มธ. เตรียมเปิดคณะศึกษาศาสตร์ - เสนอมรรค ๘


 

          ผมดีใจจนเนื้อเต้น เมื่อทราบว่า ม. ธรรมศาสตร์วางแผนเปิดคณะศึกษาศาสตร์    จึงตอบรับทันที เมื่อได้รับการติดต่อให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์

          และจัดเวลาไปร่วมประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการ ในบ่ายวันที่ ๓ มี.ค. ๕๗    โดยเตรียมไปเสนอแนวทาง ๘ ประการ    หรือมรรค ๘   

 

๑. จัดการเรียนรู้แบบ กลับทางห้องเรียน   โดยต้องจัดระบบ ICT ให้รองรับ, และจัดการเรียนรู้แบบ Blended หลายรูปแบบ

๒. จัดการทำงานของอาจารย์เป็น PLC คือเป็นชุมชนเรียนรู้

๓. มีเป้าหมายผลิตบัณฑิตไปเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง    คือจัดการศึกษาแบบ Transformative Education

๔. จัดการเรียนแบบบูรณาการ    ไม่แยกวิชาย่อยมากเกินไป    เรียนน้อยวิชา แต่จัดเป็นวิชาที่บูรณาการหลายศาสตร์

๕. มีเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการครบด้านไปพร้อมๆ กัน    ไม่ใช่เน้นเพียงเรียนวิชา     ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาการด้านอารมณ์, สังคม, จิตวิญญาณ, และด้านกายภาพ ไปพร้อมๆ กัน    เรียนรู้ฝึกฝนทั้งการเรียนรู้ด้านนอก และการเรียนรู้ด้านใน (จิตตปัญญาศึกษา)

๖. มีการวิจัย เพื่อนำมาใช้พัฒนาบัณฑิต    โจทย์ข้อ ๑ คือ พัฒนาวิธีวัด Net Gain ของการเรียนรู้ใน ๑ ปี ของนักเรียนเป็นรายคน     เพื่อให้ครูในอนาคตนำไปใช้    และผลักดันการเเปลี่ยนแปลง เกณฑ์ความดีความชอบ และการเลื่อนชั้นของครู    จากประเมินกระดาษ เป็นประเมิน Net Gain ของการเรียนรู้ของศิษย์    และคณะศึกษาศาสตร์ มธ. ก็นำ Net Gain ของศิษย์ มาเป็นดัชนีตัวหนึ่งในการให้ความดีความชอบอาจารย์

๗. เรื่องการเลือกรับอาจารย์    ควรเลือกรับคนที่มีวิญญาณและทักษะของการเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)    เริ่มต้นด้วยการปฐมนิเทศอาจารย์ และมีการสัมมนาเรื่องการจัดการเรียนรู้ ประจำปีทุกปี    รวมทั้งมีการจัด การประชุมปฏิบัติการ สำหรับปฐมนิเทศ นศ. ใหม่ ให้เห็นคุณค่า และมีทักษะ ของวิธีการเรียนรู้แบบใหม่

๘. เรื่องการฝึกทักษะ Embedded Formative Assessment + Formative Feedback ให้แก่อาจารย์ทุกคน    และทดสอบทักษะจนเป็นที่พอใจ จึงจะรับเป็นอาจารย์ประจำ    ที่จริงประเด็นนี้อยู่ในข้อ ๗    แต่แยกออกมาเป็น อีกข้อต่างหาก เพราะมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้    และการฝึกให้บัณฑิต มีทักษะนี้    สำหรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของการเป็นครู 

 

          ทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตออกไปปฏิบัติเช่นเดียวกันเมื่อทำหน้าที่ครู    คือไปสอนแบบใหม่ แบบกลับทางห้องเรียน    และติดนิสัยทำงานเป็นทีมในกลุ่มครู    ระหว่างทำงาน ก็เรียนรู้เป็นทีมไปด้วย    และทำหน้าที่เป็น change agent ในโรงเรียน และในระบบการศึกษา    เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียนจาก การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐    สู่การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   เพื่อให้ศิษย์ไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    เน้นการผลิตผู้นำ     ไม่ใช่ผลิตผู้ตาม อย่างที่ระบบการศึกษาปัจจุบันทำอยู่  

          ข้างบนนั้น คือข้อความที่ผมเขียนเตรียมไปให้ความเห็น เขียนก่อนการประชุม

          ในที่ประชุมมีผู้แสดงความเห็นพ้อง ว่า คณะศึกษาศาสตร์ มธ. ควรทำประโยชน์ในการเป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย   และผลิตบัณฑิตออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง    แต่สภาพปัจจุบัน บัณฑิตใหม่ที่มีไฟแรง และออกไปเป็นครูในระบบการศึกษาส่วนที่เป็นราชการ จะถูกระบบกลืนหรือครอบงำ ภายในเวลาเพียงสองสามปี    และอีกส่วนหนึ่งทนระบบไม่ไหว ก็ลาออกไปทำงานอื่น

          มีผู้ให้ความเห็นรุนแรงว่า ตัวปัญหาของคุณภาพการศึกษาไทยคือระบบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ    ถึงกับเสนอให้ยุบกระทรวงศึกษาธิการ คุณภาพการศึกษาไทยจึงจะมีลู่ทางกระเตื้องขึ้น

          ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ครูควรมีความรู้วิชาหลักแน่น เลริมด้วยวิชาครู    จึงน่าจะเอาคนที่จบวิชาหลัก (เช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา สังคมศาสตร์) มาเรียนปริญญาโท เพื่อเติมวิชาครู    หรือจัดหลักสูตร สองปริญญา (dual degree) ของวิชาหลัก กับวิชาการศึกษา

          มีผู้เสนอให้คณะศึกษาศาสตร์ มธ. ใช้เวลาเตรียม “ครูของครู” ให้ดีก่อน จึงเปิดระดับ ป. ตรี    จึงอาจพิจารณาเริ่มจากการเปิดหลักสูตร ป. โท ก่อน  

          และควรร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาทางเลือก ซึ่งเวลานี้มีอยู่กว่า ๔๐๐ สถาบัน รวมตัวกันเป็นสมาคม

          ผมนั่งฟังผู้ให้ความเห็นอยู่ชั่วโมงเศษๆ ได้ความรู้มาก ทั้งด้านวิกฤติ และด้านโอกาส    เรื่องการศึกษาไทยนี่ซับซ้อนจริงๆ     เวลานี้การผลิตครูเกินพออย่างมากมาย    แต่ก็ขาดครูที่มีคุณภาพ    และที่ผลิตไม่ตรงความต้องการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ มี.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 565011เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยในหลายประเด็นเลยครับ

เช่น

๑. จัดการเรียนรู้แบบ กลับทางห้องเรียน โดยต้องจัดระบบ ICT ให้รองรับ, และจัดการเรียนรู้แบบ Blended หลายรูปแบบ

๒. จัดการทำงานของอาจารย์เป็น PLC คือเป็นชุมชนเรียนรู้

๓. มีเป้าหมายผลิตบัณฑิตไปเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือจัดการศึกษาแบบ Transformative Education

๔. จัดการเรียนแบบบูรณาการ ไม่แยกวิชาย่อยมากเกินไป เรียนน้อยวิชา แต่จัดเป็นวิชาที่บูรณาการหลายศาสตร์

ตอนนี้การรับครูมีปัญหา มหาวิทยาลัย ไม่ได้ดูอัตราที่สอดคล้องกัน ไม่มีการวางแผน

ในสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่ตอนนี้ขาดครูภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์

แต่มหาวิทยาลัยผลิตคอมพิวเตอร์ ออกมาจำนวนมาก

ต้องการเพียงไม่กี่ตำแหน่ง ตอนนี้คนสมัคร 300 กว่าคนแล้ว

อยากเห็นการวางแผนของสพฐในเรื่องการเปิดรับตำแหน่งให้สอดคล้องกับการผลิตครูของมหาวิทยาลัยด้วยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
เป็นอีกทางเลือกของวงการการศึกษาไทย ข้อ ๗ เรื่องการเลือกรับอาจารย์ ควรเลือกรับคนที่มีวิญญาณและทักษะของการเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คณบดี และทีมผู้บริหารต้องเลือก คนที่มีวิญญาณและทักษะของการเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เช่นกัน มิฉะนั้นก้อคิดกันทำกันแบบเดิมๆๆ ทำกันไปประคองกันเรื่อยๆ (ดีที่สุดคือ วัดจากความเงียบสงบไม่เกิดปัญหา ทั้งที่ไม่เคยคิดอะไร) จนหมดวาระ สะสมจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการบริหารไปอีก ที่สำคัญอีกเรื่องคือ น่าจะเปิดหลักสูตรบริหารการศึกษาควบคู่กันไปด้วยนะคะ จะได้ผลิตบุคลากรแนวคิดเดียวกันออกไปละลายน้ำเก่าในคราวเดียวกันเพราะหลักสูตรบริหารการศึกษาบางแห่ง ก้อใช่เยอะ (จ่ายครบ จบแน่) พฤติกรรมเมื่อจบออกไป หนักกว่าเดิม
เพราะมาบ่มเพาะวิธีคิด ทัศนคติทางลบจากกลุ่ม (ออกไปหาเงินใช้หนี้ตอนเรียน) ประดุจดังพฤติกรรมนักโทษหนักติดคุก ออกจากคุกไปกลยุทธ์ทางลบเยี่ยมยอดกว่าเดิม แบบหาร่องรอยไม่เจอ)

นี่เป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งของตัวเอง ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวจากประสบการณ์ในฐานะคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งมาค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท