ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


http://linkfried.com/career-human-rights/

สิทธิมนุษยชน

        สำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน หรือ The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights ( OHCHR ) ได้ให้นิยามของคำว่า สิทธิมนุษยชนไว้ว่า “Human rights are rights inherent to all human beings, whatever our nationality, place of residence, sex, national or ethnic origin, colour, religion, language, or any other status. We are all equally entitled to our human rights without discrimination. These rights are all interrelated, interdependent and indivisible.”[1](สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่ผูกพันมนุษย์ทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสัญชาติ ที่พำนักอาศัย เพศ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ภาษา หรือสถานะอื่นใด มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนเกี่ยวพันกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้)

       แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีมาช้านานแต่เป็นแนวคิดที่เกิดจากศีลธรรมของตัวบุคคลไม่ใช่กฎหมาย สิทธิมนุษยชนปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษย์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มนุษย์ตระหนักในเรื่องสิทธิของปัจเจกชนมากขึ้นจึงเกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้น มีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ นอกจากนี้ยังเกิดองค์กรในการทำหน้าที่รักษาความสงบและรักษาสันติภาพของประชาคมระหว่างประเทศ นั่นก็คือ องค์การสหประชาชาติหรือ The United Nations (UN)

                กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิของรัฐในการใช้กำลังโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างสงครามโดยดำเนินการภายในขอบเขตที่เหมาะสมและจำเป็น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามใช้กำลังทหารในระหว่างประเทศ อนุสัญญาหรือสนธิสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะผูกพันเฉพาะรัฐภาคีเท่านั้น แตกต่างจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันรัฐต่อมนุษย์ทุกคน[2]

ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย

                อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า “ผู้ลี้ภัย หมายถึง  บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง”[3]

คนหนีภัยความตาย คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม[4]

1. ภัยความตายโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ

2. ภัยความตายโดยอ้อม แบ่งเป็น 2 ประเภท  ได้แก่

-ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้  จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริงการเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้

-ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น

        ในห้องเรียนได้กล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยในซีเรียและไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายว่าเมื่อได้เข้าไปอยู่ในประเทศใดแล้วจะมีสิทธิหรือได้รับความคุ้มครองจากใครได้บ้างและได้รับความคุ้มครองอย่างไร รวมถึงเรื่องการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมเมื่อสถานการณ์เป็นปกติ ประเทศผู้รับจะสามารถส่งกลับคืนได้หรือไม่อย่างไร และมาตรการก่อนการส่งกลับเป็นอย่างไร ซึ่งในซีเรียนั้นมีผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมือง ตามข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ The United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) ระบุว่าจำนวนผู้ลี้ภัยนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี ค.ศ. 2011 มีจำนวนมากถึง 9 ล้านคน ซึ่งกว่าร้อยละ 97 ของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียพักพิงในประเทศที่มีชายแดนติดกันคือตุรกี เลบานอน จอร์แดนและอิรัก การที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก

       ส่วนในประเทศไทยมีผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้จะได้รับความดูแลจากรัฐบาลไทย UNHCR องค์กรเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายพักพิงชั่วคราวทั้งหมด  9 ค่าย ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรีผู้หนีภัยความตายที่เข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และบุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ Person of concern to UNHCR (POC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่หนีจากภัยการประหัตประหารเข้ามาในประเทศไทย

       โดยทั่วไปสิทธิของผู้หนีภัยความตายได้ถูกรับรองไว้ในปฏิญญา สากลที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งมนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิต  สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการทำงาน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิ ในการศึกษา สิทธิในการมีสถานะบุคคล สิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ตน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายภายในประเทศที่รับรองการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คือรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญาได้คุ้มครองมนุษย์ทุกคนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพอย่างเท่าเทียม แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยค.ศ.1951 ซึ่งทำให้ผู้ที่มาอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวนับสิบปีไม่สามารถที่จะออกไปทำงานได้ และไทยยังไม่มีมาตรการในการเตรียมความพร้อมในกรณีที่จะส่งกลับไปยังประเทศของพวกเขาหากเหตุการณ์สงบ อีกทั้งไทยยืนยันว่าตนเป็นเพียงประเทศผู้รับเท่านั้น จึงเกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายไม่มีอาชีพส่งผลให้ไม่มีรายได้ จึงต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆเพียงอย่างเดียว เด็กไม่ได้รับการศึกษา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าบุคคลกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปทั้งที่บุคคลทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนเสมอกัน จึงควรมีมาตรการในการแก้ปัญหาเหล่านี้

       หากไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยค.ศ.1951 ผู้ลี้ภัยจะได้รับสิทธิเพิ่มมากขึ้น ตามที่ได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญาฯในหมวดที่ 2 ว่าด้วยสถานภาพตามกฎหมาย อันได้แก่ สถานภาพส่วนบุคคล สิทธิในการได้มาซึ่งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สิทธิในศิลปกรรมและทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม สิทธิในการเข้าร่วมสมาคม และการนำคดีขึ้นสู่ศาล หมวดที่ 3 ว่าด้วยการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ ได้แก่ การรับจ้างเพื่อค่าแรง การประกอบธุรกิจส่วนตัว และวิชาชีพอิสระ หมวดที่ 4 ว่าด้วยสวัสดิการ ได้แก่ การปันส่วน ที่อยู่อาศัย การศึกษาของรัฐ การบรรเทาทุกข์สาธารณชน และกฎหมายแรงงานและการประกันสังคม เป็นต้น

        ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ แต่ไทยจะผลักดันให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบออกจากประเทศในทันทีไม่ได้ ตามหลักสิทธิมนุษยชน มนุษย์ย่อมมี "สิทธิการมีชีวิต" การลี้ภัยเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR ข้อ 3 ที่ระบุว่า "บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย" และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 หรือ ICCPR ที่ไทยยอมผูกพันตน ซึ่งในข้อ 6 (1) ก็ได้กำหนดว่า "มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิต สิทธินี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงชีวิตของใครได้” ดังนั้นการผลักดันผู้หนีภัยความตายออกไปสู่ความตายจึงมิอาจทำได้เนื่องจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การละเมิดสนธิสัญญา[5]

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

[1] What are human rights? http://www.ohchr.org/en/issues/pages/whatarehumanrights.aspx

[2] กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เอกสารประกอบการบรรยาย น.396 สิทธิมนุษยชน โดยอ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[3] ผู้ลี้ภัยคือใคร https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[4] บทสัมภาษณ์: “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ (นายพงษ์เทพ ยังสมชีพ) http://salweennews.org/home/?p=986

[5] ผู้หนีภัยความตาย http://www.l3nr.org/posts/535713

[6] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

[7] อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย https://www.unhcr.or.th/th/refugee/convention

[8] Syrian Refugees http://syrianrefugees.eu/

[9] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf

หมายเลขบันทึก: 565430เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2014 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท