KM วันละคำ : ๖๒๕. วิธีนำ Tacit Knowledge มาใช้งาน


 

          ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว    ที่คุณหมอสมศักดิ์ชวนทีมเขียนหนังสือ Tacit Knowledge ที่ร่วมกันเขียนร่างแรกเสร็จ มาร่วมประชุม เพื่อปรับปรุงต้นฉบับหนังสือ    ซึ่งจะนำเสนอวิธีการนำ TK มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพ

          ผมตีความง่ายๆว่า TK อยู่ในกลุ่มคนทำงานที่ประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่า Success Story    ดังนั้นหากต้องการบรรลุผลงานเรื่องใด    ให้นำกลุ่มคนที่มี micro success ในเรื่องนั้น     มาตั้งวง ลปรร. กัน ที่เรียกว่า SSS – Success Story Sharing  

          เมื่อ ลปรร. เรื่องราวของความสำเร็จ    แล้วนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อมุ่งสร้าง ความสำเร็จตามเป้าหมาย    แล้วเอาผลงานวนกลับมา ลปรร. กันอีก เป็นวงจรเรื่อยไป    ก็เท่ากับเป็นการใช้พลังของ TK

          นพ. ยงยุทธ พงษ์สุภาพ ซึ่งทำงานอยู่ที่ สปสช. เขียนเล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้ ที่ท่านเรียกว่า CBL – Context-Based Learning เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับปฐมภูมิของระบบบริการสุขภาพ (รพสต.) เรียนรู้เพื่อพัฒนา สมรรถนะในการทำงานในบริบทของหน่วยงานของตน    เน้นที่การเรียนรู้คุณค่า และสร้างความมั่นใจ ในการทำหน้าที่    ซึ่งผมอยากเรียกว่า Values-Based Learning    และผมเชื่อว่า เป็นการเรียนรู้บนฐานของ TK เป็นหลัก หรือเน้น TK มากกว่า EK (Explicit Knowledge) 

          เจ้าหน้าที่ของ รพสต. นี้ ยังหมุนเวียนไปทำงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ให้บริการวิชาชีพเดียวกัน หรือต่างวิชาชีพ ในโรงพยาบาลอำเภอด้วย    ผมมีความเชื่อมานานแล้วว่า เมื่อไรก็ตามมีการหมุนเกลียวความรู้ ผ่านพรมแดน (border)     ไม่ว่าพรมแดนแบบใด TK จะถูกแบ่งปัน และยกระดับ    CBL จึงเป็นกุศโลบายนำ TK มาใช้งานอย่างแยบยล

          เรื่องการใช้งาน TK นี้ มีความท้าทายมาก    ว่าจะได้รับการยอมรับแค่ไหน    เพราะโลกความรู้ของเรา พัฒนาขึ้นบนฐานของ EK ที่เน้น evidence-based    จึงมักเกิดคำถามว่า EK ที่เราพูดถึง มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ แค่ไหน    ซึ่งก็คือประเด็นการตรวจสอบความถูกต้องน่าเชื่อถือ (validation) ของ TK   

          ร่างต้นฉบับเขียนถึง TK validation ว่ามี ๔ แบบ    ซึ่ง ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด บอกว่า ตามปกติเราไม่ validate แต่เรา acknowledge และ appreciate   แต่ผมมีความเห็นว่า เราทำ micro-validation หรือ embedded validation ผ่านการตรวจสอบผลของการใช้ความรู้นั้น    โดยอาจใช้เวลาในเสี้ยววินาที เราก็รู้แล้วว่า เราต้องปรับ การใช้ TK นั้นอย่างไร     คือเป็นการปรับให้เข้ากับบริบทสถานการณ์ของงานในขณะนั้น

          ในการประชุมนี้ ผมได้แนวคิดว่า โลกเราถูกครอบงำโดยจารีตของ EK    เมื่อนำ TK มาใช้ หากเราหลงใช้ กระบวนทัศน์ จารีต และแนวทางของ EK ก็จะผิดฝาผิดตัว     ไม่เกิดผลดี

          ในการนำ TK มาใช้ประโยชน์ เราจึงต้องสร้างจารีตของ TK ขึ้นมาคู่ขนาน และ synergy กับจารีตของ EK

วิธีนำ TK มาใช้งานให้เกิดพลัง    ต้องรู้จักใช้ EK เข้ามาหนุน    และต้องระวังอย่าให้จารีต EK เข้ามาปิดกั้น

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 562767เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บางองค์กร KM คือ การนำเรื่องราวที่ส่งคนไปอบรม มาเล่าให้คนที่ไม่ได้ไปฟัง ไม่ได้นำ TK มา ลปรร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท