ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๒๕. ตัดราก


 

          ผมเฝ้ามองหาความหมายของความขัดแย้งทางการเมือง     ในช่วงเวลากว่า ๓ เดือนที่ผ่านมา     หรือที่จริงยาวกว่านั้น    นำข้อมูลจากการสังเกต เอามาไตร่ตรอง     ได้ความรู้ เข้าใจมายามากมายหลากหลายด้าน    วันนี้ขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

          ข้อมูลที่น่าสนใจชุดหนึ่งคือ การออกมาแถลงหรือให้ข่าวของกระบอกเสียงของแต่ละสี แต่ละฝ่าย    ฟังทีไรผมนึกถึงคำ “partial fact”    ซึ่งหมายถึงความจริงเพียงบางส่วน    ซึ่งเป็นวาทกรรมเพื่อการจูงใจ หรือเพื่อเอาชนะ    เป็นการต่อสู้ด้วยถ้อยคำหรือวาทกรรม

          การศึกษาไทยต้องฝึกนักเรียน/นักศึกษา ให้ “รู้เท่าทัน” วาทกรรมกึ่งจริงกึ่งหลอกเหล่านี้     นี่คือการฝึกทักษะ critical thinking (คิดอย่างมีวิจารณญาณ)     และทักษะการเสพสื่อ แบบรู้เท่าทัน (media literacy)     ซึ่งยิ่งนับวัน สื่อก็จะเชื่อยากขึ้นเรื่อยๆ     ดังจะเห็นว่า คนมีเงินมีอำนาจจะพยายามยึดสื่อ ด้วยวิธีการที่ซ่อนเร้น    เพื่อให้สื่อแพร่ข่าวที่เอียงข้างตน

          สมัยทำเรื่องพัฒนาคุณภาพ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน    ผมเรียนรู้เรื่อง Root Cause Analysis    คือจะพัฒนา คุณภาพเรื่องใด ต้องหาปัจจัยเสริม กับปัจจัยขัดขวาง    แล้วศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ สาเหตุของปัจจัยเหล่านั้น ให้ถึงแก่น หรือถึงรากเหง้า     เพื่อจะได้เข้าไปเสริมปัจจัยบวก    และแก้ไขปัจจัยลบ    แนวความคิดเรื่อง root cause นี้ วงการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้ง สรพ. ยังใช้เป็นเครื่องมือหลักอยู่จนถึงปัจจุบัน

          ในทำนองเดียวกันนี้ ผมเรียนจาก ศ. สุธิวงศ์​ พงษ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้านสังคมศาสตร์    ว่าในการวิจัยสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     ต้องใช้เครื่องมือ “สืบย่าน สาวโยด”    คือสืบหาความสัมพันธ์หรือ ความเชื่อมโยง ของคนหรือเหตุปัจจัยต่างๆ    ก็จะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมได้ลึก และครบถ้วนขึ้น

          ท่านพุทธทาสสอนเรื่อง อิทัปปัจยตา     ที่แสดงว่าผลเกิดแต่เหตุ และเหตุก็เป็นผลของเหตุตัวที่สอง    วนเป็นวัฏฏจักรเช่นนี้    จนบางเรื่องวนกลับมาที่เดิม

          ทั้งหมดนั้นเป็นการทำความเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง    ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคม    ยิ่งเรื่องทางการเมืองยิ่งซับซ้อน

          เครื่องมือเอาชนะกันทางสื่อมวลชนอย่างหนึ่งใช้วิธี “ตัดราก”    แทนที่จะสาวราก    ตัดเอามาเฉพาะ ส่วนที่ต้องการ สำหรับสื่อสารเพื่อความได้เปรียบของตน    เราจะเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ทั่วไปหมด ในสื่อมวลชนไทย     และในการให้ข่าวของแกนนำแต่ละสี

          แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด ของการเอาชนะกันด้วยข่าว    ยังมีวิธี “กุช่าว” และ “ป้ายสี”    ตอนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปี ๒๕๕๓     ผมฟังข่าวที่แกนนำผู้ชุมนุมพูดกับชาวบ้านที่จ้างมาชุมนุมแล้ว ก็บอกกับตัวเองว่า เป็นการบอกข้อมูลเท็จ หรือกุข่าว     คนบางคนพูดความเท็จได้อย่างน่าเชื่อถือ ไม่กระดากปากเลย

          เรื่องรัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดไม่มีเงินจ่ายค่ารับจำนำข้าวมาเป็นเวลา ๕ เดือนแล้ว    แกนนำของรัฐบาลก็ไปบอกประชาชนว่า ที่ไม่มีเงินจ่ายเพราะ กปปส. เป็นต้นเหตุ    นี่คือกลยุทธป้ายสี    โยนความผิดให้คนอื่น

          การศึกษาต้องฝึกฝนกล่อมเกลาคน ให้มีคุณธรรม     การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยตระหนักถึง “ความจริงทั้งหมด”  ไม่ใช่ยกมาเฉพาะส่วน ที่เป็น “ความจริงตัดราก”    เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง     สร้างความน่าเชื่อถือของบุคคล     ที่ใครก็ตามมีความน่าเชื่อถือเช่นนี้ ในวัตรปฏิบัติ     ถือได้ว่า เป็นคนมีบารมี

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564553เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2014 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2014 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรณีศึกษา ครับ ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถวภาคตะวันออก มีคณะหนึ่ง ไม่จ่ายเงินเดือนอาจารย์ อาวุโส ถึง ๔ ท่าน มาถึง ๙ เดือน เอ เหมือนกัยใหมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท