ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๖. ร่วมกันต่อต้านคอรัปชั่น


 

          วันที่ ๒๑ ก.. ๕๗ ผมไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร ACEP (Anti-Corruption for Executive Program) รุ่นที่ ๙  จัดโดย IOD

          เนื่องจาก IOD และ CAC (Coalition Against Corruption - โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต) เป็นหน่วยงานหรือกิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชน   เรื่องราวในหลักสูตรจึงจำกัดหรือเน้นที่ภาคธุรกิจเอกชน

          เรื่องการต่อต้านคอรัปชั่นนี้ ในประเทศไทยทำกันหลายกลุ่มหลายโครงการ     ที่โด่งดังที่สุดน่าจะได้แก่ องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ACT) เพราะทำกิจกรรมเชิงรุกหลากหลายด้านในสังคม และร่วมมือกับหลายองค์กร หลายภาคส่วน    ยิ่งประธานองค์กร คือคุณประมนต์ สุธีวงศ์ โดนยิงบ้าน (ดังข่าว) องค์กรนี้ยิ่งโด่งดัง  

          ปปช. ร่วมกับ ทปอ. ดำเนินการเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น     โดยที่การมี ปปช. ก็เป็นการสร้างสถาบัน ดำเนินการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น   โดยมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมาก ทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ   ทั้งด้านบวกและด้านลบ    ด้านบวกคือการส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตในสังคม    เสียแต่ชื่อเน้นด้านลบ คือปราบปรามการทุจริตมากไปหน่อย

          ที่ผมไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรมเป็นของ แนวร่วมปฏิบัติ (CAC)    ซึ่งเน้นชักชวนองค์กรธุรกิจ มาเป็นแนวร่วมปฏิบัติ    ในการประกอบธุรกิจแบบไม่ให้สินบน และไม่รับสินบน    เขาทำเรื่องเดียว คือต่อต้านสินบน   โดยขบวนการนี้ได้รับ การสนับสนุนจาก CIPE (Center for International Private Enterprise)     จึงพอจะเข้าใจได้ว่า วงการธุรกิจนานาชาติเขามองว่า สินบนเป็นศัตรูตัวร้ายของระบบทุนนิยมสะอาด     ที่แข่งขันกันทำธุรกิจด้วยฝีมือ เป็นการแข่งขันกันอย่างมีคุณธรรม    ไม่ใช่แข่งผ่านการติดสินบน

          ในเวลา ๕ ปี (๒๕๕๑ - ๒๕๕๖) CPI (Corruption Perception Index) ของประเทศไทย     ตกอันดับจากอันดับที่ ๘๘ ไปเป็น ๑๐๒    อยู่ในกลุ่มประเทศชั่วร้าย น่าอับอายขายหน้ายิ่ง    ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกลงไปอีก    แต่ ดร. บัณฑิต นิจถาวร มองแง่ดีว่า เมื่อ ๕ ปีมาแล้วเรายังค่อนข้างดี   แสดงว่าปัญหาใหม่นั้น ยังแก้ให้กลับคืนดีได้    แต่ก็มีข้อมูลจาก เอแบคโพล บอกว่า นศ. ร้อยละ ๖๐ ยอมรับคอรัปชั่น    ผมโทษคุณทักษิณ ว่าเป็นตัวการสร้างความเสื่อมเสียศีลธรรมนี้    เพราะตัวของเขาเอง โกงแล้วโกงอีก    โครงการรับจำนำข้าวฟ้องอย่างโจ่งแจ้ง

          ผมได้เรียนรู้เรื่องฉาวโฉ่ของบริษัท ซีเมนส์ ของเยอรมัน ในเรื่องการประกอบธุรกิจโดยให้สินบน    และโดนธนาคารโลกเล่นงาน    จนต้องปรับตัว ลงโทษผู้ทำผิด และยอมจ่ายค่าปรับถึง ๑,๖๐๐ ล้านเหรียญ ดังข่าว ,   สิ่งที่น่าตกใจคือ วีดิทัศน์ สารภาพความจริงของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่ว่าใครๆ ในบริษัทก็ทำเป็นเรื่องปกติธรรมดา    การกวาดล้างและปรับตัวครั้งใหญ่ ทำให้บริษัท ซีเมนส์ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่งใน ๔ ปีต่อมา

          เรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ทำสิ่งที่ทุจริต และต่อต้านการทุจริตนี้ เป็นเรื่องที่ลึกอยู่ในมาตรฐานสังคม (social norm)    และการปลูกฝังความคิดความเชื่อตั้งแต่ยังเยาว์   คือ การอบรมทำตัวอย่างในครอบครัว    การเรียนรู้จากการปฏิบัติและ reflection ที่โรงเรียน   และตัวอย่างที่ดีในสังคม

          สมัยผมทำหน้าที่ผู้บริหารและดูแลงานก่อสร้างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๑ มีความย่อหย่อนในการควบคุม   และมีคนรับผลประโยชน์โดยมิชอบ อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย    เมื่อผมไปจัดการให้เป็น ไปตามระเบียบก็มีคนมาบอกว่า เขาทำกันอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร”    แต่ผมก็มีคำอธิบาย และยืนยันให้ดำเนินการตรงไปตรงมา    ข้ออ้างของผมคือ   มหาวิทยาลัยเป็นที่สร้างคนให้แก่ประเทศ    จึงต้องเป็นตัวอย่างด้านความซื่อสัตย์ภาคปฏิบัติ

          กลับมาที่หลักสูตรต่อต้านคอรัปชั่นสำหรับผู้บริหาร ของแนวร่วมปฏิบัติฯ    เป็นการทำความเข้าใจวิธีการเข้าเป็นแนวร่วม ของบริษัท    โดยองค์กรที่สมัครจะต้องกรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินตนเอง ในเรื่องนโยบายไม่(รับและ)จ่ายใต้โต๊ะ    แล้วให้ประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทลงนามรับรอง    เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยคณะกรรมการของ CAC (พิจารณาทุกๆ ๓ เดือน) ก็จะได้รับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ ซึ่งมีอายุ ๓ ปี    ก็ต้องสมัครและกรอกแบบสอบถามใหม่

          ถามว่า การเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ ได้อะไร    ผมตอบเองว่า ได้ร่วมกันจรรโลงความซื่อสัตย์สุจริตในบ้านเมือง    และได้ร่วมกันทำให้การประกอบธุรกิจเป็นการแข่งขันกันด้วยฝีมือและคุณภาพ    ไม่ใช่แข่งขันกันด้วยการจ่ายใต้โต๊ะ    จะมีผลให้ธุรกิจไทยเข้มแข็ง 

          นี่คือกระบวนการหนึ่ง ที่ภาคธุรกิจเอกชนไทย ลุกขึ้นมาทำดีเพื่อบ้านเมือง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 564611เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2014 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2014 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถ้าเราก้าวข้ามคุณทักษิณแล้วช่วยกันสอดส่องคอรัปชั่นของนักการเมืองอื่นๆ ด้วยจะดีมากทีเดียวครับ ผมสังเกตว่าองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอรัปชั่นของไทยจะเลือกปฎิบัติกับ "พวกเขา พวกเรา" จนเห็นได้ชัดมากขึ้นทุกวันครับ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การคอรัปชั่นในประเทศไทยทำได้โดยง่ายครับ

กราบเรียน ท่านนายก สภาฯ สำหรับชาวอุดมศึกษา น่าจะเริ่มที่ ต่อต้อน ผู้บริหาร ที่คอรัปชั่น รับเงินทอน จากโครงการต่างๆ รวมทั้งการที่ไม่มี ธรรมาภิบาล ด้วยครับ

ได้เรียนรู้ไปกับอาจารย์หมอด้วยเลยครับ

จำได้ว่า ระบบการคอรับชั่นในวงการศึกษาก็ไม่แพ้วงการอื่นนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอชื่นชมกับหลักสูตรฝึกอบรมนี้ซึ่งเน้นชักชวนองค์กรธุรกิจ มาเป็นแนวร่วมปฏิบัติ ในการประกอบธุรกิจแบบไม่ให้สินบน และไม่รับสินบนด้วยครับ แอบสงสัยอยู่นิดนึงว่า หลังจากที่ผ่านการอบรมแล้วได้มีการติดตามวัดผลเพื่อประเมินหรือไม่และอย่างไรครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท