รื้อ พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ถึงเวลาเปิดตาเปิดใจ


กุหลาบแก้วกับการเป็นนอมินี

การขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นดีลร้อนฉ่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองและเปิดปมสาวไส้ "กุหลาบแก้ว" ว่าเป็นนอมินีต่างชาติกันอุตลุด จนเกิดการลงทุนชะงักงัน เพราะไม่มี "ใคร" กล้าออกมาให้ความกระจ่าง ว่าเรื่องนี้จะมีนโยบายอย่างไร

ปม "กุหลาบแก้ว" ทำนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยก่อนหน้านี้และใช้รูปแบบคล้ายๆ กับกุหลาบแก้วผวาไปตามๆ กัน

ทั้งๆ ที่นโยบายของรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยต่างเปิดอ้าซ่ารับทุนต่างชาติมาโดยตลอด แต่มีกฎหมายบล็อกอยู่โดยไม่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่าทุนต่างชาติเต็มบ้านเต็มเมืองไทย และเราควรจะรับมือกับโลกโลกาภิวัตน์อย่างไร

แรงกดดันให้ตรวจสอบ "นอมินี" ของผู้ถือหุ้นใหม่ชินคอร์ป ใช้เวลาค่อนข้างนาน ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความเป็นนอมินี โดยมีนางสาวอรจิต สิงคาลวนิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธาน

เรื่องนี้เป็นปมที่ต้องจับตา แต่ปรากฏว่าการตรวจสอบขณะนั้นกลับไม่กระเตื้องเลย แม้จะผ่านมาหลายเดือนทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ออกมาให้ข่าวถึงความคืบหน้าเพียงว่า อยู่ระหว่างการเรียกเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเชิญผู้บริหารบริษัทมาให้ข้อเท็จจริง พร้อมระบุว่าจะสรุปผลการตรวจสอบสิ้นเดือนกรกฎาคม

แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวกลับมีการยืดกำหนดสรุปผลการตรวจออกไปอีก 2 สัปดาห์ หรือถึงกลางเดือนสิงหาคม โดยให้เหตุผลว่า ทางคณะตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจยังจัดทำรายละเอียดทางด้านกฎหมายไม่เสร็จ โดยอยู่ขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล ก่อนที่จะเสนอให้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับทราบ แต่ในขณะนั้นก็มีกระแสข่าวว่าผลการตรวจสอบเป็นนอมินีจริง และเตรียมส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อ แต่มีคำสั่งระงับ

ในวันที่ 11 สิงหาคม 2549 นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ได้รับทราบผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว แต่เห็นว่ายังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบซ้ำ

สำหรับคณะทำงานตรวจสอบหุ้นบริษัทในกลุ่มชินคอร์ปนั้น โดยเบื้องต้นกำหนดว่าตัวแทนคณะทำงานฯจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานกฤษฎีกา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมด้วย โดยจะมีนายยรรยงเป็นประธาน

โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม จะเน้นเรื่องข้อเท็จจริงในการซื้อขายหุ้นและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจแทนคนต่างด้าว โดยพิจารณาจากการรับผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น อำนาจการบริหาร สิทธิในการออกเสียง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกตรวจสอบกับผู้ถือหุ้น ซึ่งการตรวจสอบจะลงลึกมากขึ้น เพราะมีตัวแทนทั้ง ธปท.และ ก.ล.ต.เข้ามาตรวจสอบในแต่ละด้านที่อาจเข้าข่ายถึงการเป็นนอมินี ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าโทษความผิดของการเป็นนอมินีตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จะมีความรุนแรงน้อย คือ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการชี้มูลความผิดว่าเป็นนอมินีจริง คือผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด เช่น

ไอทีวี สายการบินไทย แอร์เอเชีย ซึ่งคนต่างด้าวไม่สามารถประกอบธุรกิจต้องสงวนนี้ได้ จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างถือหุ้นครั้งใหญ่ และจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบนอมินีของไทยในอนาคต โดยมีกรอบระยะเวลาว่าจะสรุปผลได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เท่ากับว่าจะสิ้นสุดปลายเดือนตุลาคมอย่างแน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแต่งตั้งคณะทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง แม้ว่าตัวแทนคณะทำงานที่ตอบรับกลับมาจะมีความล่าช้ามาก และมีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยออก และใช้ตัวแทนจากกระทรวงการคลังแทน โดยให้เหตุผลว่า ประเด็นที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมไม่เกี่ยวข้องกับ ธปท. และจะตรวจสอบในประเด็นด้านภาษี อีกทั้งมีการเลือกตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามารับหน้าที่เป็นเลขานุการคณะทำงาน ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย แต่นายยรรยงอ้างว่า เลือกจากความสามารถเฉพาะบุคคลที่เหมาะสมกับการทำงาน

รายชื่อคณะทำงานจึงประกอบด้วย นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง, นางอัชพร จารุจินดา จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางสาวสุภาภรณ์ ใจอ่อนน้อม รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และนายขจิต สุขุม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำหน้าที่เลขานุการ

การประชุมนัดแรกเริ่มขึ้นวันที่ 23 สิงหาคม เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาและแผนการดำเนินงาน ท่ามกลางการคัดค้านจากหลายฝ่ายที่ระบุว่า ข้อมูลที่ได้ชี้ชัดถึง "ความเป็นนอมินี" และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบซ้ำซ้อน อีกทั้งมีการกล่าวหาว่า คณะทำงานเบี่ยงเบนประเด็นการตรวจสอบโดยพยายามจะปรับนิยาม "นอมินี" เพื่อเป็นเกณฑ์การตรวจสอบเพื่อยื้อเวลาให้ผ่านการเลือกตั้ง

ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่รุนแรงขณะนั้น ก็เกิดการรั่วของ "ผลสรุปการตรวจสอบชุดกรมพัฒนาธุรกิจ" ที่ได้สรุปออกมาแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ชี้มูลว่าเป็นนอมินีและเห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่มีความพยายามล็อบบี้เป็นการภายใน หวังที่จะ "ชะลอ" การเปิดเผยผลสอบออกไปในช่วงหลังการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม เพราะเกรงว่าผลสอบที่ออกมาชี้มูล "ความเป็นนอมินี" จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเลือกตั้ง

เมื่อปรากฏการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน ทำให้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้คณะทำงานสรุปความคืบหน้าการตรวจสอบมาชี้แจงภายในวันที่ 25 กันยายน แต่คณะทำงานได้สรุปผลพร้อมกับขอยุติบทบาทการทำงานลงอย่างมีปริศนาคาใจ ทางด้านนายการุณสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตัดสินใจ

ทำให้นายดุสิต อุชุพงศ์อมร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาเปิดเผยว่า ส่งผลตรวจสอบบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจทุ่งมหาเมฆ ในวันที่ 28 กันยายน 2549 เนื่องจากเห็นว่าบริษัทกุหลาบแก้วมีมูลน่าเชื่อถือได้ว่าจะมีความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จึงส่งเรื่องให้ตำรวจรับไปดำเนินการต่อ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเพื่อพิจารณาว่ามีความผิดจริงหรือไม่

นานนับเดือนหลังจากผลสอบกุหลาบแก้วพ้นไปจากความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ จนถึงวาระที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมทั้งออกมาระบุว่า จะไม่มีการพิจารณาผลสอบย้อนหลัง แม้ว่ากองทุนเทมาเส็กจะออกแถลงการณ์ว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปลงเหลือ 49% ให้ถูกต้องตามหลักการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวก็ตาม

และยืนยันว่า แนวทางการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น ได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีการค้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

"หลักของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจะต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรม และทันสมัยต่อสถานการณ์ ซึ่งหากกฎหมายต้องการส่งเสริมการลงทุน ก็ควรทำให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ และควรเพิ่มมาตรการที่จะเป็นเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายในการดูแลธุรกิจไทย

และที่สำคัญกฎหมายไม่ควรที่จะขัดกับนโยบายรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาเรามักจะทำไม่รู้ไม่ชี้เมื่อเกิดปัญหา จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้นมา กรณีนิยามคำว่า "คนต่างด้าว" ไม่มีความชัดเจน ก็ควรไปทบทวนและปรับปรุงให้ถูกต้อง ซึ่งต้องรู้เท่าทันปัญหาของเอกชน เพราะในทางปฏิบัติการปรับปรุงกฎหมายเป็นการไล่ตามสถานการณ์ให้ทัน

แต่ต้องไม่เกิดประโยชน์แอบแฝง" นายเกริกไกรกล่าว

ประกอบกับแรงเสริมการปรับกฎหมายจากภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ออกมาชี้แนะถึงแนวทางการปรับปรุงกฎหมายในประเด็นสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการค้าเสรี โดยเสนอว่า ควรเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น 51% ในบางธุรกิจ ที่ไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างชาติ หรือธุรกิจที่ไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งทางนายเกริกไกรได้รับไว้พิจารณาในรายละเอียด

ล่าสุดแหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า กรอบระยะเวลาในการปรับปรุงกฎหมายต่างด้าวจะต้องเร่งทำให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ก่อนที่จะนำเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้ให้ทันระยะเวลาที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจอยู่

ที่มา:หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3839

หมายเลขบันทึก: 56367เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท