การฟื้นฟูเกษตรกรประสบภัยหลังน้ำลดต้องทำงานแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน


case study RRA อาสาสมัครเกษตร กลุ่ม/องค์กรชุมชน กองทุนอาหาร ส่งเสริมอาชีพระยะสั้น เครือข่ายกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เครือข่ายเยาวชนเกษตร เครือข่ายตลาด สภาแม่บ้านเกษตรกร ระบบการช่วยเหลือ

       ระยะนี้ปัญหาน้ำท่วมกำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนของนักส่งเสริมการเกษตรที่ต้องเป็นหลักสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ในฐานะของนักส่งเสริมการเกษตรจึงอยากจะเสนอแนวคิดให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าควรมีขั้นตอนในการฟื้นฟูด้านการเกษตรหลังน้ำลดอย่างไร ความจริงแล้วเคยเสนอความคิดนี้แล้วในที่ประชุม แต่ก็ถูกเมินไปด้วยเหตุผลว่าเป็นงานประจำไม่มีอะไรแปลกใหม่ ซึ่งก็งงอยู่เหมือนกันว่าการคิดจะช่วยใครนั้นจำกัดด้วยหรือว่าต้องคิดแต่โครงการmegaproject

       การนำเสนอต่อไปนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดที่มาจากรศ.บำเพ็ญ  เขียวหวาน  จึงต้องให้เครดิตอาจารย์บ้าง   ข้อเสนอดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการบูรณาการความรู้ดิน น้ำ พืช  การจัดการองค์กรชุมชน เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลและกระบวนการทำงานกับเกษตรกรแบบเร่งด่วน ผสมผสานกับการสนับสนุนงบประมานและปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ถึงมือเกษตรกรเป้าหมาย ถูกคน ทันเวลาและเกิดประโยชน์ในภาพกว้าง ถ้าเรียงตามขั้นตอนการปฏิบัติได้ดังนี้

   1.ศึกษา case study  ที่เคยประสบปัญหาและสามารถแก้ไข ปรับปรุงฟื้นตัวได้ในเวลาต่อมา เช่น บ้านคีรีวงศ์   หรือข้อมูลจากหน่วยงานเช่น พอช. ขั้นตอนนี้ควรศึกษาและหาข้อสรุปเพื่อวางแผนให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนน้ำลดหรือเร็วกว่านั้น

    2.วิเคราะห์และประเมินสภาพความเสียหายแบบเร่งด่วน โดยใช้เทคนิค RRA [Rapid Rural Aprisal] เพื่อจำแนกพื้นที่และบุคคลเป้าหมายในแต่ละชุมชนหรือตำบลที่จะเข้าไปฟื้นฟูอย่างชัดเจน ซึ่งขั้นตอนนี้ควรใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ และดำเนินการวิเคราห์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามสถานการณ์ตลอดทุกระยะ  เช่น

        - พื้นที่ ทำเป็นแผนที่ ระบุจุดที่เสียหายแน่นอนในระดับความเสียหายต่างๆ อาจแยกเป็น ที่นา นาลุ่ม นาดอน   ที่ไร่  ที่สวน  ว่าแต่ละจุดควรจัดการดินหลังน้ำท่วมอย่างไร(การระบายน้ำ  การปรับพื้นที่ ปรับโครงสร้างดิน ฯลฯ)

        - พืช จัดการระบบปลูกพืชที่สอดคล้องกับสถานการณ์และผลการจำแนกพื้นที่ เช่น ที่นาอาจส่งเสริมให้ทำนาปรังทดแทนนาที่เสียหาย   นาดอนหรือที่ดอนใกล้บ้านควรทำเป็นสวนผักหรือบ่อปลาเพื่อยังชีพและแปรรูปเป็นอาหารสะสมในกองทุนอาหารหมู่บ้าน(มีคำอธิบายในข้อต่อๆไป)  จัดการอย่างไรกับไม้ยืนต้นที่อยู่รอด 

        -เกษตรกร   -รายบุคคล มีใครบ้าง อยู่ที่ไหน ต้องการความช่วยเหลืออะไร ซึ่งอาจมีอยู่แล้วจากรายงานการสำรวจความเสียหายของจังหวัด

                           -กลุ่ม/องค์กร กลุ่มไหนยังเข้มแข็งอยู่พอจะเป็นพี่เลี้ยงได้ กลุ่มไหนเสียหายระดับไหนและต้องการความช่วยเหลืออย่างไร

        -ความรู้ที่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้ในสถานการณ์หลังน้ำลด เตรียมการได้ตั้งแต่ก่อนน้ำลด ควรเป็นความรู้แบบสั้นๆ จำง่ายๆ อาจทำเป็นประกาศสั้นๆทางสื่อบุคคล หอกระจายข่าว หรือ วิทยุชุมชน(ถ้ายังไม่เสียหายจากน้ำท่วม)หรือทางสื่อมวลชนต่างๆ  ความรู้ดังกล่าว เช่น ความรู้ในการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด   ความรู้เรื่องการปรับโครงสร้างดินที่ถูกน้ำท่วม ความรู้เรื่องการถนอมอาหาร ความรู้เรื่องอาหารและสุขภาพในช่วงหลังน้ำท่วม เรื่องการติดต่อหน่วยราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ในการขอความช่วยเหลือ เอกสารสูญหาย พักหนี้ ฯลฯ

           3 สรรหาแกนนำเท่าที่จะหาได้และดำเนินการประชาสัมพันธ์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารที่จำเป็นเพื่อช่วยการฟื้นฟุ แกนนำดังกล่าวได้แก่ อาสาสมัครเกษตร  หรือกลุ่มที่มีอยู่แล้วและยังรวมกลุ่มกันติดยังเข้มแข็งอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ(ควรเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อย เป็นกลุ่มเดิมกลุ่มไหนก็ได้ที่ยังworkอยู่) ไม่ควรเรียกประชุมกลุ่มใหม่เพราะไม่มีใครอยากประชุม ขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์ ส่วนการประชาสัมพันธ์ควรดำเนินการต่อเนื่อง

            4.ในระยะสั้น สนับสนุนกองทุนอาหารโดย เน้นการขอรับบริจาค แบ่งปัน และสะสมอาหารเพื่อการบริโภคของผู้ยากไร้ที่ประสบภัย โดยรัฐสนับสนุนอาหาร เมล็ดพันธุ์พืชอายุสั้นหรือปลา  กองทุนอาหารนี้อาจให้จัดการโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหรือกลุ่มใดก็ได้ที่ยังเข้มแข็งอยู่  ขั้นตอนนี้ควรให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน

             5. ส่งเสริมอาชีพระยะสั้น   ได้แก่ การแปรรูป หัตถกรรม ปลูกพืชไร่พืชผักอายุสั้น การจ้างแรงงานในท้องถิ่นฯลฯ เพื่อให้เกิดรายได้รายวัน รายสัปดาห์ ขั้นตอนนี้ควรให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1-3 เดือน

             6.สร้างเครือข่ายตลาดแบบแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากเครือข่ายกลุ่ม/องค์กรที่เคยร่วมงานกับกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น สภากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ สินค้าเกษตรหรือ ผลิตภัณฑ์หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่รอดจากน้ำท่วมเช่นเครื่องจักสาน โดยเป็นการค้าขายในลักษณะการสนับสนุนช่วยเหลือ  ขั้นตอนนี้ควรให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 2-5 เดือน

             7. ในระยะปานกลาง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างกระบวนการเรียนรู้การร่วมกันฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยและอาชีพการเกษตรของคนในตำบล โดยเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในการร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูและดำเนินการตามแผนโดยจัดลำดับความเร่งด่วน จัดระบบการช่วยเหลือ แบ่งบทบาทหน้าที่ ประสานขอรับการสนับสนุนจากบุคคล กลุ่ม/องค์กร หน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ขั้นตอนนี้ควรให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน4-6 เดือน

              8.ในระยะยาว สรุปบทเรียนจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและจัดกระบวนการเรียนรู้ในการจัดทำหรือปรับปรุงแผนแม่บทชุมชนด้านการเกษตรโดยผนวกแผนการป้องกัน เตือนภัยหรือรับมือกับภัยธรรมชาติหรือภัยอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่น การปรับระบบการผลิตทางการเกษตรเน้นการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การปรับปรุงระบบนิเวศน์เกษตร   การแปรรูปผลผลิต    สร้างเครือข่ายการเตือนภัย พัฒนาเครือข่ายตลาด ฯลฯ

               9.ระดมทุนทั้งทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ทรัพยากรที่มีและประสานแหล่งทุนจากองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง 

     แล้วอย่าลืมการให้ขวัญ กำลังใจแก่ผู้มีส่วนเกียวข้องในทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมการช่วยเหลือ ทั้งอาสาสมัครเกษตร กลุ่มแม่บ้านฯ เจ้าหน้าที่ เครือข่ายต่างๆฯลฯ  บางครั้งเพียงแค่คำขอบใจ การสนับสนุนหรือการประกาศเกียรติคุณก็เพียงพอแล้วสำหรับคนที่ตั้งใจทำงาน

 

                                                                                                                           

              

  

คำสำคัญ (Tags): #ฟื้นฟูเกษตรกร
หมายเลขบันทึก: 56415เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ระบบน่ะมีแล้ว ดีด้วย เราถอยห่างไปทุกที หรือเรียกว่าหนีระบบ ไม่รู้เพราะอะไร ท้ายสุดก็มีคนเดือดร้อนเพราะหนีระบบ ผู้รับผิดฃอบระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล บอกได้ใหมว่าพื้นที่ที่รับผิดชอบปลูกอะไรบ้าง อยู่ที่ใหน จำนวนเท่าไร อายุกี่ปี เวลาคิดค่าเสียหายเหมือนเหมาจ่าย คิดว่าเป็นธรรมกับใคร คงต้องเริ่มที่ก้าว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท