ปิดเทอมไม่ว้าวุ่น.. จัดระบบให้ลูก


ปิดเทอมไม่ว้าวุ่น.. จัดระบบให้ลูก

   

ปิดเทอมใหญ่   สำหรับเด็กๆ คือความสุข เพราะไม่ต้องไปเรียน แต่สำหรับพ่อแม่แล้ว   การดูแลลูกช่วงปิดเทอมเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร หากพ่อแม่ที่มีเวลา   คงจะเป็นโอกาสทองในการหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้ลูก แต่ในรายที่เวลาน้อย   ปิดเทอมใหญ่อาจสร้างความว้าวุ่นได้ไม่น้อย เพราะห่วงลูกจะเกิดปัญหาต่างๆ ซึ่ง   น.พ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์   ระบุว่าเด็กที่มีอิสระมากไปในช่วงปิดเทอมอาจจะเกิดปัญหาได้   พ่อแม่ต้องเรียนรู้วิธีรับมือเพื่อป้องกันปัญหา

"ช่วงปิดเทอมเด็กมีเวลาว่างมากเกินไป   ทำให้เกิดความเป็นอิสระ   แม้ความเป็นอิสระจะช่วยทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายช่วงปิดเทอมหลังจากที่ตรากตรำเล่าเรียนกันมาอย่างหนักหนาสาหัส   เมื่อมีเวลาที่เป็นอิสระมากเกินไปหรือเกินขอบเขตอาจมีความเสี่ยงที่จะใช้เวลาในทางที่ผิดได้   เช่น การเที่ยวเตร่หรือมั่วสุมมากเกินขอบเขต   หรือการใช้เวลาไปอยู่กับสื่อที่มักก่อให้เกิดปัญหา เช่น อินเตอร์เน็ต   เนื่องจากไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน จึงทำให้ระบบการนอนและวินัยเสียไป   นอกจากนี้เด็กบางคนมักหาโอกาสทำเรื่องที่ไม่เหมาะสมในช่วงปิดเทอมเมื่อไม่มีใครควบคุมเรื่องเวลาที่ดีพอ   เช่น อาจมีปัญหาเรื่องชู้สาวตามมาเนื่องจากมีเวลาท่องเที่ยวอย่างอิสระ"   
  
  การที่เด็กมีอิสระมากไปในช่วงปิดเทอมยังอาจทำให้เด็กเริ่มชินกับการทำอะไรช้าๆ   ไปเรื่อยๆ ทำให้ปรับตัวไม่ทันในช่วงเปิดเทอม   จากประสบการณ์พบว่าเด็กหลายคนเริ่มขาดความสนใจในการเรียนจนกระทั่งถึงเปิดเทอมก็ยังติดพฤติกรรมเดิมๆ   เหมือนช่วงปิดเทอมอยู่สักระยะหนึ่ง รวมถึงการนอนตื่นสาย   หากไม่มีการเตือนให้รีบกลับมาสู่การเรียนหรือกฎเกณฑ์อย่างแท้จริงอาจเกิดปัญหาตามมาได้   
  
  การปล่อยให้เด็กต้องอยู่ที่บ้านเพียงลำพังนานๆ   เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน ยังอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องขาดการควบคุมพฤติกรรม   ไม่เหมือนตอนอยู่โรงเรียนในช่วงกลางวันที่มีคุณครูคอยดูแล ดังนั้น การควบคุม   กฎเกณฑ์ต่างๆ อาจค่อนข้างยาก บางคนติดเพื่อนมาก เมื่อถึงช่วงเวลาปิดเทอมอาจเหงา   จะหมกมุ่นกับการใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การคุยโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต   เล่นเกมทั้งวัน ทำให้พ่อแม่ต้องเจอปัญหาค่าใช้จ่ายสูงขึ้น   บางรายอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา เนื่องจากมีเวลาว่าง ไม่ค่อยได้ทำอะไรมากนัก   พักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บริโภคมากเกินความจำเป็น เกิดปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น   
  
  สำหรับวิธีการบริหารจัดการลูกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงปิดเทอม   น.พ.กัมปนาท ให้คำแนะนำกับพ่อแม่ดังนี้ 
  

  1.พ่อแม่ควรชี้แจงให้ลูกทราบว่าการปิดเทอม   แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนแต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ควรมีการเผื่อสำหรับการเรียนในภาคเรียนต่อไปบ้าง   อย่างน้อยสักร้อยละ 20-30 ที่ควรจะเผื่อไว้เสมอ   จะได้เป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็กที่ยังคงต้องมีอย่างต่อเนื่อง   
  
  2.ลูกควรรับทราบว่าร่างกายของคนเราโดยเฉพาะสมองจะมีส่วนควบคุมที่เปรียบเสมือนนาฬิกาชีวภาพ   คอยกำหนดเวลากิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนอนหลับ การตื่นจากนอนหลับ   หรือแม้แต่การกำหนดกิจวัตรประจำวันที่เราทำบ่อยๆ   จะทำให้เกิดการจัดระเบียบขึ้นมาในร่างกายและการรับรู้ต่างๆ ในแต่ละวันด้วย   หากมีการปรับเปลี่ยนเวลาด้วยการทำตัวขาดระเบียบมากจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า   "นาฬิการวน" นั่นเอง การกู้กลับมาต้องใช้เวลาอีกพอสมควร 
  
  3.ควรจัดให้เด็กร่วมมือจัดตารางเวลาของตนเอง   และนำมาให้พ่อแม่ดูว่าควรทำอะไรบ้างในช่วงปิดเทอม   โดยไม่จำเป็นต้องเข้มงวดหรือมีกิจกรรมที่แน่นจนเกินไป หรือไม่มีอะไรให้ทำเลย   เพราะเด็กสมัยนี้เวลาว่างมักมีปัญหาเรื่องจิตใจฟุ้งซ่าน สมาธิไม่ค่อยดี ควรจัดกิจกรรมที่เรียกสมาธิกลับมา   
  
  4.บางครอบครัวสนับสนุนให้ลูกไปฝึกงาน อาจทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น   แต่ถึงแม้ไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทำให้ได้ประสบการณ์และความภาคภูมิใจ   พบว่าเด็กที่รู้จักทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เด็กมักเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง   และมีความอดทนมากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจอย่างชัดเจน 
  
  5.พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกบ้างพอสมควร   เนื่องจากช่วงเวลาปิดเทอมนั้นมักเป็นช่วงหน้าร้อน ซึ่งเหมาะกับการท่องเที่ยว   และไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานสักเท่าไรนัก   การยอมเสียสละเวลาบ้างเพื่อลูกโดยไม่กระทบต่องานหลักที่ทำอยู่น่าจะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น   อีกทั้งเป็นช่วงเวลาแห่งการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย   การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาให้ลูกบ้างในช่วงปิดเทอมจะเป็นการเพิ่มความหวัง   ความสุขให้ลูก ขณะเดียวกันสามารถป้องกันมิให้เด็กไปแสวงหาความสุขในช่องทางที่ไม่เหมาะสม   เช่น การเสพยาเสพติด 
  
  6.พ่อแม่ที่เคยสังเกตว่าลูกมีปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกายที่ไม่เร่งด่วนหรือปัญหาสุขภาพใจที่เคยรอได้มาหลายเดือน   น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มาขอคำแนะนำ ปรึกษาและหาทางบำบัดรักษาในกรณีที่เจ็บป่วย   เช่น เป็นโรคทางจิตเวช หรือสงสัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างซ่อนอยู่ 
  
  ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ข่าวสด
  แหล่งที่มา : มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

ที่มา : http://www.maceducation.com/content2.php?id=861

หมายเลขบันทึก: 564854เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2014 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2014 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท