ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๖. ไม่เชื่อนรกสวรรค์เทวดา


 

          บันทึกที่แล้ว ชื่อว่า สวรรค์มีตา     อาจทำให้คนคิดว่าผมเชื่อในนรกสวรรค์เทวดา     จึงขอบันทึกต่อ ว่าผมไม่เชื่อเรื่องนี้    โดยได้รับการสั่งสอนในครอบครัวมาตั้งแต่ชั้นปู่     ที่ไม่เชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และของขลัง    เราถือเป็นเรื่องเหลวใหล และหลอกลวง

          แต่เราเชื่อในสัจธรรม  “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”    และเชื่อในหลักการ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”    และเมื่อผมโตขึ้น ผมเชื่อในการทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น และในการมีชีวิตที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม

          เมื่อพ่อแม่เห็นว่า ผมคงจะสอบเข้าเรียนหมอได้    ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นภาระค่าใช้จ่าย     พ่อแม่ก็ส่งเสริม โดยบอกว่า “จะได้ช่วยเหลือคนอื่นได้”    คำสอนของพ่อแม่ที่ผมได้ มาจากคำสนทนาสั้นๆ    ไม่ได้มาจาก คำพร่ำสอน

          คำสั้นๆ ที่กินใจของพ่อแม่ และคนที่ผมเคารพ ฝังอยู่ในใจไม่รู้ลืม    และเมื่อผมทำสิ่งเหล่านั้น ผมก็จะกระซิบบอกท่านในใจ ว่าผมได้ทำตามที่ท่านตั้งความหวังให้แล้วนะ

          นรกสวรรค์เทวดาและมาร เป็นสมมติ ที่มนุษย์สร้างขึ้น    ภาษาวิชาการว่าเป็น construct    จะว่ามีจริงก็ได้ ว่าไม่มีก็ได้     ที่ผมเชื่อคือความซับซ้อน (complexity)    ที่เหนือสภาพ ขาว-ดำ  ถูก-ผิด  ดี-ชั่ว    ผมเชื่อว่าในขาวมีดำ ในดำมีขาว    และในบางบริบท ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว

          ความสนุกในชีวิตยามชราของผมคือ เรียนรู้ความซับซ้อนเหล่านี้ และนำออกสื่อสารกับสังคม    โดยไม่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมตีความจะถูกต้อง

          สิ่งที่ซับซ้อนยิ่ง คือจิตใจของเราเอง     ผมเฝ้าฝึกฝนตนเองให้เข้าใจหรือมีทักษะในการอยู่กับ ความซับซ้อน (complexity) นั้น    โดยฝึกให้จิตใจมีสติจดจ่ออยู่กับเรื่องเดียว (simplicity) ในแต่ละขณะ    ซึ่งจะทำให้จิตมีพลังมาก    ผมเรียกแนวทางดำรงชีวิตแบบนี้ว่า แนว “สะอาด สว่าง สงบ”    สามารถดำเนินชีวิต แนวนี้ได้ในฐานะฆราวาส และในท่ามกลางงานที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลา

          เครื่องช่วยค้ำจุนชีวิต แนว “สะอาด สว่าง สงบ” คือศีลและธรรม และมัชฌิมาปฏิปทา ที่ตัวเราเองเป็นผู้ปฏิบัติ

          ชีวิตจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ตัวเราเป็นผู้ปฏิบัติ     ไม่ใช่ผีสางเทวดาหรือเคราะห์กรรมบันดาล               

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 563647เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ด้วยความเคารพท่านอ.วิจารณ์นะครับ..ได้อ่านบทบันทึกนี้แล้ว รู้สึกติดใจอยู่ ..จึงขอแสดงความเห็นที่แตกต่างบ้าง เพราะประเทศไทยคือ เอกลักษณ์แห่งเชื้อความเชื่อไทยยังคงอยู่ บางเรื่องเราอาจกวาดล้างไม่หมด ถ้าจะล้างสมองคนก็คงล้างยาก..หากอ.กล่าวในอินเดียหรืออินโดนิเซีย (บาหลี) หรือเขมร เรื่องนี้คงเป็นประเด็นแน่นอน

อ.อาจเชื่อมั่นในศาสตร์ที่เรียกว่า วิทยา + ศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้มั่นใจในความคิดเห็นของตนเองว่าถูกต้อง จึงกล้าพูดว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสมมติ แต่ในศาสนาต่างๆละ ที่สอนกันอยู่ ในประเทศไทยที่นับถือศาลเจ้า ศาลหลักเมือง หรือพระพุทธรูป หรือสถานที่เคารพ ฯ ที่เขาเคารพบูชาละ จะว่าไง ถ้าสมมติขึ้นมาแล้วพาให้คนจำนวนมากหลงเชื่องมงาย ก็ผิดทั้งหมดนะสิครับ

หากจะมองให้เป็นกลางคำกล่าวของอ.เป็นความเห็นเฉพาะส่วนตัวก็ไม่ผิดหรอกครับ.. แต่ถ้าสื่อในเวทีสาธารณะก็ควรเตรียมใจอ่านชื่อของอาจารย์ (วิจารณ์) พร้อมด้วย หลายเรื่องที่บันทึกผมก็เห็นด้วย เพราะรู้น้อย แต่ถ้าจะลบหลู่คนรากหญ้าว่าเป็นเรื่องสมมติหรือเหลวไหลก็ขอแย้งเช่นกันว่า ความคิดเช่นนั้น ไม่สมกับคำว่า ผู้รู้

ประเด็นของผมคือ

๑. ที่เชื่อเช่นนั้น เพราะปู่สอนมา..ปู่เกิดในจีนหรือไทยครับอ. แล้วท่านเหล่านี้เชื่อผีบรรบุรุษ ฟ้า ดิน สวรรค์ หรือไม่

๒. นรก สวรรค์ มาร เป็นเรื่องสมมติ แล้วมนุษย์ -วิทยา -ศาสตร์ต่างๆ ชื่อต่างๆ หลักการต่างๆ จริงหรือสมมติครับ

๓. อ. เชื่อความซับซ้อน นั่นคือ ความเชื่ออย่างหนึ่ง เหมือนคนอื่นเชื่อต่างอ. แล้วใยต้องยืนยันว่า เป็นเรื่องสมมติ เพราะเรื่องเหล่านั้น ก็มีความซับซ้อนเช่นเดียวกัน ใยมิศึกษาดูก่อนจะถอนมันละครับ อ.ควรจะศึกษาให้สนุกก่อนในเรื่องเหล่านี้ ก่อนจะยืนยันว่า เป็นเรื่องสมมติ

๔. ความซับซ้อน คือ จิตใจ ดังนั้น จิตใจของชาวบ้านหรือปัญญารากหญ้า ก็มีจิตใจ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้อยู่ ไม่สามารถเข้าถึงปัญญาสากลระดับโลกและประเทศหรอกครับ ควรจะศึกษาจิตใจคนระดับล่างให้กระจ่างก่อนไหม จึงจะเข้าถึงคำว่า ใจซับซ้อน

๕. ผู้มีปัญญาระดับสากล มิควรจะลบหลู่ดูแคลนหรือกล่าวออกมาด้วยความยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสมมติลอยๆ และขาดเหตุผล หรือขาดต้นเค้าของประเด็นใดๆ ที่ใดที่หนึ่ง และมิควรเมินเฉยนัยคำว่า ไร้ค่า ไร้สาระ กับพฤติกรรมคร่ำครึเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งพาใจ มากกว่า คำว่า วิชาการ ที่โพนทนาบนหอคอยงาช้าง จนทำให้ชาติล่มจมหรือล้างสมองเด็ก เพราะเชื่อมั่นในศาสตร์ของตน ที่ได้มาจากฝรั่งขี้โม้นั่นแล

ด้วยความเคารพอย่างสร้างสรรค์ ผมไม่มีอคติในใจกับอ.นะครับ ไม่มีปมใดๆในเรื่องนี้เป็นส่วนตัว แต่อยากสะท้อนภาพรวมสังคมว่า ยังมีคติเรื่องนี้อยู่ หากอ.จะถือเป็นเรื่องวิจารณ์ให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่และสอดคล้องกับหลักสากลทั่วโลกละก็ต้องอีกหลายยกครับผม

ขอบคุณครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท