

.... ทุกๆๆ คนตั้งใจทำงาน นะคะ ....  ดีใจด้วยที่ทุกๆ คนขยันนะคะ

ได้อ่ายบทเรียนดีๆจากนิสิต เพื่อการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติขยายผลต่อไป เป็นกำลังใจให้ค่ะ

หลักสูตรชีิวิตมีค่ากว่าหลักสูตรในห้องเรียน

ขอบคุณแทนนักศึกษาที่มีผู้ใหญ่นำพาให้พวกเขาได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม

การออกค่ายทำให้น้องๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคตครับอาจารย์

...ชื่นชมกิจกรรมการออกค่าย ...เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าของนิสิตนะคะ

ชอบจัง  "...เพราะการที่เราได้ลงไปสัมผัสจริงๆ มันมีอะไรที่มากกว่านั้น คือ ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้และได้เห็นผู้รับมีความสุขและเห็นผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ยิ่งมีความสุขใจ"

พิมพ์ชนก รัตนะ

และน้อง ๆ ยังได้เป็นผู้รับด้วยนะคะ  รับการเปลี่ยนแปลงภายในจากจิตใจที่อ่อนโยน  เห็นตัวเองมากขึ้น

เยี่ยมมากค่ะ  ต้นกล้าที่แข็งแรงในวันนี้  เพื่อดอกผลทวีร่มเงาในวันหน้่า

นิสิตได้เรียนรู้  ปฏิบัติจริง...นำเอาความรู้เดิมออกใช้..และทำให้นิสิตมีจิตสำนึกมากขึ้น..และเห็นคุณค่าในการกระทำ....

แม้แต่กระบวนกรก็ได้พัฒนาตัวเอง...และเรียนรู้ไปพร้อมๆกับนิสิต

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท