​​๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา๙. ภารกิจของครูในศตวรรษที่ ๒๑


          บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอนที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen

          บันทึกตอนที่ ๙ นี้ ตีความจาก Edge 5. The Co-Teaching Edge : Teachers, Experts, and Parents as Coeducatorsต่อจากตอนที่ ๘

         Job description ของครูในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องที่ครูควรร่วมกันระดมความคิด เขียนออกมาเป็นคู่มือปฏิบัติ

ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่จัดการการเรียนรู้ของศิษย์ มากกว่าทำหน้าที่สอนอย่างในอดีตความรู้ที่นักเรียนต้องเรียนอยู่ใน อินเทอร์เน็ตไม่ใช่อยู่ในหัวครู หรือในตำราเล่มใดเล่มหนึ่ง อีกต่อไป

          กล่าวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ด้านเนื้อหาวิชาไม่มีความสำคัญในการทำหน้าที่ครูเนื้อความรู้สำคัญยิ่งต่อครูแต่ความเอาใจใส่ศิษย์สำคัญยิ่งกว่าเอาใจใส่กระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ที่ศิษย์พัฒนาการเรียนรู้ขึ้นภายในตนเองเป็นสุดยอดการทำหน้าที่ของครู

        ครูต้องทำงานร่วมกับ “ภาคีนักการศึกษา” (co-educator) ที่หลากหลาย (ตามที่ระบุใหนบันทึกที่แล้ว) จากนอกโรงเรียน มาช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เพื่อให้ศิษย์ได้เรียนรู้แบบลงมือทำ (active learning) เป็นหลัก

          ต่อไปนี้เป็นทักษะของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ที่หนังสือเล่มนี้เสนอ

  • ความเข้าใจว่า การเรียนรู้แบบโครงงานที่จริงจัง จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจระดับลึก ที่นักเรียนจดจำไปนาน
  • ความสามารถจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ให้เกิดการเรียนรู้/ทำงาน แบบร่วมมือกันเป็นกลุ่มมากกว่าต่างคนต่างเรียน/ทำงาน
  • ความรู้ความเข้าใจว่า เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไรโดยครูไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีทั้งหมด
  • ความสามารถในการทำงาน เป็น “ทีมจัดการเรียนรู้” กับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ กับเพื่อนครู และกับพ่อแม่ ทั้งโดยการพบหน้ากัน และโดยความร่วมมือผ่านช่องทาง ออนไลน์
  • ริเริ่มการหาทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาในห้องเรียนเช่น ทรัพยากรการเรียนรู้ ออนไลน์สถานที่เรียนรู้ในพื้นที่ (เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ บริษัท โรงละคร/ภาพยนตร์ มหาวิทยาลัย ป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ)
  • ริเริ่มการพัฒนาตนเอง และเพื่อนครู (Professional Development) พัฒนาเป็นชุมชน การเรียนรู้ของครู (PLC – Proefessional Learning Community) โดยมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยต่างๆ ในโรงเรียน และในเขตพื้นที่การศึกษา
  • ความสามารถในการแสวงหาความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศิษย์ ในการพัฒนา Technology-Based Learning ให้แก่ศิษย์
  • เข้าใจว่า การเชื่อมโยงปัจจัยด้าน สังคม-อารมณ์ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้เนื้อหาวิชา ของศิษย์
  • มีไฟในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กและวัยรุ่น ในสภาพความสัมพันธ์ที่เอาใจใส่เมตตากรุณา

          หนังสือเล่มนี้เสนอคุณวุฒิของผู้จะมาเป็นครู ว่าต้องเรียนจบปริญญาตรีด้าน วท.บ. หรือ อ.บ./ศิลปศาสตร์ ในสาระวิชาที่จะสอน (แบบไม่สอน)และผ่านประสบการณ์การฝึกฝนด้านการสอน หรือการจัดกระบวนการการเรียนรู้กับครูที่มีประสบการณ์และผลงานเป็นที่ยอมรับครูบางคนอาจจบ ปริญญาโทด้านการศึกษาหรือด้านอื่น ที่มีการฝึกสอน ๑ ปี

        ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ในศตวรรษที่ ๒๑ ควรเป็นอย่างไร

         ท่านผู้นี้เป็นผู้นำของระบบการศึกษาในเขตพื้นที่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในเรื่องการศึกษา แห่งศตวรรษที่ ๒๑แต่ในสหรัฐอเมริกา หากมีผู้บริหารที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ก็จะถูกยับยั้งโดยการเมือง ในระบบการศึกษาได้แก่คณะกรรมการโรงเรียนสหภาพครูการฟ้องร้องทางกฎหมาย และกฎระเบียบราชการที่หยุมหยิมนี่คือสภาพในสหรัฐอเมริกานะครับในประเทศไทยเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านคงทราบดี

          เพื่อเอาชนะข้อจำกัด หรือข้อท้าทายนี้ผู้บริหารเขตการศึกษาควรมี ความสามารถในการสร้าง /สนับสนุน นวัตกรรมในการเรียนรู้ในการทำให้เกิดระบบ co-teaching เป็นแกนหลักในระบบการเรียนรู้และให้โรงเรียนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนผู้บริหารต้องหาทางทำความเข้าใจ กับคณะกรรมการโรงเรียน ให้สนับสนุนแนวทางความร่วมมือ ออกไปนอกเขตรั้วโรงเรียน

        Job Description ของผู้อำนวยการเขตการศึกษา ในความเห็นของผู้อำนวยการเขตฯ ตัวอย่าง

        นี่คือกรณีของสหรัฐอเมริกา นะครับผมอยากให้มีกรณีความเห็นของ ผอ. เขตการศึกษา ในประเทศไทย เอามา ลปรร. กันบ้าง

Milton Chen สัมภาษณ์ Cameron McCune ผอ. เขตการศึกษา Fullerton ในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีนักเรียน ๑๔,๐๐๐ คนและได้จัดให้นักเรียนทุกคนและครูทุกคนมี คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก การริเริ่มสร้างสรรค์ก่อนเวลาของเขา ทำให้เขาได้รับทั้งการสนับสนุนและการ ฟ้องร้องต่อศาล

         ต่อคำถามว่ามองภาพเขตการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างไรCameron McCune มีความเห็นว่า โรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงไปตอบสนองผู้เรียนที่เป็นมนุษย์ยุคดิจิตัลและตอบสนองความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ต้องมีการออกแบบโรงเรียนขึ้นใหม่ ไม่ใช่แค่ปรับปรุง

          ต้องกำหนดบทบาทของครูขึ้นใหม่กำหนดช่วงเวลาของปีการศึกษาขึ้นใหม่ (ให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน)กำหนดกิจกรรมในโรงเรียนในแต่ละวันขึ้นใหม่รวมทั้งกำหนดเนื้อหาหลักสูตร และวิธีจัดการหลักสูตร

        โรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ในอุดมคติ ต้องจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย โดยมีครูเป็น โค้ชที่ทั้งศิษย์และครูสนุกอยู่กับกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดครูทำหน้าที่ โค้ช มากกว่าทำหน้าที่สอน

        ต่อข้อถามว่า ตารางเรียน (/สอน) ควรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง CM ให้ความเห็นว่ากำหนดการเปิดปิดเทอมในสหรัฐอเมริกา ยึดตามวิถีชีวิตของเกษตรกรแต่ปัจจุบันผู้คนอยู่ในเมือง ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ ๙๐จึงควรเปลี่ยนเวลาเปิดปิดภาคการศึกษาเสียใหม่นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาการเปิดปิดเทอมของโรงเรียนไทย ก็ควรเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อวิถีชีวิตคนไทย ในปัจจุบัน (และอนาคต)

            ช่วงเวลาเปิดเรียนแต่ละวัน ในความเห็นของ CM ก็ไม่เหมาะสมคือช่วงเวลา ๘.๐๐ - ๑๔.๓๐ น. ไม่เหมาะต่อเวลาทำงานของพ่อแม่ซึ่งในยุคนี้ ต้องออกไปทำงานทั้งสองคนและนักเรียนวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน เวลา ๘.๐๐ น. มักยังไม่ตื่น หรือสมองยังไม่ตื่นและการปิดเทอมภาคฤดูร้อน ๓ เดือนก็นานเกินไป ทั้งต่อพ่อแม่ และต่อนักเรียน

            ต่อข้อถามว่า มีแนวทางจัดปฏิทินการศึกษาให้เอื้อต่อนักเรียนและพ่อแม่อย่างไรCM ให้ความเห็นที่สุดกู่ว่า ควรหาทางให้เป็นปฏิทินที่ยืดหยุ่นให้แตกต่างกันได้ในนักเรียนแต่ละคนเป็นการปลดปล่อยนักเรียนออกจากกรงขังแห่งหลักสูตร หรือปฏิทินการศึกษา ให้นักเรียนแต่ละคน กำหนดเวลาเรียนให้สอดคล้องกับกิจกรรมของครอบครัว ได้เช่นกำหนดเวลาพักผ่อนยาว เดินทางไปต่างประเทศกับครอบครัว เป็นเวลา ๑ เดือนหรือในกรณีเด็กนักเรียนที่เป็นลูกชาวนาก็กำหนดเวลาปิดเทอมยาว ๑ เดือน ในช่วงที่พ่อแม่เตรียมดินและดำนากับในช่วงเก็บเกี่ยว เป็นต้น

          เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้นักเรียนยังติดต่อกับเพื่อนและครูในชั้นเรียนได้แม้ตนเองจะอยู่ห่างไกล หรือยุ่งกับการทำงานช่วยเหลือครอบครัวรวมทั้งกิจกรรมทำงานช่วยเหลือครอบครัวนั้นเอง อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน

          ต่อข้อถามว่า จะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ในการทำให้การเรียนรู้สอดคล้องกับชีวิตจริงมากขึ้นCM มีความเห็นว่า ในยุคนี้ ทักษะในการค้นหาความรู้ ได้เข้ามาแทนที่ความจำโดยที่นักเรียนต้องฝึกความคล่องแคล่ว ในทักษะที่จำเป็น ได้แก่การสื่อสาร ความร่วมมือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา การตัดสินใจมีทักษะด้านเทคโนโลยี ไอซีทีมีโลกทัศน์ในระดับสากล และเข้าใจวัฒนธรรมอื่น

          ทักษะเหล่านี้ ต้องเรียนผ่านการทำโครงงาน เป็นทีมกับเพื่อนนักเรียนเป็นการเรียนอย่างมี ความหมายต่อชีวิตในอนาคตของนักเรียนและสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ในวงกว้างได้โดยการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันเหมือนการทำงานคือดำเนินการเป็นทีม โดยมี โค้ชมีการประเมินเพื่อพัฒนา

          ต่อข้อถามว่า จะใช้เทคโนโลยีช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างไรCM ให้ความเห็นว่า ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึก เชื่อมโยง มีความหมายต่อนักเรียน และสนุกสนานช่วยให้เกิดการเรียนรู้เป็นทีม ตามระดับพัฒนาการของเด็กเพื่อทำโครงงานที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับพัฒนาการ และตามความสนใจของนักเรียนเขาเอ่ยถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ PowerSchool ที่ช่วยส่งรายงานข้อมูลความก้าวหน้าในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองและนักเรียน/ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ 24/7และสื่อสารกับ โค้ช (ครู) ได้ ผ่าน อีเมล์ หรือผ่าน teleconference

          ในสภาพเช่นนี้ แนวคิดแบบเก่า ว่าเมื่อนักเรียนเข้าเรียน ม. ๑ พร้อมกัน จะต้องจบ ม. ๓ พร้อมกัน จะไม่ใช่สภาพปกติอีกต่อไปในบางวิชานักเรียนบางคนอาจเรียนโดยมาโรงเรียนน้อยมาก หรือไม่ต้องมาเลย ก็ได้เพราะสามารถเรียน ออนไลน์ ได้

          ต่อข้อถามว่า นโยบายระดับประเทศแบบไหน ที่ช่วยเอื้อให้เกิดเขตพื้นที่การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑CM ให้ความเห็นว่า ต้องปฏิวัติระบบวิชาชีพครู และสหภาพครู

          ต่อข้อถามว่า สมดุลของอำนาจของประเทศ รัฐ และเขตพื้นที่ต่อการศึกษาควรเป็นอย่างไรCM มีความเห็นว่า ควรกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่บริหารดีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ ของนักเรียนในเขตได้ผลดี

           ต่อข้อถามว่า job description ของผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ควรเป็นอย่างไรCM ให้ความเห็นว่า ภารกิจของ ผอ. เขตพื้นที่ (ในสหรัฐอเมริกา) มีหลายด้านเกินไปเกินกว่าที่คนคนเดียวจะรับไหวควรแยกหน้าที่ด้านธุรการหรือบริการทั่วไปออกไปจากการจัดการครูแบบเดียวกับที่โรงพยาบาลมีผู้อำนวยการ ๒ คนคือผู้อำนวยการด้านธุรการ กับผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์

           ผมอ่านความเห็นของ Cameron McCune แล้ว เห็นว่าเขาล้ำสมัยดีจริงๆ

          แนวความคิดเรื่อง co-educator เป็นแนวคิดที่เน้นการเป็นภาคีหลายฝ่ายในชุมชนในการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ให้แก่เยาวชน ซึ่งหมายความว่า ครูต้องไม่ทำหน้าที่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ธ.ค. ๕๖

หมายเลขบันทึก: 566657เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2014 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท