เด็กสมองพิการ - ยังเรียนรู้ได้


สืบเนื่องจากกรณีศึกษาน้องพ.ที่บันทึกครั้งก่อนหน้านี้ วันนี้คุณพ่อคุณแม่พามาจากชลบุรี เดินทางฝ่าฟันรถติดจาก 10 โมงเช้ามาถึงบ้านดร.ป๊อปราวบ่ายโมงกว่า แต่พบความก้าวหน้าของการให้การบ้านจากดร.ป๊อปเพื่อให้ผู้ปกครองฝึกกิจกรรมบำบัดที่บ้านและมีนักกิจกรรมบำบัดรุ่นพี่ของผมช่วยฝึกที่ชลบุรี 2 วันต่อสัปดาห์ด้วย คือ น้องพ.มีอาการเกร็งกระตุกลดลงเกือบ 50% ที่ตาและแขนสองข้าง และอีก 30% ที่ขาสองข้าง (ร่างกายข้างซ้ายเกร็งกระตุก/อ่อนแรงหลังลดเกร็งกระตุก มากกว่า ข้างขวา) ส่วนการดูดกลืนนมก็ทำได้ดีขึ้น (มีกลั่นหายใจและต้องกระตุ้นการกลืน 1-2 ครั้งต่อนม 1 คำ จากเดิม 3-5 ครั้งต่อนม 1 คำ) แต่ยังคงมีกล้ามเนื้อริมฝีปากข้างซ้ายอ่อนแรงทำให้นมหกง่ายกว่าข้างขวา ที่น่าสนใจคือ น้องพ.ดูดนมได้นานและเร็วขึ้นโดยวัดออกซิเจนอิ่มตัวได้ไม่ต่ำกว่า 95% และเริ่มมีความพยายามกระดกลิ้นเป็นเสียง (มีจังหวะเท่าๆกัน) และเล่นน้ำลายเป็นฟอง ดร.ป๊อปจึงแนะนำว่า "ถ้ามีน้ำลายเป็นฟอง รอสัก 1 วินาทีดูว่ากลืนได้เองไหม ถ้าไม่ก็กระตุ้นกล้ามเนื้อการกลืนใต้คางโดยเน้นขยับตรงกลางและค่อนไปทางซีกขวามากขึ้นจะทำให้กลืนน้ำลายลงไป แต่ถ้าไม่กลืนและมีการกระดกลิ้นเป็นเสียงแปลกๆ (มีจังหวะไม่เท่ากัน) พร้อมมีการจ้องตานิ่งและแขนขาแข็งเกร็งนานเกินไป ควรวัดออกซิเจนอิ่มตัวทันทีว่า ต่ำกว่า 95% หรือไม่ ถ้าต่ำกว่าแสดงว่า ขาดออกซิเจนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชัก ให้ตั้งสติและจับน้องนอนให้ศรีษะต่ำกว่าระดับหัวใจ (ลำตัว) เล็กน้อยแล้วเรียกรถพยาบาลเพื่อรีบส่งแพทย์ทันที ขณะส่งแพทย์ให้พยายามช่วยปฐมพยาบาลช่วยการหายใจ (ถ้าทำได้ กรณีหยุดหายใจ)"

ผมนัดหมายอีกครั้งหลังสงกรานต์ โดยให้การบ้านชุดใหม่ 9 ท่าทางตามความก้าวหน้าของน้องพ. [ชุดเดิมคือ ท่าทางการลดเกร็งทั้งตัว ท่าทางการกระตุ้นแขนแยกขา ท่าทางการผ่อนคลายหายใจกับกระตุก ท่าทางการลดปฏิกิริยาอัตโนมัติ (ลดท่ายิงธนู - ศรีษะและแขนสองข้างที่มีความตึงตัวไม่เท่ากัน) ท่าทางการกระตุ้นปฏิกิริยาอัตโนมัติ (เพิ่มท่ายื่นแขนสองข้างกับกางมือ) และท่าทางการกระตุ้นการดูดกลืนนมแยกหายใจ] ได้แก่:-

  • ท่าทางการลดเกร็งเฉพาะขาทั้งสองข้าง
  • ท่าทางการลดเกร็งแขนทีละข้างพร้อมการลดท่ายิงธนู
  • ท่าทางการเพิ่มกำลังแขนขาด้านตรงข้ามพร้อมลดเกร็งที่ลำตัว
  • ท่าทางการเพิ่มกำลังขาทีละข้างพร้อมโยกซีกร่างกายด้านตรงข้าม
  • ท่าทางการกระตุ้นการตั้งศรีษะและการเอื้อมมือในท่าซุปเปอร์แมน
  • ท่าทางการกระตุ้นการตั้งศรีษะและการกลอกตาทีละข้าง (180 องศา)
  • ท่าทางการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน (ค่าปกติ 96-100%) กับอัตราการเต้นของหัวใจ (ค่าปกติ 90-130 ครั้งต่อนาทีในเด็ก 6-9 เดือน) โดยจับศรีษะตั้งและยกแขนในแนวหัวใจ จากนั้นถ้าหัวใจเต้นสูงเกินไป ซึ่งอาจมาจากร่างกายกระตุกเกร็งมากเกินไป ก็ให้นอนหงายในระดับศรีษะต่ำกว่าระดับหัวใจพร้อมวางมือแตะที่หัวใจนับในใจ 1-20 แล้วจับศรีษะขึ้นมาวัดข้างต้นอีก 1-2 ครั้ง ถ้ามีแนวโน้มความอิ่มตัวของออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจปกติ ถึงจะเริ่มฝึกดูดนมได้ ถ้าค่ายังไม่ปกติให้งดฝึกดูดนม และจับน้องพ.นอนพักผ่อนสัก 1 ชม. แล้ววัดใหม่ ในกรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติก็มักมีความสัมพันธ์กับความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ต่ำกว่าปกติด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะกระทบกระเทือนทางจิตใจของเด็ก ที่ต้องรีบทำท่าทางการลดเกร็งและการผ่อนคลายทันที เช่น จับคว่ำตัวแล้วโยกตัวเด็กหน้าหลังช้าๆ วางมือบนหน้าอกแล้วเขย่าเบาๆ ลูบตัวเด็กเบาๆให้แขนขาอยู่ในท่านอนตะแคงหรือนอนหงายสบายๆ เป็นต้น
  • ก่อนการฝึกดูดนม วางมือใต้ศรีษะน้องพ.แล้ววางหลังมือบนตัก ให้ใช้จุกนมเปล่าค่อยๆเข้าทางริมฝีปากขวาที่แข็งแรงกว่า ขยับไปมาจนนำจุกนมเข้าไปอยู่บนและกดลิ้น (สังเกตจากด้านฝานมที่จะเห็นว่าอยู่บนลิ้นได้) ค้างไว้ 1-3 วินาทีแล้วกดจุกนมลงมาช้าๆ ตรงริมฝีปากล่าง เพื่อลดการกระตุกลิ้นมากเกินไป จากนั้นค่อยๆนำจุกนมที่ประกบกับขวดนมให้นมไหลเข้าเอียงเข้าไปที่มุมปากขวา ดันขยับเบาๆ นับ 1-3 ครั้ง แล้วดันจุกนมออก จากนั้นค่อยๆ กระตุ้นกล้ามเนื้อกลืนใต้คางจากตรงกลางลำคอแล้วเขย่าตรงกล้ามเนื้อกลืนซีกขวา แล้วรอจนกว่าน้องพ.จะกลืนนมหมดไป 1 คำ ทำสัก 3 คำเป็นการฝึก แล้วดำเนินการให้นมไปตามธรรมชาติเท่าที่น้องพ.ทำได้
  • การทดลองให้น้องพ.ใส่หูฟังเพื่อเรียนรู้เสียงเพลง (ทำนองคลาสสิค ไม่มีคำร้อง) ก่อนนอนสัก 15 นาที เพราะดร.ป๊อปได้ตรวจประเมินพบการได้ยินเสียงข้างหูขวามากกว่าหูซ้าย และกระดูกหูทั้งสองข้างยังนำเสียงได้อยู่

โดยสรุปแล้ว หากมีท่าทางที่เหมาะสมของการฝึกกิจกรรมบำบัดที่ออกแบบให้เด็กสมองพิการเรียนรู้ได้ แม้ว่าสมองจะรับข้อมูลได้ไม่ถึง 100% แต่ด้วยความถี่และความหนักของการฝึกกิจกรรมบำบัดที่ต่อเนื่อง ดร.ป๊อปเชื่อและมั่นใจจากการตรวจประเมินซ่ำในน้องพ.ว่า น้องสามารถเรียนรู้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ครับผม ลองคลิกอ่านเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ภาวะสมองพิการและผลกระทบในกิจกรรมการดำเนินชีวิต 

 

หมายเลขบันทึก: 565453เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2014 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2014 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณนะคะ ที่แบ่งปันความรู้

ขอบคุณมากๆครับคุณอร คุณปริญากรณ์ และคุณ tuknarak

ขอบคุณค่ะที่ให้ความรู้ ตอนนี้มีน้องที่เป็นดาวน์กล้ามเนื้ออายุ 2 ย่าง 3 ขวบกำลังกระตุ้นการพูดอยู่ค่ะ

ขอบคุณมากๆครับคุณคืนถิ่น ขอให้น้องมีการพัฒนาการสื่อสารได้ดีขึ้นสมวัยครับผม

ขอบคุณมากๆครับคุณทิมดาบ พี่ดร.พจนา และคุณดารนี

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท