กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากสภาคณาจารย์


 

          ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลักสูตร UGP รุ่นที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๒๗ ก.พ. ๕๗    เรื่องการทำหน้าที่ กรรมการสภาฯ ในบริบทความท้าทายใหม่    มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องหลักการที่ว่า     กรรมการสภาฯ ต้องคิดและตัดสินใจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และของสังคมส่วนรวม เป็นอันดับ ๑    ไม่ใช่เข้ามารักษาผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตนเป็นผู้แทนเพียงถ่ายเดียว

          ประเด็นคือ ประธานสภาคณาจารย์ เป็นตัวแทนอาจารย์เข้าไปนั่งในสภามหาวิทยาลัย     จึงมีบางคน คิดว่า ประธานสภาคณาจารย์ต้องนำเอามติของสภาคณาจารย์ ไปยืนยันให้สภามหาวิทยาลัย เห็นชอบหรือ คล้อยตาม    เมื่อมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ (โดยตรงหรือโดยอ้อม) ของอาจารย์  จะเข้าสู่การพิจารณา ของสภามหาวิทยาลัย    สภาคณาจารย์ก็จะนำมาลงมติกันก่อน แล้วประธานสภาคณาจารย์นำมตินั้นไปแจ้ง ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันให้สภามหาวิทยาลัยมีมติตามนั้น     หากสภามหาวิทยาลัยมีมติไปทางอื่น ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างสภาคณาจารย์กับสภามหาวิทยาลัย

          นี่คือสภาพในบางมหาวิทยาลัย ที่เป็นบรรยายกาศที่ไม่สร้างสรรค์    หรือเป็นบรรยากาศที่อบอวล ไปด้วยความขัดแย้ง     แทนที่จะอบอวลไปด้วยความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน     ในสภาพนี้ ผู้คนมุ่งเอาชนะ ให้ได้มติตามความคิดของตน หรือตามผลประโยชน์ของตน     ไม่ได้มุ่งมองที่เป้าหมายหลัก (mission) ขององค์กร ที่ได้ร่วมกันกำหนด (shared mission)     หรือสภามหาวิทยาลัยนั้น อาจไม่เคยจัดกระบวนการพัฒนาหรือกำหนด shared mission ร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ     คือไม่มียุทธศาสตร์สร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยเป้าหมายร่วม ค่านิยมร่วม    ที่เป็นแนวทางการจัดการสมัยใหม่

          ที่จริง ประเด็นประธานสภาคณาจารย์นำมติของสภาคณาจารย์ไปต่อสู้ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนั้น    เป็นพฤติกรรมของ reductionist    ที่ลดทอนความซับซ้อน (complexity) ของประเด็นเชิงนโยบาย     ให้กลายเป็น ประเด็นสองขั้ว ใช่ - ไม่ใช่,  ขาว - ดำ,  เอา - ไม่เอา     เรามักตกอยู่ใต้อิทธิพลของแนวคิดแบบ reductionist นี้โดยไม่รู้ตัว    แล้วเมื่อผสมกับทิฏฐิมานะวิญญาณเอาชนะ    ก็จะเกิดการต่อสู้แบบหัวชนฝา อ้างมติของสภา คณาจารย์ อย่างเดียว     ไม่รับฟังข้อมูล เหตุผล หรือความเห็นอื่นๆ ทั้งสิ้น

          ผมให้ความเห็นต่อผู้เข้าเรียนว่า     จะให้เป็นการประชุมสภาที่สร้างสรรค์    เมื่อประธานสภาคณาจารย์ นำมติของสภาคณาจารย์ ไปแจ้งในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ต้องแจ้งเหตุผลด้วย    และเมื่อสภามหาวิทยาลัย มีมติไม่ตรงกับมติของสภาคณาจารย์ ประธานสภาคณาจารย์ต้องไม่เพียงเอามติของสภามหาวิทยาลัยกลับไปแจ้ง ต่อสภาคณาจารย์ ต้องแจ้ง ข้อมูล และเหตุผล ที่สภามหาวิทยาลัยใช้ในการพิจารณาด้วย     เพื่อให้สภาคณาจารย์ได้เข้าใจมิติที่หลากหลายซับซ้อนของเรื่องนั้น     คือสังคมมหาวิทยาลัย ต้องอยู่กันด้วยข้อมูล และเหตุผล    และยึดโยงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ shared vision, shared purpose และ shared values

          มีผู้เล่าว่า ไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งมีท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นนายกสภา    ในการประชุมสภาฯ กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ เรียกร้องให้มีการลงคะแนนในทุกวาระ    ไม่ยอมให้ใช้วิธีการลงมติแบบแสดงข้อคิดเห็นจนมีมติเป็นฉันทามติ (consensus)    ท่านนายกสภาฯ อธิบายให้ฟังว่า สภามหาวิทยาลัยเราใช้การประชุมแบบฟังความเห็นซึ่งกันและกัน จนตกลงกันได้    ไม่ใช่เน้นการลงโหวดมติเอาชนะกัน    กรรมการสภาจากคณาจารย์ไม่ยอม    ท่านองคมนตรีจึงลาออก จากนายกสภาฯ

          สภาพที่ มทร. แห่งนั้น น่าจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจกัน    และกรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ต้องการผลักดันนโยบายหรือแนวทางของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายภาพใหญ่     ไม่ต้องการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย (ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้)

          แต่ในฐานะที่เป็นนายกสภาอยู่ ๑ มหาวิทยาลัย    หากผมเผชิญสภาพนั้น ผมจะให้จัดการประชุมแบบ retreat เพื่อทำความเข้าใจหลักการ และวิธีการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์    ให้เห็นว่า เรากำลังทำงานในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน (complexity) สูง    ต้องมีวิธีทำงานที่คำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลาย เหล่านั้นให้ครบถ้วน    ต้องช่วยกันทำความเข้าใจและนำออกมาหารือกันในที่ประชุม ให้เกิดความรอบคอบ

          ในส่วนของผลประโยชน์ของอาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยนั้น     สภามหาวิทยาลัยต้องดูแล ให้ได้รับการตอบแทน และมีสภาพการทำงานที่ดี มีความก้าวหน้าในชีวิต     แต่ในขณะเดียวกัน สภามหาวิทยาลัย ก็ต้องกำกับดูแลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยในภาพรวม    ให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์แก่สังคม อย่างแท้จริง ด้วย

          ผมมีข้อสังเกตว่า     ในบางสถานการณ์ คณาจารย์มองว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นพวกผู้บริหาร    กรรมการสภาจากคณาจารย์ต้องเข้าไปทำหน้าที่คานอำนาจ    วิธีคิดเช่นนี้ ไม่เป็นคุณ ต่อมหาวิทยาลัย    เพราะเป็นการมองแคบ และใกล้    กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องเข้าไปกำกับดูแลให้ มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ได้ดี มีแนวทางพัฒนาก้าวหน้าในระยะยาว     ไม่ใช่แค่เข้าไปเอาชนะกันในที่ประชุม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.พ. ๕๗

บนเครื่องบิน  นกมินิ ไปจังหวัดเลย

 

หมายเลขบันทึก: 564610เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2014 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2014 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาวิทยาลัยบ้านเรา

มีแบบนี้มากเลยครับ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งมีท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นนายกสภา ในการประชุมสภาฯ กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ เรียกร้องให้มีการลงคะแนนในทุกวาระ ไม่ยอมให้ใช้วิธีการลงมติแบบแสดงข้อคิดเห็นจนมีมติเป็นฉันทามติ (consensus) ท่านนายกสภาฯ อธิบายให้ฟังว่า สภามหาวิทยาลัยเราใช้การประชุมแบบฟังความเห็นซึ่งกันและกัน จนตกลงกันได้ ไม่ใช่เน้นการลงโหวดมติเอาชนะกัน กรรมการสภาจากคณาจารย์ไม่ยอม ท่านองคมนตรีจึงลาออก จากนายกสภาฯ

"สภามหาวิทยาลัยเราใช้การประชุมแบบฟังความเห็นซึ่งกันและกัน จนตกลงกันได้" ก้อเพราะคำว่า

ฟังความเห็นซึ่งกันและกัน จากพวกเดียวกัน โดยไม่หาข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน หรือให้ผู้ถูุกกล่าวหา ได้รับทราบข้อมูลและโต้แย้งแสดงหลักฐาน จึงนำไปสู่ฉันทามติที่ผิดพลาด และทำร้ายชีวิตผู้อื่นจนมิอาจอภัยได้ คำสอนของพระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าเชื่อตามคำสอน ต้องใช้วิจารณญาณ ปฎิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง ดังนั้น การเชื่อเพียงเพียงคำบอกเล่า เชื่อเพียงเห็นว่าแก่การมียศตำแหน่ง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท