นภาพร กอบกิจวัฒนา : บริหารจัดการข่าวร้ายอย่างไร......ในหอผู้ป่วยอายุรกรรม


   ภาพที่ชินตาของหอผู้ป่วยสามัญอายุรกรรม คือ ความแออัด สายระโยงระยาง สีหน้าที่เต็มไปด้วยความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติความรีบเร่งของแพทย์และพยาบาลในการให้บริการคนไข้ที่มีจำนวนมาก อัตราการครองเตียงเฉลี่ย150-170℅  ทำให้การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยมีความเร่งรีบเช่นกัน  ผู้ป่วยและครอบครัวแทบไม่มีโอกาสร่วมพูดคุยหรือซักถาม มักจะเป็นฝ่ายที่ฟังเพียงผ่ายเดียว แล้วต้องตัดสินใจทันที บางครั้งผู้ป่วยและครอบครัวยังมึนงง จนไม่รู้จะถามอะไร จะเอายังไง ก็เออออไปก่อน เพราะเชื่อมั่นหมอว่าน่าจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย  ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลว่า เป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบระยะท้าย(palliative care)  แล้วถูกรวบรัดด้วยคำถามอีก 1 ชุดว่า จะใส่ท่อช่วยหายใจไหม เอายากระตุ้นหัวใจหรือเปล่า จะปั๊มหัวใจ???? เข้าใจแล้วเซ็นต์ชื่อด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่ข้างเตียงผู้ป่วย

   ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ทำเช่นนั้น แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในทีม palliative care มีโอกาสได้รับความรู้ที่เป็นมาตรฐานจากอาจารย์หลายท่าน เห็นว่าการพูดคุยแจ้งข่าวร้ายเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ เป็นเรื่องความเป็นความตายของคนที่เขารักและผูกพัน ยากที่จะยอมรับและตัดสินใจว่าจะเลือกเดินไปเส้นทางไหน เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับหอผู้ป่วยสามัญอายุรกรรม เราจะมีระบบบริหารจัดการปฏิบัติการ(process)ให้เหมาะสมอย่างไร 

   ช่วงนั้นมีผู้ป่วยรับย้ายมาจาก CCU ให้ข้อมูลว่า ญาติยอมรับการดูแลแบบ palliative care แล้ว  แต่พอถึงวอร์ด ผู้ป่วยแย่ลง  สังเกตเห็นญาติมีสีหน้าเคร่งเครียด ทั้งแพทย์และพยาบาลก็รีบคุยขณะย้ายลงเตียง เพราะผู้ป่วยอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ ญาติพูดสวนกลับทันทีว่า "หมอไม่มีที่คุยที่มันดีกว่านี้หรือครับ นี่มันคุยข้างถนนชัดๆ"  เล่นเอาดิฉันถึงกับผงะ ในใจก็เคืองเหมือนกัน แต่หักห้ามใจ ไม่แสดงอาการอะไรออกไป ได้แต่ไปเปิดเครื่องปรับอากาศในห้อง เตรียมเก้าอี้ แล้วเชิญญาติทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยในห้องร่วมกับแพทย์และพยาบาล สรุปคือญาติมีความเห็นต่าง ขอให้การรักษาเต็มที่  จึงย้ายขึ้น CCU อีกครั้ง

   จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้นำมาซึ่งการปรับระบบงาน การพูดคุยให้ข้อมูลที่เป็นเรื่องข่าวร้าย และญาติต้องตัดสินใจ พยาบาลจะนัดหมาย นัดเวลาให้ญาติมาพูดคุยกับแพทย์และพยาบาล  การปรับในระยะแรกพบปัญหา คือ ทุกคนมองว่าเสียเวลา ทำไมเรื่องมากจัง    แต่ดิฉันก็พยายามอธิบายถึงข้อดี  และให้พยาบาลสังเกตว่า การทำ family conference มีประโยชน์กับผู้ป่วยและคนทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า สัมพันธภาพระหว่างบุคลากรกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น เป้าหมาย(goal of care) ในการดูแลรักษาและ nursing care ชัดเจนมากขึ้น ลดภาระงานไปได้บางส่วน พยาบาลจึงพยายามชักชวนแพทย์ให้มา family conference ในห้องหรือพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ 

   ดิฉันเคยเจอผู้ป่วย CA lung with brain metastasis  แพทย์แจ้งข่าวร้ายที่ข้างเตียง แล้วให้พยาบาลเอาใบยินยอมการดูแลแบบ palliative care มาให้ภรรยาผู้ป่วยเซ็น  พยาบาลได้พูดคุยทบทวนการรับรู้ของญาติอีกครั้ง  พบว่าภรรยาผู้ป่วยยังงงและไม่เซ็น อยากจะให้แม่และพี่สาวของผู้ป่วยมาร่วมพูดคุย จึงนัดหมายเวลา จากนั้นรายงานแพทย์ ปรากฏว่า ทีมแพทย์ไม่ค่อยพึงพอใจเท่าไรนัก  ดิฉันในฐานะหัวหน้าหอผู้ป่วย ต้องเข้าไปอธิบายกับแพทย์ว่า ญาติต้องการอะไร และยืนยันว่าระบบงานที่นี่เราจะจัดให้คุยเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่ชัดเจนขึ้น ญาติเข้าใจก็จะช่วยลดข้อขัดแย้งไปมาก โดยเฉพาะข้อขัดแย้งภายในใจของญาติเอง ที่อาจรู้สึกผิดกับการตัดสินใจที่เลือกการดูแลแบบนี้ การเซ็นยินยอมเหมือนกับเขาไม่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไป  แต่ถ้าหากมีการพูดคุยร่วมกัน  ในประเด็นที่กำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย  ไม่ใช่การไม่ทำอะไรให้กับผู้ป่วย แพทย์ทั้งทีมเข้าใจ  และทำ family conference ร่วมกับมารดา พี่สาวและภรรยาผู้ป่วย  ซึ่งตัดสินใจนำผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน

   หลังจากนั้น ภาพของการทำ family conference แบบนี้ถูกแทรกอยู่ในระบบงานหลัก ทั้งแพทย์และพยาบาลได้เรียนรู้ร่วมกันกับญาติและครอบครัว มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่แม้จะวุ่นแต่ไม่วุ่นวายใจและมีความสุขมากขึ้น

นส. นภาพร กอบกิจวัฒนา

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 3

โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี   

หมายเลขบันทึก: 564718เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2014 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

- การประชุมครอบครัวร่วมกับบุคลากรในการแจ้งข่าวร้าย

- การจัดการสภาพแวดล้อมในการแจ้งข่าวร้าย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท