มนุษย์ที่ข้ามชาติ


มนุษย์ที่ข้ามชาติ:แรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวกับสิทธิในการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

       ปัจจุบันมีการจัดทำการจดทะเบียนตามกฎหมายของแรงงานเหล่าเป็นรายปี โดยแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราวในระหว่างการรอถูกส่งกลับประเทศ แต่ในทางปฏิบัตินั้น การอนุญาตชั่วคราวถูกขยายเวลามาตลอดทุกปี เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่างแรงงานกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ[1]

  • (1)แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน มักเรียกว่า “กลุ่มผ่อนผัน” หมายถึงแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อได้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ทร. 38/1) และได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักจากกระทรวงมหาดไทยโดยเริ่มที่หมายเลข 00 แรงงานเหล่านี้จะต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน จึงจะขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ โดยได้รับหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับ คือ ใบอนุญาตให้พำนักอาศัยชั่วคราว (ทร. 38/1) บัตรประกันสุขภาพและใบอนุญาตทำงาน
  • (2)แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติถูกเรียกสั้นๆ ว่า “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ.2547 รัฐบาลได้วางมาตรการปรับสถานะของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่จดทะเบียน (กลุ่มผ่อนผัน) ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้มีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่กลุ่มที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นจากประกันสังคมจะใช้ระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ต้องซื้อประกันสุขภาพเป็นรายปีแทน
  • (3)แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เรียกสั้นๆ ว่า “กลุ่มนำเข้า” เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว ใน พ.ศ. 2545 และ 2546ตามลำดับ จัดทำกรอบการจ้างงานสำหรับแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือ ที่จะนำเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่าง“ถูกกฎหมาย” ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้แรงงานจะได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่นๆเช่นเดียวกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ผ่านกาพิสูจน์สัญชาติ
  • (4)แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนหมายถึงแรงงานที่ทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่ว่าจะมีเอกสารการพำนักชั่วคราว (ทร. 38/1) หรือไม่ก็ตาม จำนวนแรงงานข้ามชาติใต้ดินนี้ไม่มีตัวเลขชัดเจน แรงงานเหล่านี้มักอยู่ด้วยความหวาดระแวงที่จะถูกจับกุม ถูกข่มขู่และถูกส่งกลับ

       กฎหมายสัญชาติของไทยให้ความหมาย “คนต่างด้าว” ว่าคือคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย หรือคนต่างชาติที่อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว ได้แก่ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขาคนไร้รัฐ คนไร้รากเหง้า และคนไร้สถานะทางทะเบียนซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ[2]

(1) คนต่างด้าวที่ยังไม่มีสัญชาติไทยแต่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานานและได้รับการสำรวจตามนโยบายของรัฐบาลแล้วประกอบด้วยกลุ่มชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 6 และบุตรหลานของกลุ่มนี้ได้รับเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 7 ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้เพิ่งได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2553 ที่ประกาศนโยบายคืนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะกองทุนดังกล่าวนี้ไม่ครอบคลุมคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติที่ไม่เข้าข่ายตามมติคณะรัฐมนตรี แม้จะถูกนับจดในทะเบียนบุคคลแล้วก็ตาม

(2) กลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 (เลขประจำ ตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ (ก) กลุ่มที่ตกหล่น จากการสำรวจและจัดทำ ทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม (ข) กลุ่มนักเรียนนักศึกษาต่างด้าวในสถานศึกษา (ค) กลุ่มคนไร้รากเหง้า และ (ง) กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ โดยมีเพียงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา กลุ่มคนไร้รากเหง้า และกลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศเท่านั้น ที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนส่วนเด็กในกลุ่มตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม ยังไม่ได้รับหลักประกันสุขภาพใดๆ

(3) บุตรและผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปี ของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนหรือพิสูจน์สัญชาติแล้วเด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่มา หรือเกิดในประเทศไทย ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวตามพ่อแม่ของตน แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพยกเว้นเป็นผู้ติดตามที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 เมษายน 2554 เท่านั้นที่มีมาตรการให้ซื้อประกันสุขภาพ

       จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ายังมีแรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้มีปัญหาสถานะบุคคลยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทยในเรื่องระบบประกันสุขภาพ ซึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล มีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วบุคคลกลุ่มนี้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก กล่าวคือ เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สามารถใช้สิทธิในการรับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรับรองหรือให้สิทธิ และถูกมองจากคนบางกลุ่มว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่บุคลากรในทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาด้านการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะต้องคำนึงถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน โดยคุ้มครองและรับรองหรือหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติและมีที่มีปัญหาสถานะบุคคลได้รับความคุ้มครองหรือรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

อ้างอิงข้อมูล

[1] การจำแนกประเภทแรงงานข้ามชาติ จากพม่า กัมพูชา และลาว.  เข้าถึงได้จาก:  http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/newsletter/index.ph... [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2557

[2] เข้าถึงได้จาก:  www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/.../thai2... [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2557

[3] บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพวิตกแรงงานต่างด้าวพุ่ง แนะหาทางดึงบุคลากรเพื่อนบ้านเสริมทัพ.  เข้าถึงได้จาก:  http://www.nationalhealth.or.th/index.php?option=c... [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2557

แรงงานข้ามชาติกับระบบบริหารสุขภาพของประเทศไทย.  เข้าถึงได้จาก:  http://www.thaipost.net/x-     cite/301213/84023 [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566889เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท