Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย : การจดทะเบียนการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙


ขอให้เราจินตนาการต่อไปว่า การทะเบียนราษฎรที่สมบูรณ์ที่สุด ก็คือ การทะเบียนราษฎรในพื้นที่ที่เป็นเทศบาล ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวนี้เองที่เอื้อความเป็นไปได้ใน พ.ศ.๒๔๘๖ ที่จะกำหนดให้ “คนที่มีสถานะในทะเบียนราษฎร” สามารถมี “บัตรประชาชน” รัฐไทยสมัยใหม่จึงมีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้ “บุคคลทุกคนที่มีอายุตั้งแต่สิบหกปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึงอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ภายในเขตท้องที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุ...ต้องมีบัตรประจำตัว...”[ ในทางกลับกัน คนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรก็จะไม่สามารถร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ปรากฏการณ์ของกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชนยิ่งสร้าง “ความแตกต่าง” มากขึ้นระหว่าง “คนที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร” และ “คนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร” และโดยทั่วไป ความเป็นไปได้ที่คนจะเข้าสู่ทะเบียนราษฎร ก็คือ การได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือการได้รับการลงรายการในทะเบียนบ้าน ดังนั้น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือสิทธิในการลงรายการหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นในสังคมไทย

          กฎหมายอีกฉบับที่ออกมาเพื่อสร้าง ระบบกฎหมายทะเบียนราษฎร ให้สมบูรณ์มากขึ้น และแทนที่ พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร์ พ.ศ.๒๔๕๒ ก็คือ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙[1] กฎหมายนี้มุ่งใช้ เทศบาล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นมาทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎร กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎร มิใช่กฎหมายที่พระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินดังเช่นใน ๒ ฉบับก่อนหน้า จึงควรสังเกตว่า แนวคิดเกี่ยวกับราษฎรของเหล่าผู้ปกครองที่มาจากสามัญชนนั้น มีความแตกต่างไปจากแนวคิดของผู้ปกครองซึ่งเป็นกษัตริย์หรือไม่ ? อย่างไร ?

              โดยพิจารณาบทบัญญัติทั้งหมดของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ เราอาจมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิดดังต่อไปนี้

              ในประการแรก  เป็นข้อสังเกตในเชิงนิติอักษรศาสตร์ เราพบว่า คำว่า ทะเบียนราษฎร ได้เริ่มปรากฏเป็นชื่อกฎหมายเป็นครั้งแรก นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ได้เริ่มต้นนิยามคำว่า คนเกิด โดยให้หมายความถึง คนที่คลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก[2] เราไม่พบคำว่า สัญชาติไทย ในกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ในยุคนี้ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) และ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ แล้ว 

                  ในประการที่สอง เราสังเกตว่า หลักกฎหมายเกี่ยวกับการแจ้งการเกิดได้ถูกบัญญัติอย่างละเอียดละออมากขึ้น โดยกฎหมายยังกำหนดให้เจ้าบ้าน[3] มีหน้าที่แจ้งการเกิดของคนเกิด ในบ้าน[4] ต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันนับตั้งแต่วันเกิด[5] ส่วนการเกิด นอกบ้าน ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ภายใน ๑ เดือน นับตั้งแต่วันเกิด แต่ถ้ามารดาไม่อยู่ในสถานะที่จะแจ้งความได้ ให้เป็นหน้าที่ของบิดา ถ้าไม่มีบิดา หรือทั้งบิดาและมารดาไม่อยู่ในสถานะเช่นว่านั้น ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านที่มารดาอยู่อาศัยต้องมาแจ้งความการเกิดให้แก่เด็ก[6] 

                 ในประการที่สาม เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวครั้งแรกของหลักกฎหมายเรื่องการรับรองการเกิดของผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล โดยมาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ.๒๔๗๙ นี้บัญญัติว่า เมื่อเทศบาลเห็นเป็นการสมควร อาจออกเทศบัญญัติกำหนดให้แพทย์ นางผดุงครรภ์ หรือผู้มีวิทยฐานะอื่นใด มีหน้าที่แจ้งความต่อนายทะเบียนท้องถิ่นในเรื่องคนเกิดคนต่าย หรือทารกตายขณะคลอด ซึ่งตนได้รู้เห็นเนื่องในหน้าที่อันเป็นอาชีพของตน หรือเนื่องจากพฤติการณ์อื่นดังที่ระบุไว้ในเทศบัญญัติ ก็ได้ ขอให้สังเกตว่า หน้าที่ของผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลนี้มิได้ขึ้นโดยพลันโดย พ.ร.บ.นี้ แต่ พ.ร.บ.กลับผูกเงื่อนไขให้การเกิดขึ้นของหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามเทศบัญญัติ ซึ่งถ้าไม่มีเทศบัญญัติกำหนดหน้าที่บุคคลดังกล่าว  บุคคลดังกล่าวก็จะยังไม่มีหน้าที่

              ในประการที่สี่ เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวของบทบัญญัติซึ่งเชื่อมโยงเรื่องชื่อบุคคลของคนเกิดและทะเบียนการเกิด จะเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เป็น หน้าที่ ของนายทะเบียนท้องถิ่นใส่ชื่อของคนเกิดลงในต้นขั้วทะเบียนคนเกิด ซึ่งบิดามีหน้าที่ต้องแจ้งชื่อบุตรต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน ๓ เดือนนับตั้งแต่วันตั้งชื่อ แต่ถ้าบิดาไม่อยู่ในสถานะที่จะแจ้งความได้ ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่อยู่ในสถานะเช่นว่านั้น ให้เป็นหน้าที่ของบุคคลซึ่งพิทักษ์รักษาเด็กนั้น[7] 

               ในประการที่ห้า เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวครั้งแรกของหลักกฎหมายเพื่อทารกเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้ง หรือ เด็กไร้รากเหง้า โดยกฎหมายนี้กำหนดให้ บุคคลผู้พบเด็ก ต้องให้จัดการช่วยเหลือ และรีบแจ้งความต่อนายทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตนพบทารกนั้น หากการแจ้งความนั้นไม่สะดวก บุคคลผู้พบเด็กอาจแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจแห่งท้องถิ่นซึ่งตนพบนั้นก็ได้[8] 

                ในประการที่หก เราสังเกตเห็นการใช้โทษปรับในการลงโทษผู้ที่ไม่ทำหน้าที่แจ้งความการเกิดใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะทำปรับไม่เกินสิบสองบาท แล้วแต่กรณี

             ในประการที่เจ็ดและเป็นประการสุดท้าย เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาปัญหาการจดทะเบียนการเกิดภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่าง ใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด เราจึงอาจสรุปได้ต่อไปว่า  ทะเบียนคนเกิดในยุคนี้ก็ยังมีลักษณะทั่วไป (universal) เพราะเราไม่พบว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิเสธสิทธิของเด็กซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  เราไม่พบการเลือกปฏิบัติในบทบัญญัติส่วนใดส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ กรณีเป็นไปเหมือนกฎหมายฉบับก่อนๆ         

             ขอให้เราจินตนาการต่อไปว่า การทะเบียนราษฎรที่สมบูรณ์ที่สุด ก็คือ การทะเบียนราษฎรในพื้นที่ที่เป็นเทศบาล ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวนี้เองที่เอื้อความเป็นไปได้ใน พ.ศ.๒๔๘๖ ที่จะกำหนดให้ คนที่มีสถานะในทะเบียนราษฎร สามารถมี บัตรประชาชน [9]   รัฐไทยสมัยใหม่จึงมีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้ บุคคลทุกคนที่มีอายุตั้งแต่สิบหกปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึงอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ภายในเขตท้องที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุ...ต้องมีบัตรประจำตัว...[10]  ในทางกลับกัน คนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรก็จะไม่สามารถร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ปรากฏการณ์ของกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชนยิ่งสร้าง ความแตกต่าง มากขึ้นระหว่าง คนที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร และ คนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร  และโดยทั่วไป ความเป็นไปได้ที่คนจะเข้าสู่ทะเบียนราษฎร ก็คือ การได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือการได้รับการลงรายการในทะเบียนบ้าน  ดังนั้น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือสิทธิในการลงรายการหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นในสังคมไทย

                พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙ และถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งรวมเวลากว่า ๒๐ ปี ที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ 


[1] ซึ่งมาตรา ๒ พ.ร.บ. ฉบับหลังนี้บัญญัติว่า ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในท้องถิ่นซึ่งมีฐานะเป็นเทศบาลเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนหลังจากได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ส่วนในท้องถิ่นใด ซึ่งยังมิได้มีฐานะเป็นเทศบาลในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนหลังจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายกฐานะท้องถิ่นนั้นเป็นเทศบาล ในท้องถิ่นซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร์ พ.ศ.๒๔๕๒ พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.๒๔๖๑ กับกฎและข้อบังคับอื่นๆ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินั้นๆ
[2] มาตรา ๓ (๕) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[3] มาตรา ๓ (๓) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ บัญญัติให้หมายถึง บุคคลซึ่งครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอย่างอื่นใดก็ตาม
[4] มาตรา ๓ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ บัญญัติว่า บ้าน หมายถึง โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีลักษณะสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึง แพ หรือเรือ ซึ่งจอดประจำและใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย
[5] มาตรา ๑๗ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[6] มาตรา ๑๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[7] มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[8] มาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[9] มีการประกาศใช้ ...บัตรประจำตัวประชาชน พ..๒๔๘๖ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๐ ตอนที่ ๔ หน้า ๑๗๑ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม พ..๒๔๘๖

[10] มาตรา ๔  แห่ง ...บัตรประจำตัวประชาชน พ..๒๔๘๖

-------------------------------------------

สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย

: การจดทะเบียนการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ 
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
วันจันทร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
 -------------------------------------------
หมายเลขบันทึก: 56496เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท