ร่วมเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวันอนุรักษ์มรดกไทย


งานวันอนุรักษ์มรดกไทยต้องไปเมืองบางขลัง สุโขทัย

         ประเทศไทยมีวันสำคัญหลายวัน ทั้งวันที่ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันมาฆบูชา วันปิยมหาราช ฯลฯ และวันสำคัญที่ไม่ใช่เป็นวันหยุดราชการ เช่น วันเด็ก วันครู วันแรงงาน วันลอยกระทง เป็นต้น แต่ละวันล้วนมีความสำคัญ ทุกภาคส่วนต่างจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของวันนั้นๆ วันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ และมีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

กำเนิดวันอนุรักษ์มรดกไทย

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา ทรงเป็นแบบอย่าง ในการบำเพ็ญพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่างๆ คือ ด้านพุทธศาสนา, ภาษาไทยและวรรณกรรม, ประวัติศาสตร์และโบราณคดี, งานช่าง, สถาปัตยกรรม, ดนตรีไทย (http://th.wikipedia.org/)                     

วันอนุรักษ์มรดกไทยกับเมืองบางขลัง

          ชาว “เมืองบางขลัง” พร้อมเครือข่าย ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า เสวนา เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้พบข้อเท็จจริงว่า “เมืองบางขลัง” นั้นมีความสำคัญ เกิดร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าศรีสัชนาลัย ตลอดจนมีสัมพันธ์กับความเป็นมาแห่งชาติไทย โดยมีหลักฐานปรากฏชัดเจนในศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม, ศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม, พงศาวดารโยนก,หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์, พระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          จากหลักฐานต่างๆ สรุปได้ว่า เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพง ได้ทำการยึดเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองร่วมมือกันที่จะยึดเมืองคืน โดยพ่อขุนบางกลางหาวไปเมืองบางยางเพื่อรวบรวมกำลังพลแล้วเข้าตียึดเมืองศรีสัชนาลัย และทั้งสองพ่อขุนได้มารวมพลกันที่เมืองบางขลัง เกณฑ์นักรบเมืองบางขลังเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยสืบมา อีกทั้งยังมีหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ ยืนยันให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้ว

          ประกอบกับ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับรอบพระบาท ศึกษาร่อยรอยอารยะธรรมโบราณเมืองบางขลัง พร้อมรับสั่ง นายกฯ สุวิทย์ ทองสงค์ “....ให้ดูแลเด็ก เยาวชน และชาวบ้าน ให้เขาเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้มีความตระหนัก รัก หวงแหนในโบราณสถานที่มี โบราณสถานแห่งนี้ควรได้รับการบูรณะ อนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ...”

          ด้วยรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประกอบกับความสำคัญของ “เมืองบางขลัง” ชาวเมืองบางขลัง และเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตลอดจนการปลุกจิตสำนึกรัก หวงแหน เห็นคุณค่า ร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ

          ปัจจุบัน เทศบาลตำบลเมืองบางขลังได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ๒ พ่อขุนขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

งานวันอนุรักษ์มรดกไทย ครั้งที่ ๗ (๒ เมษายน ๒๕๕๗)

          นายกฯ สุวิทย์ ทองสงค์ ร่วมกับจักริน เปลี่ยนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สมศักดิ์ จันทรสมบัติ นายอำเภอสวรรคโลก สมศักดิ์ ลิขสิทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย จัดทำหนังสือ ที่นี่...เมืองบางขลัง ๕ : พลังแห่งเครือข่าย และแผ่นพับเผยแพร่ จัดบวชพระสามัคคีเทิดเพื่อพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดกิจกรรมย้อนยุคและการละเล่นโบราณ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมและสืบทอด (งบพัฒนาจังหวัดสุโขทัย)  

        ๒ เม.ย.     ๐๙.๐๐ น. พิธีบวชพระสามัคคีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ        

         ๑๘.๐๐ น. ตลาดโบราณย้อนยุค สินค้าหายากมากมาย เช่น ข้าวเปิ๊บบ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย

         ๑๙.๓๐ น. ถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประธานมอบใบประกาศเกียรติคุณฯ, การขับเสภาโดยเด็กนักเรียน ซึ่งประพันธ์โดย โชคชัย บัณฑิต กวีซีไรต์ ปี ๒๕๔๔, การแสดงต่างๆ

          “ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง” แต่เดิมจังหวัดสุโขทัยมีระบำโบราณคดี ๒ ชุด ได้แก่ ระบำสุโขทัย และระบำเทวีศรีสัชนาลัย ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง เกิดขึ้นภายใต้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์   ประดิษฐ์ท่ารำโดย อ.มงคล อินมา ทำนองโดย อ.บัณฑิต ศรีบัว วิทยาลัยนาฎศิลป์สุโขทัย ลักษณะท่ารำจินตนาการมาจากเหล่านางฟ้าทั้ง ๗ วัน ที่มาคอยปกปักรักษาโบราณสถานเอาไว้จนกว่าจะมีผู้มีบุญมาพบ

        “สะล้อ ซอ ซึง” จากชุมชนโบราณบ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอยวงสะล้อ ซอ ซึง หมายถึง วงดนตรี ที่นำเอาเครื่องดนตรี ประเภทเครื่องสายของภาคเหนือ คือ ซึงสะล้อ และเครื่องประกอบจังหวะมาบรรเลงรวมกันเป็นวง มีอยู่เฉพาะในภาคเหนือตอนบนเท่านั้นถือว่าเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของท้องถิ่นล้านนา ชาวบ้านวังหาดดังเดิมส่วนใหญ่จะอพยพมาจากจังหวัดลำปาง เมื่ออพยพย้ายถิ่นฐานมาก็ได้รักษาประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง โดยมีสิงห์ วุฒิชมพู (เล่นซึง) ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลตลิ่งชันเป็นแกนนำ

          “กลองสะบัดชัย” จากโรงเรียนบ้านธารชะอม อ.ทุ่งเสลี่ยม กลองสะบัดชัย เป็นศิลปะการตีกลองของชาวล้านนา ในสมัยโบราณจะตีกลองสะบัดชัยเพื่อประกาศความเกรียงไกรของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับชัยชนะจากข้าศึก หรือเมื่อมีการประลองฝีมือของขุนศึกและทหาร เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมในการต่อสู้ และใช้ในขบวนแห่พิธีทางศาสนา เช่น งานปอยหลวงของชาวล้านนา ปัจจุบันโรงเรียนบ้านธารชะอม ภายใต้การนำของ ผอ.สรายุทธ เกษรพรหม ได้ให้ความสนใจที่จะสืบทอดการตีกลองสะบัดชัย โดยบรรจุอยู่ในหลักสูตรสถานศึกษาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น มีการเชิญวิทยากรจากภายนอกในท้องถิ่นมาให้ความรู้ (http://thanchaom.org/)

           “อังกะลุง” จากโรงเรียนบ้านสามหลัง อ.ทุ่งเสลี่ยม (เหรียญทอง งานศิลปะหัตกรรมนักเรียนภาคเหนือ ครั้งที่ ๖๓) โดย ผอ.จำรูญ พรมชัย “อังกะลุง” อังกะลุงมีต้นกำเนิดจากประเทศชวา เรียกว่า “อุงคะลุง” เข้ามาในประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดย สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดช เสด็จประพาสยังประเทศชวา พร้อมด้วยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แล้วทรงนำดนตรีชนิดนี้ฝึกสอนมหาดเล็กของพระองค์ในวังบูรพา ต่อมาได้แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “อังกะลุง” (http://www.talkingmachine.org)

           “ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว” จากวิทยาลัยพละศึกษาสุโขทัยโดย เขมชาติ ตันสุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันพลศึกษา“ศิลปะป้องกันตัว” เป็น ศาสตร์แขนงหนึ่งที่เน้นการเรียนและฝึกฝนด้านการต่อสู้และการป้องกันตัว ในปัจจุบันได้มีการศึกษากันอย่างแพร่หลาย ทั้งในเชิงด้านการกีฬา เพื่อฝึกฝนร่างกายให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หรือแม้กระทั่งฝึกฝนจิตใจ (http://th.wikipedia.org)

        เม.ย.   ๐๘.๐๐ น.   พิธีอุปสมบท ชมลิเกดัง    

          ขอเชิญร่วมสร้างประวัติศาสตร์งานวันอนุรักษ์มรดกไทย ณ โบราณสถานวัดโบสถ์ ต.เมืองบางขลัง   อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทำหนังสั้น (๔๕ นาที) ในวันดังกล่าว โดย อ.สยาม เจริญอินทร์พรหม หัวหน้าสาขาภาพยนตร์และศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีพร้อมคณะ (งบสถาบันพระปกเกล้า) ซึ่งเมืองบางขลังเป็น ๑ ใน ๔ แห่ง (อบจ.แม่ฮ่องสอน, เทศบาลนครยะลา, เทศบาลตำบลเกาะคา) สำหรับเผยแพร่ในกิจกรรมต่างๆ เช่น วันท้องถิ่นไทย, กิจกรรมของสถาบันพระปกเกล้า, กิจกรรมของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น.

 

หมายเลขบันทึก: 564045เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2014 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท