คิดถึงวิทยา : การพัฒนาหรือความผิดพลาดของการศึกษาไทย


การเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญใช้ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อหลักสูตรและการทดสอบหาได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามไปด้วย

คิดถึงวิทยา : การพัฒนาหรือความผิดพลาดของการศึกษาไทย

ความคิดเป็นของผู้เขียน ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

 

          “ผมจะเป็นคนจับปลาที่คิดเลขเก่งที่สุด เพื่อไม่ให้ใครโกง” บทสะท้อนวิธีคิดที่ระบบการศึกษาไทยต้องทบทวน ว่าสิ่งที่เรากำลังเรียกว่า “หลักสูตร” มันตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนแค่ไหน หัวใจการศึกษาอยู่ที่ไหน? อยู่ที่การเที่ยวเอาความรู้ไปแข่งขันกับคนทั้งโลกหรือการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตคน

          อาจจะดูเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท แต่ในฐานะที่ตนเองอยู่กับสถานศึกษาในชนบทตลอดช่วงวัยเด็กแล้ว เรื่องนี้คงไม่ได้สื่อความหมายเช่นนั้น เพราะเราขับเน้นที่การศึกษาของคนบนแพลอยน้ำ ที่เป็นตัวแทนของชนบท

          มีความพยายามมากที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้พัฒนาทัดเทียมนานาประเทศ กระทั่งนำไปสู่การร่าง “หลักสูตร” มากมาย แต่การศึกษายังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่หรืออาจจะลดลง โดยผลการทดสอบแห่งชาติ

          “เด็กอ่านโจทย์ที่มี รถไฟ แล้วตั้งคำถามว่ารถไฟเป็นอย่างไร” ผมก็เคยเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ คือ รถไฟเป็นอย่างไร ถ้ายังจำได้ในบทเรียนแก้วกล้า เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียนและสิ่งที่เป็นบริบทชีวิตเขามีความแตกต่างกัน หรือพูดง่ายๆ คือ “เอาอะไรมาให้ฉันเรียน” แล้วก็มานั่งโทษเด็กว่าผลการทดสอบตกต่ำ? แต่ในทางตรงกันข้าม คำถามนี้น่าจะถูกตั้งขึ้นในใจของผู้ใหญ่ด้วย “บริบทชีวิตของเด็กแต่ละที่เป็นอย่างไร เราจะเอาอะไรให้เขาเรียน?”

          ยังจำประโยคที่ครูบ่นหน้าห้องเรียนได้ “คนเขียนหลักสูตร นั่งเพียรเขียนในห้องแอร์ แล้วเราเพียรสอนตาม ได้บ้างไม่ได้บ้าง อยากให้เขาลงมาสอนเองดูบ้างจะเป็นอย่างไร” นี่คงเป็นบทสะท้อนถึง “ระบบการศึกษา” ที่ “ไม่เป็นระบบ” หมายความว่า ในระบบการศึกษานั้น มีกลุ่มความคิดแยกเป็นสามกลุ่มโดยชัดเจน คือ กลุ่มผู้สร้างหลักสูตร กลุ่มผู้สอน และกลุ่มผู้เรียน

          กลุ่มผู้สร้างหลักสูตร จะต้องเรียนนู่น นี่ นั่น เพื่อให้ทัดเทียมแข็งขันกับชาติโน้น ชาตินี้ได้

          ผู้สอน จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ประชุมวันละหลายชั่วโมง ประกัน สมศ. สื่ออะไรก็ไม่มี

          ผู้เรียน เอาอะไรมาให้เรียนเยอะแยะไปหมด

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำอย่างไร ๓ กลุ่มนี้จะเป็นเนื้อเดียวกันได้? ทำให้นึกถึงหลักที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเข้าใจและเข้าถึง ที่ทุกกลุ่มต้องเข้าใจกันและกัน เข้าถึงกันและกัน

          “ผมจะเป็นคนจับปลาที่คิดเลขเก่งที่สุด เพื่อไม่ให้ใครโกง” ผมเห็นด้วยกับประโยคนี้ของตัวละครที่ชื่อ ช่อน หลักสูตรพยายามที่จะยัดอะไรต่อมิอะไรให้เขามากมาย โดยที่ไม่เคยถามเขาเลยว่า เขาต้องการอะไร และผมเชื่อว่าที่พยายามยัดโน่น นี่ นั่นให้ก็เพื่อให้สามารถไปแข่งขันกับนานาชาติได้ ไม่ใช่เพื่อให้เขาสามารถเอาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตในวิถีของเขาจริงๆ

          การศึกษาที่ดีต้องตอบสนองผู้เรียนว่า “เขาจะเอาอะไร เพื่ออะไร” นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาควรมอบให้แก่เขา (เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนอยากเรียนอะไร แต่สุดท้ายเอาข้อสอบที่ไหนมาสอบ สอบไม่ได้มีผลอย่างไร สุดท้ายก็ไม่ใช่ผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ดี) เขาจับปลาขายก็สามารถสร้างตัวได้ และเขามีทักษะนี้อย่างชำนาญอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาอาจถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะคำนวณเลขไม่เป็น เขาต้องการเท่านั้น เท่านั้นคือสามารถคำนวณเลขง่ายๆ ได้ และเขาก็เอาไปใช้จริงเกิดประโยชน์ เราอย่าไปเอากรอบบางอย่างที่มันไม่จำเป็นสำหรับเขามาครอบเขาและตัดสินเขา ควรตัดสินเขาในกรอบของเขา สะท้อนผ่านภาพ ผอ. ที่นั่งดูคะแนนสอบ แต่ไม่เคยลงไปดูว่าบริบทอื่นๆ ที่นำมาซึ่งผลการทดสอบเป็นอย่างไร

          ครูคนหนึ่ง เช้าวันนี้ที่หมู่บ้านมีงาน อาศัยครูนี่ละเป็นเจ้าพิธี คอยพูดจาปราศรัย บ่ายๆ มีงานศพ ช่วยมาเป็นพิธีกรงานศพให้หน่อย ก็พลอยอาศัยครู ไม่ทำได้หรือไม่ “บวร ตราบใดที่บ้าน วัด โรงเรียน ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน” อะไรที่หายไป?

          สิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่าน “ผอ. ผู้เพียรประเมินการสอนโดยคะแนนสอบเด็ก” คือ การประเมินคุณภาพ(กระดาษ) สิ่งนี้น่าจะได้รับการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมาก เพราะการนำหลักเกณฑ์เดียวกันไปวัดกับคนที่ต่างถิ่นฐานกันย่อมไม่สมเหตุสมผล ซึ่งกรณี ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้ว เช่น ระบำ เด็กบ้านนอกที่ไม่เคยรู้และเข้าใจระบำเลย แต่ต้องตอบ ใครจะตอบได้? ตราบใดที่ยังไม่พูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่เดียวกัน ย่อมหมายความว่าเราก็ไม่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ประเมินเดียวกันได้

          บางครั้งการได้คะแนนเยอะๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าดี เพราะมีปัจจัยหลายประการ เช่น เรียนพิเศษ การติวข้อสอบ นานัปการ แต่เขาสามารถเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ได้จริงหรือเปล่า แม้แต่ครู ผู้ที่มีการศึกษาสูง ย่อมหมายความว่า มีความรู้ความสามารถเรื่องสุขศึกษา แต่กลับไปทำผู้หญิงท้อง “เขาเอาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ได้จริงหรือ” วิชาชีวิตเด็กบ้านนอก (อาจจะ)ไม่มีความรู้ทัดเทียมโรงเรียนดัง) ไม่มีเงินสักบาท แต่เด็กเหล่านี้สามารถหาอาหารเลี้ยงตนเองได้

          คิดถึงวิทยา จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขบคิดเรื่องราวทางการศึกษาของไทย เพื่อให้มันตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนผู้เป็นหัวใจของการศึกษา และหลักสูตรที่มาจากผู้เรียน ผู้สอน และผู้กำกับหลักสูตรเห็นต้องกัน การเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญใช้ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อหลักสูตรและการทดสอบหาได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามไปด้วย

หมายเลขบันทึก: 565560เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้เลยค่ะ น่าจะเป็นเรื่องที่สะท้อนการศึกษาไทยที่ต้องการการปฏิรูปได้ดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท