จะเลือกใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ E-Courseware ชนิดไหนดี


เราจำเป็นต้องทราบข้อดีและข้อเสียของ E-courseware ทั้งสองประเภทนี้ก่อน รวมทั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้ E-Courseware ให้ชัดเจน เพื่อเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม

ผมขอประเดิมบล็อกเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เพิ่งเปิดวันนี้ สดๆ ร้อนๆ ด้วยคำถามยอดฮิตติดตลาดมาหลายปีว่า จะเลือกใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ (computerized courseware หรือ E-Courseware) ชนิดไหนดี ถ้าต้องเลือกระหว่าง Web-based E-courseware กับ CDROM-based หรือ DVD-based E-courseware?

โดยทั่วไป เราจำเป็นต้องทราบข้อดีและข้อเสียของ E-courseware ทั้งสองประเภทนี้ก่อน รวมทั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้ E-Courseware ให้ชัดเจน เพื่อเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม

ข้อดีของ Web-based E-courseware

1. เนื้อหาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่เสมอๆ (เปลี่ยนแปลงเร็วหรือค่อนข้างเร็ว)

2. มีความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรมัลติมีเดียไม่มาก เช่น ภาพกราฟิกส์ที่ใช้มีขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก ภาพยนตร์เป็น stream สั้นๆ ไม่กี่นาที  ไม่ต้องใช้ 3D rendering เป็นต้น

3. มีจำนวนคนใช้งานโปรแกรม จำนวนมากและห่างไกลกัน แต่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

ข้อเสียของ Web-based E-courseware

1. ไม่เหมาะในการทำสื่อที่มีมัลติมีเดียคุณภาพสูงๆ ปริมาณมากๆ

2. จำกัดวงการใช้งานค่อนข้างยาก เช่น เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อดีของ CDROM-based หรือ DVD-based E-courseware

1. สามารถรองรับสื่อมัลติมีเดียทีต้องการแสดงในคุณภาพสูง ปริมาณมากได้

2. เหมาะสำหรับที่ซึ่งอินเตอร์เน็ตไปไม่ถึง หรือเข้าถึงได้ยาก

3. เหมาะสำหรับ E-courseware ที่มีเนื้อหาค่อนข้างนิ่ง ไม่ต้องการการปรับปรุงบ่อยครั้ง

ข้อเสียของ CDROM-based หรือ DVD-based E-courseware

1. สามารถรองรับสื่อมัลติมีเดียทีต้องการแสดงในคุณภาพสูง ปริมาณมากได้

2. จำกัดวงการใช้งานหรือการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำได้ง่ายกว่า

3. ถ้ามีการปรับปรุงเนื้อหา จะต้องส่งตัวสื่อไปให้ผู้ใช้ใหม่ทุกครั้ง

 

กล่าวโดยสรุปในภาพรวมแล้ว พบว่าในปัจจุบัน ค่อนข้างจะนิยมเลือกใช้ Web-based E-courseware มาก เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่าย ปรับปรุงเนื้อหาง่าย และต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องจ้างผลิตแผ่นซีดีหรือดีวีดี  อย่างไรก็ตาม การใช้แผ่นซีดีหรือดีวีดี ก็ยังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มงานที่มีเนื้อหาที่ต้องมีภาพยนตร์หรือภาพที่ต้องมีรายละเอียดของภาพสูงๆ เช่น ภาพ CT-scan ทางการแพทย์ ภาพยนตร์แสดงการเดินทางของแค็ปซูลที่ผู้ป่วยกลืนลงไปในกระเพาะอาหาร แล้วบันทึกภาพตลอดทางเดินอาหาร ซึ่งใช้ในการศึกษา การวิจัย การวินิจฉัยโรค และการติดตามการรักษา เป็นต้น   ก็คงต้องแล้วแต่วัตถุประสงค์การใช้สื่อดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นครับ

 

หมายเลขบันทึก: 5655เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2005 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดิฉันเห็นด้วยค่ะว่า ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน พบว่าคนส่วนใหญ่ทำสื่อการสอนด้วยเหตุผลว่าอยากจะทำ  บางคนคิดว่าการทำเว็บไซต์เป็นแฟชั่นไปแล้ว ถ้าใครมัวทำสื่อบนซีดีรอมจะเป็นการล้าสมัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อประเภทซีดีรอมหรือดีวีดียังมีที่ใช้อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่มีภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นมากๆค่ะ

อยากเรียนถามว่า การผลิตสื่อการสอนต้องอาศัยองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอะไรบ้างคะ

ขอบคุณมากค่ะ

โศ

องค์ประกอบของการผลิตสื่อการสอน ถ้าพูดในแง่ของบุคลากร จะประกอบด้วย
1. Subject matter expert (SME) หรือ Content expert เป็นบุคคลที่เป็นเจ้าของเนื้อหา  เช่น ครู อาจารย์ หรือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาที่ตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่
2. Graphic designer เป็นบุคคลที่สร้างสื่อประสม เช่น ภาพ รูปวาด ไดอะแกรม เสียง เพลง ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เป็นต้น ในมุมมองที่ Content expert ต้องการ
3. Instructional designer เป็นบุคคลที่ออกแบบคำสอนว่า ควรจะสื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างไร ในรูปแบบใด
4. Computer programmer เป็นบุคคลที่เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อร้อยเนื้อหาของ Content expert และสื่อประสมต่างๆ ของ Graphic designer เข้าด้วยกัน ให้อยู่ในรูปแบบการนำเสนอของ Instructional designer

ในปัจจุบัน เนื่องจากมีโปรแกรมสร้างสื่อการสอนที่สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น Content expert อาจเรียนรู้เป็น Computer programmer ได้ไม่ยากนัก และมักจะสอนมานานจึงมีความสามารถในการออกแบบคำสอนได้พอสมควร จึงพอจะอนุโลมว่าสามารถเป็น Instructional designer ได้ในตัว  แต่มักพบว่าการเป็น Graphic designer จะกระทำได้ยากเนื่องจากศิลปการทำกราฟิกส์หรือมัลติมีเดียนั้น ต้องการความเป็นศิลปส่วนบุคคลซึ่งเรียนรู้ได้ยากกว่าความเป็นศาสตร์ที่ Content expert รู้อยู่แล้ว รวมทั้งการเขียนโปรแกรมและการออกแบบคำสอน 

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยความสำเร็จของการสร้างสื่อการสอนที่มีคุณภาพ จึงอยู่ที่ความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคลากรทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวข้างต้น ให้เข้าใจเนื้อหาและวัตถุประสงค์ตรงกัน และทำงานร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนกัน

   ทางคณะสิ่งแวดล้อมได้เคยจัดซื้อซอพท์ด้าน E-learning ของ IBM มาใช้ซึ่งองค์ประกอบการใช้งานส่วนใหญ่สามารถทำได้เกือบจะทั้งหมดที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้ Live session ผ่านเวบแคมครั้งละหลายๆ คน ไม่เกิน 50 ผู้ใช้ (รวมถึงการพูดคุยผ่านไมค์)
2. การใช้ Chat ระหว่างการสอนร่วมกับ การนำเสนอแผ่นสไลด์
3. มีโมดูล CMS+LMS
4. การลงทะเบียน การเลือกวิชา
5. การจัดกลุ่มผู้ใช้งาน ได้แก่ ผู้ควบคุมวิชา ผู้สอน ผู้เรียน admin หรือ backup และอื่นๆ
   แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีคือความร่วมมือของผู้สอน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะกับการการสอนผ่านระบบ E-learning แบบต่างๆ และสิ่งที่ต้องการลำดับต่อมาคือ รูปแบบการบริหารจัดการสอนผ่านระบบ E-learning
   เพราะที่คณะเองก็ผลิตออกมาหลายวิชา แต่ยังไม่สามารถเอามาใช้ได้ เนื่องจากยังขาดการจัดการ และมักมีปัญหาเรื่องการติดตามเนื้อหา (ส่วนใหญ่มักจะให้มาเป็นแผ่นสไลด์ หรือไม่ก็จากกระดาษที่มีการบันทึก)

ผมคิดว่าคุณมดได้ชี้ประเด็นที่สำคัญมากประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่ต้องพัฒนาอย่างเป็นระบบ นั่นคือ

1. การบริหารจัดการในส่วนกลาง ซึ่งเรายังขาดผู้รับผิดชอบหรือทำหน้าที่เป็นผู้จัดการองค์ความรู้

2. การเลือกใช้รูปแบบการสำเสนอเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับ e-learning  ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งคงเกิดจากครูหรืออาจารย์ผู้สอนยังต้องการข้อมูลหรือความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบคำสอน (Instructional Design) ทำให้เวลาให้ข้อมูลหรือเนื้อหามาอยู่ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นสไลด์หรือกระดาษบันทึกหรือบางรายให้มาเป็นตำราเป็นเล่มขนาดโตๆ เลยก็มีครับ

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาก็อาจเป็น

1. ทางองค์กรกลางจัดให้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่บริหารจัดการองค์ความรู้ในส่วนการเรียนการสอนให้เป็นกิจลักษณะหรือรูปธรรมที่ชัดเจน

2. จัดให้มีการฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ หรือให้ความรู้เกี่ยวกับ Instructional Design แก่ครูอาจารย์ให้มีความรู้เบื้องต้น อย่างน้อย เวลาให้ข้อมูลหรือสารสนเทศหรือความรู้ ที่ต้องการให้เผยแพร่ต่อในลักษณะ e-learning ก็จะอยู่ในรูปแบยที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ขอบคูณมากครับ สำหรับความคิดเห็นที่ส่งเข้ามาครับ

 

E-Courseware CAI E-Book

ทั้ง 3 ตัวนี้มีความแตกต่างกานอย่างไงค่ะ.....

จะนำข้อมูลไปใช้ในการทำวิจัยทางการศึกษาค่ะ

เพราะว่าทั้ง 3 มีรูปแบบการใช้พวกกราฟฟิกคล้ายกันๆ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน

ขอบคุณค่ะ

ความจริงทั้ง 3 คำ อาจมีความเหมือนและต่างกัน แล้วแต่โอกาสที่ใช้ ในที่นี้ ผมเขียนสั้นๆ พอเข้าใจโดยทั่วไปดังนี้ครับ

1. e-Book เป็นหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มักเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นมาแบบเลียนแบบหนังสือกระดาษ มีรายละเอียดมาก ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงหรืออ่านรายละเอียดได้ดี แต่อาจมีข้อดีตรงที่มักมีการเพิ่ม hyperlink เข้าไปด้วย ทำให้สะดวกในการอ่านข้ามไปมา

2. CAI ย่อมาจาก Computer Aided Instruction มักเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ช่วยสอน ซึ่งโปรแกรมส่วนใหญ่มักเลือกส่วนที่หนังสือแสดงได้ไม่ค่อยดี แล้วคอมพิวเตอร์ทำได้ดี เช่น มี animation หรือมีการโต้ตอบหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้ดี และมักเป็นตอนๆ หรือเป็นเรื่องสั้นๆ ที่ช่วยสอนให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในบางจุด

3. e-Courseware ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็น courseware ดังนั้น บทเรียนมักมีความสมบูรณ์ในแง่ของการประกอบกันจนเป็นคอร์ส มีหลายๆ ตอน ประกอบกัน อาจมี pdf file ที่เป็น e-book ประกอบกับ animation file และมีส่วนการ upload การบ้าน หรือมี chat room สำหรับการถามตอบกับผู้สอน

 

ดังนั้น เราอาจใช้ CAI บางตอน มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของ e-Courseware หรือเอา e-book บางบท มาประกอบเป็น e-Courseware ก็ได้ครับ

อย่ายึดเอาคำตอบของผมเป็นสรณะนะครับ ลอง search ใน Google แล้วอ่านดู จะพบว่ายังมีความหมายอื่นๆ ได้อีกมากหลายความหมายครับ จะได้สมศักดิ์ศรีว่าเป็นรายงานวิจัยไงครับ :-)

ขอให้โชคดีครับ

ชัยเลิศ พิชิตพรชัย

-ขอบคุณนะค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท