ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๒๓. จัดการอัตตา


 

          บ่ายวันที่ ๑๗ ก.พ. ๕๗ มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ     กรรมการท่านหนึ่งกล่าวติดตลกว่า ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการบริหารอัตตา     ซึ่งหมายถึงอัตตาของคนดี   คนมีธรรมะ     แต่ยึดมั่นถือมั่นอาจารย์คนละสำนัก

          หมายความว่า หอจดหมายเหตุพุทธทาสทำงานเผยแผ่ธรรมะ โดยไม่ยึดติดนิกาย ไม่ยึดติดอาจารย์    และถึงกับไม่ยึดศาสนา คือร่วมมือกับศานาอื่นก็ได้ ในการชักชวนให้คนมีธรรมะ   

          ตอนนี้ต้องเอ่ยเรื่องไม่ยึดติดกันหน่อย เพราะเพิ่งมีประกาศเปลี่ยนสีจีวรออกมาพอดี

          ผมกล่าวต่อที่ประชุมว่า     หลังจากคณะกรรมการมูลนิธิมอบนโยบายให้ดำเนินการพัฒนาระบบการ จัดการ ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ให้ใช้การจัดการสมัยใหม่     และมีอาสาสมัครหลายท่านเข้ามาช่วยกัน พัฒนาระบบ     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณอนุวัฒน์ จงยินดี จาก SCG    ทำให้ระบบการจัดการของหอจดหมายเหตุ พุทธทาสฯ พัฒนาขึ้นมาก   

          เรามีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะแก่สังคม และแก่ เพื่อนมนุษย์     ให้มีความยั่งยืนถาวร    จึงต้องมีระบบจัดการ ระบบตรวจสอบ และระบบกำกับดูแล ที่เข้มแข็ง     การทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ งานอาสาสมัคร ก็ต้องมีระบบที่ดี ที่เข้มแข็ง     กิจการจึงจะมั่นคงยั่งยืน

          ผมไปถึงหอจดหมายเหตุฯ ก่อนเวลาประชุมครึ่งชั่วโมง     ที่ลานชั้นล่างของอาคารมีลมโชยตลอดเวลา เป็นสถานที่สัปปายะอย่างยิ่ง     คุณนิคม เจตน์เจริญรักษ์ หนึ่งในห้าไวยาวัจกรของสวนโมกข์ และเป็นรอง ประธานกรรมการบริหารหอจดหมายเหตุฯ ด้วย กำลังนั่งคุยกันกับอาจารย์โพธิพันธุ์ พานิช กรรมการอีกท่านหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการที่สวนโมกข์    ผมเข้าร่วมคุยด้วย     อีกสักครู่ คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ก็มาร่วมสนทนาอีกท่านหนึ่ง

          ท่านเหล่านี้รู้ความเคลื่อนไหว ตื้นลึกหนาบางเรื่องเกี่ยวกับสวนโมกช์ในแง่มุมต่างๆ ในขณะนี้ดีมาก     ผมจึงมีโอกาสเรียนรู้ และสรุปกับตนเองว่า     ปัญหาที่สวนโมกข์เกิดจากขาดระบบการจัดการสมัยใหม่     และ ระบบการจัดการคณะสงฆ์และวัดในพระพุทธศาสนาของประเทศไทย เป็นระบบที่รวมศูนย์เกินไป     สวนโมกข์ที่ สามารถดำรงอยู่ที่ชายขอบของระบบรวมศูนย์ได้ด้วยบารมี และปรีชา ของท่านพุทธทาส     และยังต่อมาในสมัย ท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ) ๒๐ ปี    บัดนี้ ดูจะทานอำนาจรวมศูนย์ได้ยาก     และมีผู้ใหญ่หลายท่าน บอกผมว่า เมื่อเข้าไปในสวนโมกข์ (ที่ไชยา)    รู้สึกว่าสวนโมกข์เปลี่ยนไป

          ท่านที่นั่งคุยหารือกันบอกผมว่า ท่านพระอาจารย์สุชาติ เจ้าอาวาสสวนโมกข์องค์ปัจจุบันถามถึงผม    ท่านเหล่านี้บอกให้ผมลงไปที่สวนโมกข์สักครั้ง     ผมถามว่า จะให้ผมไปทำอะไร     เพราะผมเป็นคนที่คล้ายๆ คนนอก คนไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของกิจการของสวนโมกข์     แถมยังเป็นคนห่างวัดเสียอีกด้วย

          ท่านเหล่านั้นบอกว่า ไปในฐานะคนที่ได้รับความเชื่อถือ     ทำให้ผมงงมาก    ว่าเชื่อถือในฐานะอะไร   

          กลับมาไตร่ตรองที่บ้าน ว่าที่ผ่านมา ผมโชคดีมากที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานที่มีคุณค่าสูง     และ ทำให้ผมได้เรียนรู้สูงด้วย    จำนวนมากมายหลายเรื่อง    ทั้งๆ ที่ผมไม่น่าจะทำงานเหล่านั้นได้    ในที่สุดผมก็ค้นพบ วิธีทำงานแบบที่ผมเรียกว่า Value-Based Work    คือมุ่งทำงานเพื่อค้นหาคุณค่า     ไม่ใช่ทำงานเพื่อชื่อเสียงหรือ     ผลงานของตน    ส่วนนั้นยกให้คนอื่นหรือน้องๆ    เพราะเขายังอยู่ในวัยที่ต้องการผลงาน และยังต้องการชื่อเสียง เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว    หรือเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น

          คนแก่ขนาดผม ได้มีงานที่มีคุณค่าสูงทำ ก็พอใจแล้ว     มีความสุขความพอใจอยู่ที่คุณค่าของงาน     และผมยิ่งสนุกตรงที่เรื่องคุณค่านี้มันมีความซับซ้อน และมองได้หลายแง่หลายมุม    ผมจึงได้โอกาสทำความเข้าใจ หรือขุดคุ้ยหาคุณค่าในงานเหล่านั้น    แล้วนำออกมาสื่อสาร ให้กำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง     เป็นการทำงานเติมพลัง ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง     ซึ่งแปลกมาก ที่ไม่ค่อยมีคนทำ  หรืออาจทำไม่เป็น

          ที่จริงผมก็ทำไม่เป็น    แต่เมื่อค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ     ผมรู้สึกว่า ผมมองเห็นคุณค่าของงาน เพื่อประโยชน์ของสังคม และงานสร้างสรรค์ ในมิติต่างๆ ชัดขึ้น     โดยผมเข้าใจว่า หากเราแยกตัวเราออกจาก ผลประโยชน์ในกิจการงานนั้น    เราจะมองเห็นกิจการนั้นในมิติที่ลึกและหลากหลายขึ้น     และเข้าใจคุณค่า ในมิติที่หลากหลายและลึกขึ้นด้วย    ไม่ทราบว่า ผมเข้าข้างตัวเอง หรือยกหางตัวเองหรือเปล่า

          โดยกระบวนการนี้ ผมเข้าใจว่า ผมจัดการอัตตาของตนเองได้ดีขึ้น    ไม่ทราบว่าความเชื่อถือที่ผมได้รับ มาจากปัจจัยนี้หรือเปล่า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564273เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2014 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2014 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ ท่านอ.วิจารณ์

วิธีทำงานแบบที่ผมเรียกว่า Value-Based Work คือมุ่งทำงานเพื่อค้นหาคุณค่า

หลายองค์กร หลายสถาบันการศึกษา มักจะมีคำขวัญ,คติพจน์,ปรัชญา,ค่านิยม,core value หรือเรียกชื่ออย่างอื่นก็มี

ตัวอย่าง คุณธรรม นำการศึกษา, คุณธรรมเด่น เน้นทักษะ ศิลปะเลิศ ฯ ซึ่งมักจะบอกไว้กำกับองค์กร แต่ถ้าไม่ได้ลึกซึ้งกับคุณค่า จริงจังที่นำสู่ปฏิบัติ จึงเป็นเพียงคำกล่าวให้ไพเราะ ดูดีเท่านั้น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท