ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


              การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลทั้งกับพนักงาน ผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนั้นจึงต้องมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ รวมถึงการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

               สิทธิมนุษยชน (Human Rights)หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้[1]

                ดังที่ได้กล่าวมาว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดและการดำเนินธุรกิจก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยในการประกอบธุรกิจ

                อย่างในต่างประเทศก็มีความพยายามที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองการก่อตั้งมาตรฐานตามความสมัครใจที่ชื่อว่า “UN Guiding Principles on Business and Human Rights”[vi] ซึ่งเป็นการแปลความกรอบนโยบาย “Protect Respect and Remedy Framework” ให้เป็นขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจและภาครัฐเอาไปใช้

                เนื้อหาสำคัญของเอกสารทั้งสองฉบับประกอบด้วยแนวคิดที่มองเห็นว่า องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อการเคารพ สิทธิมนุษยชน และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องป้องกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งรวมถึงองค์กรธุรกิจด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดเข้าถึงช่องทางการเยียวยา ได้ดียิ่งขึ้นทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นการอธิบายอำนาจและหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศเดิมให้ชัดเจนขึ้น และชี้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจที่ต้องร่วมกันดูแลป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เด่นชัดออกมา

                โดยสาระสำคัญที่แท้จริงซึ่งไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มาตรฐานแนวปฏิบัติข้อที่ 7 (หน้า 9) ซึ่งมีคำอธิบายมาตรฐานอย่างเป็นทางการระบุว่า ในยามสถานการณ์ขัดแย้งที่ “รัฐประเทศเจ้าบ้าน” ของการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนของตัวเองได้ ในกรณีของบรรษัทข้ามชาติ ให้ “รัฐประเทศต้นทาง” มีบทบาทต้องช่วยองค์กรธุรกิจและประเทศเจ้าบ้านดูแลให้บริษัทจากประเทศตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็ให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ด้วย

                ถึงแม้จะเป็นก้าวที่ไม่ได้มั่นคงมากนัก คือไม่ใช่เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเอาผิดต่อการละเมิดของธุรกิจอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะมนตรีฯ ที่มองเห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนนั้นหมายรวมถึงภาคธุรกิจด้วย และรัฐเป็นประเทศต้นทางก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อการกระทำของธุรกิจจากประเทศตัวเองในประเทศอื่น ซึ่งธุรกิจจำนวนมากก็ขานรับมาตรฐานนี้ และนำไปประกาศใช้ในองค์กรตัวเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลประเทศต่างๆ

เรียกว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่มีความสำคัญสู่แนวทางการสร้างหลักประกันด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต[2]

                ตัวอย่างของการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อย่างในกรณีของรายการThailand's Got Talent

เล่าย้อนกลับไปเผื่อว่าใครยังไม่ได้ดู หลังจากผู้เข้าแข่งขันนามว่า "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" วัย 24 ปี (แค่ชื่อก็สร้างความแปลกใจแล้ว) เดินขึ้นมาบนเวที คณะกรรมการทั้ง 3 ท่าน (ภิญโญ รู้ธรรม, เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา และโจ จิรายุส) มีการสัมภาษณ์ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ คำพูดห้วนๆ ถามคำตอบคำ และไม่มีหางเสียง เบนซ์ พรชิตา หนึ่งในกรรมการจึงถามกลับไปว่า "แม่ไม่สอนให้พูดครับใช่ไหมจ้ะ" แต่ก็ถูกตอบกลับมาในทันทีจากผู้เข้าแข่งขันท่านนี้ว่า "พอดีที่บ้านไม่เคร่งเรื่องมารยาท เพราะเห็นว่าคุณธรรมสำคัญกว่า" กลายเป็นวลีฮิตเพียงชั่วข้ามคืน

                 สำหรับเพลงที่ผู้เข้าแข่งขันท่านนี้นำมาแสดง เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง "เปาบุ้นจิ้น" ซึ่งร้องแบบเพี้ยนๆ ทำให้ ภิญโญ รู้ธรรม และโจ จิรายุส ทนฟังไม่ได้ และกดปุ่มหยุดการแสดงทันที ส่วนเบนซ์ พรชิตายังให้แสดงต่อ หลังจากนั้นผู้เข้าแข่งขันท่านนี้ก็ได้ขอพักกินน้ำ ก่อนที่จะร้องเพลงต่อ จนคณะกรรมการชาย 2 ท่านทนไม่ไหว ต้องเดินออกจากห้องออดิชั่น เหลือก็แต่เพียงเบนซ์ที่ให้โอกาสแสดงจนจบพร้อมกับคอมเมนต์กลับแบบชุดใหญ่

                  "มีใครเคยชมว่าเสียงดีไหม..มันเป็นการแสดงที่น่าเบื่อ แย่มาก (เน้นเสียง) เบนซ์อยู่มา 3 ปี ไม่เคยเห็นโชว์อะไรที่มันดู..แย่ขนาดนี้มาก่อนเลย พี่โญ ไม่ให้ผ่าน พี่โจไม่ให้ผ่าน และเบนซ์ก็ไม่ให้ผ่าน ไม่ 3 ผ่านเลยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ" เป็นคำพูดของเบนซ์ พรชิตา หลังผู้เข้าแข่งขันท่านนี้แสดงความสามารถจบ

                   การแสดงของชายท่านนี้ กลายเป็นเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกไซเบอร์ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงทีมงานว่าปล่อยให้ออกอากาศมาได้อย่างไร หรือทางรายการเองต้องการสร้างกระแสเรียกเรตติ้งให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชมรายการ และสังคมจนลืมที่จะมองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เนื่องจากประเด็นหนึ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือการที่เด็กและเยาวชนอาจสนใจและนำไปสู่พฤติกรรมการลอกเลียนแบบได้[3]

                   ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารายการดังกล่าว มีการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งด้วยกริยา ท่าทาง และวาจา ไม่ว่าผู้ที่เข้ามาแข่งขันจะเป็นใครจะเป็นผู้มีจิตปกติหรือไม่ก็ควรจะปฏิบัติต่อเขาและควรให้เกียรติเหมือนมนุษย์คนอื่นๆ และการออกอากาศรายการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อสังคม สร้างค่านิยมที่ผิด เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชน ผู้ประกอบธุรกิจในที่นี้คือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับโทรทัศน์ควรคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย

                    โดยต่อมา กสทช. สั่งปรับไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 5 แสน หลังออกอากาศ สิทธัตถะ เอมเมอรัล ชี้นำเสนอเนื้อหากระทบศีลธรรมประชาชน
สำหรับรายการที่ กสทช. ได้สั่งปรับ คือรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 3ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 (สิทธัตถะ เอมเมอรัล) ที่นำเสนอเนื้อหากระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 โดยสั่งปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท[4]


[1] สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย. oknation. [Website] 2009 Jan [cited 2014 Apr 26]. Available from: http http://www.oknation.net/blog/print.php?id=390434

[2] เรื่อง (ไม่) ตลก ของภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน. [Website] [cited 2014 Apr 26]. Available from: http://www.ftawatch.org/all/news/39098

[3] สับเละ! กรณี 'สิทธัตถะ เอมเมอรัล' จริยธรรมรายการโชว์..อยู่ไหน?. ASTVผู้จัดการรายวัน. [Website] 2013 June [cited 2014 Apr 26]. Available from: http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066730

[4] กสทช. สั่งปรับไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 5 แสน ปมสิทธัตถะ เอมเมอรัล. kapook. [Website] 2014 Apr [cited 2014 Apr 26]. Available from: http://hilight.kapook.com/view/101230

หมายเลขบันทึก: 566886เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2014 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท