"จิตเหมือนสัตว์ซน"


                                                                      

                                                                                        pic. from www.oknation.net

             จิตของเราที่ถูกเอาใจมานาน..จนมันเอาแต่ใจและดื้อเป็นบางครา..บางครั้งมันยากที่จะควบคุมมันได้ โดยเฉพาะเวลาฝึกทำสมาธิหรือวิปัสสนาครับ..หลักง่ายๆในการเรียนรู้จิตและฝึกจิตคือ หาของเล่นให้มัน..แล้วเฝ้ามองมัน เท่านั้นพอ..(ขั้นต้น) จากนั้นค่อยใช้มันทำงานต่างๆ...จึงขอเขียนเป็นกลอนดังนี้

 

            อันดวงจิต พิจคล้าย ลูกแมวเหมียว

อยากวิ่งเที่ยว เกี่ยวก้อย ลอยไปทั่ว

ห้ามไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ขู่ไม่กลัว

แล่นไปทั่ว กลั้วเกลือก ไม่เลือกทาง

            ต้องหาของ คล้องขา ล่อตาเล่น

ให้มันเห็น เล่นสนุก ผูกเหนี่ยวรั้ง

ไม่ซุกซน ไม้ด้นดั้น กั้นหนทาง

พอเหนื่อยมั่ง ยามนั่งนอน ค่อยสอนมัน

             บ้างเหมือนวัว ตัวน้อย ที่ปล่อยปละ

อิสระ หาทาง สร้างความฝัน

พอถูกผูก ล่ามเชือก เป็นเทือกพาล

ดิ้นลนลาน ค้านสะบัด ทำขัดขืน

              พอดิ้นรน จนเหนื่อย แล้วเมื่อยล้า

รู้ตัวว่า ไร้ทาง วางไม่ฝืน

สงบนิ่ง ไม่วิ่งมั่ว กลัวยอมยืน

ไม่ขัดขืน ยืนน้อม ยอมจำนน

              บ้างว่าเหมือน เพื่อนวานร ในดอนป่า

ทำกิริยา ท่าทาง ไม่ว่างโหน

อยู่ไม่นิ่ง ตามกิ่งไม้ ไต่กระโจน

ตาถลน ค้นหา อาหารกิน

              จะหยุดนิ่ง เมื่อวิ่งเหนื่อย และเมื่อยล้า

หรือเวลา ราตรี หนีคืนถิ่น

ยามหลบหลับ ลับลวง ง่วงหลังกิน

แต่ไม่สิ้น กลไก หลับไหลจริง

              สัญลักษณ์ อัคคี นี้คือจิต

สำแดงฤทธิ์ ติดไฟ ให้ใจผิง

ยามเป็นเพลิง เริงล้น เหลือทนจริง

ยามนุ่มนิ่ง เหมือนหิงห้อย ร้อยจินตาน์

             จิตในกาย ใจในจิต พิจดูเถิด

จะประเสริฐ เลิศคน เพราะทนหนา

เห็นจิตแท้ จิตจริง อิงสัจจา

ในกายา หากันเถิด เกิดผลงาม

---------------<๒/๒๘/๕๗>---------------

คำสำคัญ (Tags): #จิตคน
หมายเลขบันทึก: 562780เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ถ้าเราฝึกจิตไว้กับตัวเราเองแล้ว...ไม่คิดว่อกแว่กในเรื่องอื่น ๆ ทำให้ใจเราไม่ฟุ้งซ่าน อยากไปรู้เรื่องของคนอื่น...มุ่งมั่นในสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จ...สำหรับชาตินี้ พี่ว่า...พี่คงมีกุศลเก่าที่เคยฝึกมาทำให้รู้สึก "ชอบ" ที่จะกำหนดจิตให้อยู่กับตัวเราเองมากกว่าไปคิดเรื่องอื่น ๆ...เพราะการทำแบบนั้น ทำให้จิตตกต่ำ คิดแต่เรื่องของคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ตัวของเราเอง แล้วจะทำให้เกิดทุกข์...ทุกวันนี้ทำได้แล้วแต่อาจยังไม่ดีพอ...ต้องฝึกต่อค่ะ เพื่อจะได้ติดตัวไปในภพหน้าที่ดีกว่าภพนี้ค่ะ คริ ๆ ๆ...การที่เราคิดแบบนี้ และฝึกแบบนี้ ทำให้คนรอบข้าง มองดูเราว่า ทำไมไม่เหมือนเขา ทำได้อย่างไร...ก็บอกแล้วไงว่าอยู่ที่จิตเรานี่แหล่ะ จริงไหมค่ะ?...

ขอบคุณค่ะ อ่านแล้ว .... ได้ข้อคิดเตือนใจมากๆ เลยค่ะ....ขอบคุณค่ะ

จริงครับพี่บุษ..ไม่มีใครรู้ใจเท่ากับเรารู้ใจตนเอง..แม้แต่สามี ลูกๆ ก็ยังไม่รู้ใจเราตลอดครับ..การรู้ใจตน คือ รู้ทั้งองคาพยพของชีวิตนะครับ หากมองในแง่ปฏิบัติ..อยากจะรู้ใจให้ละเอียดสุขุมลุ่มลึก ต้องฝึกอยู่คนเดียว เพราะนี่คือ "ปฐมฐาน" ของชีวิต ก่อนเกิดและหลังตาย นั่นคือ เอกจิต แท้ๆครับ

การฝึกจิต คือ ไม่มีใครบอกได้ว่าอยู้ขั้นไหน นอกจากตัวเราและผู้รู้ธรรมขันธ์สูงๆ เป้าหมายคือ รู้สภาวะจิตตน ปรับจิตไปตามสภาวะของโลกแวดล้อมและค่อยๆ ลด ละ ปลดปลงโลก จนจิตว่าง แม้แต่ร่างกายตน ครับ ขอบคุณที่แชร์ความเห็นร่วมครับพี่

สำหรับหมอเปิ้ล..กำลังอินอยู่กับดอกไม้ของโลก ที่สวยงามแท้ๆ..แต่ดอกไม้เหล่านี้อีกไม่นานก็คงแห้งเหี่ยวไปตามกาล...ความงามก็คงเหลือไว้แค่ความทรงจำครั้งหนึ่ง..ส่วนความงามอีกอย่างคือ ความงามจากจิต ที่ฝึกดีแล้ว ย่อมงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดครับ..กระน้ัน โลกยังคงตราตรึงอยู่กับความงามของพฤกษา มาลาอยู่ดี เพราะได้อารมณ์และประจักษ์ได้ทุกคน..ว่าแต่ว่ายามได้กลิ่นดอกไม้เหล่านี้ ทำให้จิตโสภา หน้าชื่นบาน ด้วยคำว่าอุทานว่า หอมจริงๆ ...ใช้ไหมครับคุณหมอ..ขอบคุณครับ

พี่กลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่งค่ะ...คุณ ส.รตรภักดิ์...ลองอ่านตามนี้นะคะ...

http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/550091

http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/554146

http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/553574

ซึ่งมันเกี่ยวกับตัวพี่เอง...พอดีเห็นเขียนเรื่อง ชีวิต + จิต น่าจะพอรู้ เพราะว่าพี่สงสัยตัวเอง...อยากรู้ว่าเหมือนกับที่พี่คิดหรือไม่...มันมีอะไรบางอย่างในตัวพี่เอง ได้แต่สงสัย เฝ้าพิสูจน์ตัวเอง แต่ยังไม่ได้คำตอบ...จากที่พี่บอกข้างต้น นั่นคือ การปฏิบัติตัวของพี่เอง ซึ่งไม่เหมือนคนอื่น ๆ จนลูกชายบอกว่า...แม่ทำได้ ภัครยังทำไม่ได้เหมือนแม่เลย...มันคืออะไรหรือค่ะ? ถ้าทราบตอบพี่ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ...ขนาดเคยเรียนวิทย์มา ไม่อยากงมงายเช่นกันค่ะ แต่ก็อดสงสัยตนเองไม่ได้ค่ะ

ผมเคยตอบพี่ไปบ้างโดยใช้ชื่อว่า "ตะวัน" ครับ ส่วนอีกบันทึก ผมเพิ่งตอบไปนะลองเข้าไปทบทวนอีกที..

เรื่องนี้ผมขอตอบในแง่หลักการเบื้องต้น (ปฐมบทแห่งการเข้าใจ ในการเข้าถึงจิตตน) คำว่า "จิต" เป็นเรื่องที่ไม่มีใครชำนาญที่แท้จริงครับ..เพราะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล คือ เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ผู้ที่จะรู้ดีคือ "ตนเอง "(รู้ได้เฉพาะตน) พุทธศาสนาสอนเรื่องนี้ไว้เป็นเพียงหลักการหรือทฤษฎีเท่านั้น

หลังทดสอบหรือปฏิบัติเท่านั้นจึงจะเกิดผลต่างกัน เหมือนพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลที่มีจริตหรือผลด้านเอตทัคคะ (ชำนาญ) ต่างกัน แต่ให้เข้าใจหลักการพุทธศาสนาสอนไว้อย่างไรเรื่อง "ชีวิต จิต ธรรม วัฏ" หากจะกล่าวในหลักปฏิบัติในสองขั้นคือ สมถะ (จัดระเบียบจิต) และวิปัสสนา (บริหารจัดการปัญญา จิต) ซึ่งมีผลต่างกัน

อันแรกมีผลที่ "ฌานสมาบัติ" เช่น รู้อนาคตกาล รู้ใจคนอื่น หูทิพย์ได้ ฯลฯ ขั้นนี้ มิใช่แก่นแท้ แต่เป็นหลุมดักผู้ปฏิบัติที่ขาดปัญญากำกับครับ

ส่วนอันหลัง เน้นที่สภาวะจิตล้วนๆ ที่ต้องอาศัย สติ สัมปชัญญะ ในการขับเคลื่อนไหวของไตรกรรม คือ กาย วาจาและใจ อย่างลุ่มลึกและรู้ตามเท่าทันตนเอง ผลคือ มีสติบริบูรณ์ เกิดปัญญาเฉพาะหน้า เมื่อเผชิญกับกิเลสที่ละเอียดๆ ที่เข้ามาก่อกวนใจได้

ผลที่สูงคือ "จิตละเอียด" ว่างจากมลทิน ซึ่งจะเป็นฐานไปสู่การสลัดจิตจากโลกได้อย่างสะดวกง่ายขึ้น ที่สุดคือ จิตว่าง ปลอดอุปาทานโชก ชีวิต สรรพสิ่งในโลกได้ และจะมีคุณธรรมที่ละเอียดขึ้นเช่น สติ ปัญญา เมตตา กรุณา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ จิตทัศน์ จักรวาลทัศน์ และวัฏทัศน์ ฯลฯ จึงมองเห็นวงรอบหรือวงวัฏ (วนรอบ)ของสรรพชีวิต ที่ต่างไหลวนเวียน อยู่กับโลก ในการเกิด ตาย ๆๆๆๆ เช่นนี้ไม่รู้จบ

เมื่อเห็นวงรอบของสรรพสัตว์ดำเนินไปเช่นนี้ได้ นั่นคือ "ดวงตาเท่ากับดวงโลก" ย่อมเห็นสรรพสิ่ง วิ่งไปในความมืดหรือสว่าง แล้วเราจะยังพอใจในกระแสโลกกระนั้นหรือ แน่นอนหากเราพบทางลับดังกล่าวได้ เราคงไม่อยากมาเกิดอีกเป็นแน่ครับ

หากจะสรุปให้เป็นไปตามวิสัยโลก ก็พอกล่าวได้ว่า พี่บุษ มีพื้นฐานปารมีในการสร้างกุศลที่ดีครับ ขอให้กระทำความดีต่อไป ขออย่างหลง อย่าเหลิงในสิ่งที่พบ ที่เห็น อย่าท้อในงานที่ทำ และรักษาความดีอันนี้ไว้ ให้พี่อธิษฐานเป็นปารมีให้เกิดปัญญาธรรม ด้วยการฝึกจิตขั้นวิปัสสนาไปด้วยครับและที่สำคัญอย่าอวดอ้างหรือเข้าข้างตนเองเด็ดขาด..

ฉะนั้น มองให้ไกลคือ เป้าหมายพุทธ หมายถึง พ้นวัฏ (ทุกข์ทางใจ) ตัวที่จะพาพ้นคือ ภาวนาจิต ครับ เพราะปัจจุบันปัญญามนุษย์สุดยอดแล้ว แต่ขาดตัวภาวนาจิตครับ...หวังว่าพี่คงกระจ่างนะครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะ...สำหรับคำตอบ...ก็คงปฏิบัติต่อเพราะตั้งใจไว้แล้ว...เนื่องจากเป็น "ความสุขทางใจ" ด้วยค่ะ

ดวงจิตที่แท้..นั้น..ประภัสสร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท