หลักไมล์เล็กๆ : ชั้นเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยที่เปลี่ยนไป (๕)


บันทึกของครูตั๊กเรื่องนี้ เล่าถึงกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจ และการสร้างให้ผู้เรียนมีฉันทะในการเขียนอ่านที่สามารถนำผู้เรียนให้รู้จักตัวเอง ด้วยโจทย์การเรียนรู้ที่ช่วยทำให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์งานเขียนจากมุมที่คำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ

ทายซิ...ฉันคือใคร ?

 

ก่อนเรียนจบช่วงชั้นที่ ๑ คุณครูมีเป้าหมายในใจว่า นักเรียนทุกคนจะรู้จักและเข้าใจตนเองเป็นอย่างอย่างดี พร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังและมีทิศทาง  ดังนั้น การเรียนรู้ตนเองจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยจะต้องนำพานักเรียนไปให้ถึง

 

คุณครูตั๊ก – รัตดารา มกรมณี  คุณครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย  จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนชั้น ๓ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชื่อเสียงเรียงนามของตนเองติดต่อกันเป็นปีที่ ๓ แล้ว ความคิดนี้ได้มาจากการปรึกษาหารือกับคุณครูใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้จักตนเอง ครูใหม่จึงได้แนะนำให้นำเรื่องที่มาและความหมายของชื่อ มาจัดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนเรื่องใกล้ตัวนักเรียน ที่จะนำพาไปสู่ความเข้าใจตนเองได้ง่ายดายที่สุด

 

 

กิจกรรมนี้เริ่มต้นจากการสืบค้นที่มา และความหมายของชื่อตนเอง ทั้งชื่อเล่น ชื่อจริง ไปจนถึงนามสกุล โดยการสอบถามจากคุณพ่อคุณแม่ และญาติผู้ใหญ่ ว่าชื่อ และนามสกุลของเขาได้มาจากไหน มีที่มาจากไหน มีความหมายเช่นไร เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในตนเอง  จากนั้นจึงจะเป็นการตั้งปณิธานในการที่จะพัฒนาตนให้เหมาะสมตามชื่อ และนามสกุลที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ โดยอิงการศึกษาตัวอย่างจากจากเรื่องราวในทศชาติชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญบารมีที่พระองค์ได้ทรงตั้งความปรารถนาไว้ในแต่ละชาติ

 

เมื่อสืบค้นข้อมูลมาได้แล้ว  นักเรียนจะต้องนำมาเขียนให้เป็นเรียงความด้วยถ้อยคำที่สละสลวย  และมีการนำคำซ้อนมาใช้ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การนำความเดิมไปเขียนให้เป็นกลอนสี่ที่มีการใช้คำซ้อนและคำคล้องจอง

 

 

ในการเขียนเรียงความของนักเรียนชั้น ๓ ช่วงที่ยากที่สุดคือช่วงของการเขียนคำนำ และยิ่งมีเงื่อนไขให้ใช้ถ้อยคำที่สละสลวยด้วยการนำคำซ้อนมาใช้ในการเขียนร้อยแก้วด้วยแล้ว ความยากก็ยิ่งทวีมากขึ้นไป แต่หากครูสร้างฉันทะให้นักเรียนสนุกและมีความสุขที่จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเขียนได้แล้ว กติกาการเล่นกับคำก็คือเงื่อนไขในการเล่นชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อท้าทายความสามารถของผ้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนได้มีช่องทางในการพัฒนาศักยภาพที่สะสมอยู่ให้หลั่งไหลออกมาเป็นสมรรถนะด้วยการฝึกฝนจนคล่องแคล่ว

 

เมื่อขึ้นต้นด้วยการเล่นกับคำทั้งในแง่ของเสียงและความหมายแล้ว ความสนุกจากการได้เรียนรู้ก็จะตามมาได้ในที่สุด และเมื่อครูตั้งหลักได้ดังนี้การคิดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป...

 

ในการเรียนรู้เรื่องคำซ้อน แรกที่สุดครูจะให้นักเรียนคิดคำซ้อนที่บ่งบอกความเป็นเรา จะกี่คำก็ได้  แล้วนำมาให้เพื่อนทาย  ถ้าเพื่อนทายถูกถือว่าประสบความสำเร็จในการเลือกสรรคำที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเขาได้ชัดเจน 

 

 

 

ตอนทำกิจกรรมนี้นักเรียนตื่นเต้นมาก  ไปนั่งหลบมุมคิดคำเพราะไม่อยากให้เพื่อนๆ เห็น แต่ปรากฏปรากฏว่าเพื่อนๆ สามารถทายได้ถูกหมด 

 

โจทย์ต่อไปที่ครูมอบหมายคือ การนำคำซ้อนมาเขียนบรรยายตัวตนเป็นร้อยแก้ว  จากนั้นให้ลองทายใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น  ผลปรากฏว่านักเรียนแต่คนเลือกคำมาแสดงตัวตนได้ชัดเจนสุดๆ ไม่พลาดสักคน

 

 

 

ขั้นต่อไปให้นักเรียนไปเชิญครูประจำชั้นมาฟัง  ถ้าครูประจำชั้นทายถูกแสดงว่าเขียนได้ชัดเจน แต่ถ้าทายไม่ถูก ต้องไปเขียนงานมาใหม่

 

 

งานนี้ทุกคนตั้งใจเขียนโดยไม่มีอาการอิดออด  เมื่อเขียนเสร็จก็ถึงเวลาให้คุณครูประจำชั้นทาย   ก่อนที่จะมาลองทาย คุณครูประจำชั้นก็กังวลว่าจะทายถูกไหม  ถ้าหากตอบผิดนักเรียนจะเสียใจ แต่ครูตั๊กได้เห็นตัวงานแล้วจึงบอกกับครูประจำชั้นไปว่าไม่ต้องกังวล เพราะทุกคนเขียนได้ชัดเจนมาก   ในที่สุดคุณครูก็ทายได้ถูกต้องหมดทุกคน  นักเรียนดีใจที่พวกทำงานกันได้ดีสรุปว่าคาบเรียนนี้ได้คำนำของเรียงความของแต่ละคนมาเรียบร้อย  

 

ความท้าทายยังไม่จบลงเพียงเท่านี้...  เมื่อมีการประชุมกับคุณครูช่วงชั้นที่ ๒  เรื่องการส่งต่อนักเรียน  คณะทำงานเสนอให้มีการจับพี่รหัส เพื่อให้พี่ๆ ช่วงชั้นที่ ๒ ได้ทำหน้าที่ดูแลน้องๆ  ...แต่จะทำอย่างไรให้สนุก?

 

ในวงคณะทำงานมีการพูดถึงการเขียนคำแนะนำตัวเอง โอ้ !!! คราวที่แล้วเขียนให้ครูประจำชั้นทาย  คราวนี้ต้องเขียนให้พี่ชั้น ๔  ที่ไม่รู้จักเรา เราไม่รู้จักพี่ทาย  นับเป็นเรื่องท้าทายยกกำลังสอง  

 

ตอนแรกนักเรียนค่อนข้างกังวลว่าถ้าไม่มีคนทายถูกเลยตัวเองจะไม่มีพี่รหัส  เมื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็สรุปร่วมกันได้ในที่สุดว่าการเขียนคำแนะนำตัวเองนี้จะต้องเขียนเฉพาะรูปร่าง อย่าเขียนนิสัยหรือฉายา เพราะพี่เขาไม่รู้  คำถามต่อมาคือ แล้วถ้ารูปร่างหน้าตา ทรงผม ของเรามีความคล้ายกันล่ะ พี่เขาจะรู้ได้อย่างไร  ก็มีคนเสนอว่าให้เขียนคำใบ้ชื่อด้วย  และเขียนว่าเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายด้วย จะได้ตัดตัวเลือกให้น้อยลง  

 

 

เฉลย : จินนี่

 

 

 เฉลย : คีม

 

 เฉลย : กิ๊ฟท์

 

 เฉลย : ของขวัญ

 

 เฉลย : จอมทัพ

 

สิ่งที่ครูได้เห็นคือความพยายาม ความต่อสู้ ฝ่าฟันที่จะใช้ภาษาในการนำเสนอตัวเองให้พี่ๆ ได้รับรู้  เมื่อทำเสร็จถึงขั้นตอนส่งมอบสลากให้พี่ๆ จับ  ...งานนี้ทั้งครูชั้น ๓  ครูชั้น ๔  และนักเรียน เองก็เฝ้ารอลุ้นว่าพี่ชั้น ๔  จะอ่านแล้วตามหาน้องได้หรือไม่ซึ่งเริ่มมีการหาตัวและเริ่มดูแลน้องๆ โดยที่ไม่รู้ว่าถูกตัวกันแล้วหรือยัง แล้วในวันเฉลยเราจะมาลุ้นกันอีกทีว่าที่ทายกันถูกเป็นเพราะน้องเขียนเก่งหรือพี่เดาเก่ง

 

 

 เฉลย : เต็ม

 

 เฉลย : พุด

 

 

 เฉลย : กินเจ

 

สิ่งที่ครูตั๊กได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้ คือ  ถ้าครูรู้จักลักษณะนิสัยและตัวตนของนักเรียนมากเพียงพอ  ครูจะสามารถจัดสรรงานให้มีความท้าทายให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และเมื่อผู้เรียนมีความสนุกก็จะเกิดความมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันอุปสรรค  การทำให้ผู้เรียนสนุกที่จะเขียนและสนุกกับการใช้ภาษาด้วยการปลูกฝังความสนุกที่จะเล่นกับภาษา  ครูจะสามารถพัฒนาศักยภาพในการใช้ภาษาของนักเรียนได้อย่างไม่ยากเย็น  แล้วเหล่านักเขียนตัวน้อยๆ ก็จะค่อยๆ คลี่บานออกมาได้อย่างงดงาม

 

                                                                                   ครูตั๊ก - รัตดารา  มกรมณี  บันทึก

 

 เฉลย : เซ็น

 

 เฉลย : แพร

 

 เฉลย : โจซีฟิน ญาณิกา  แอนเดอร์สัน

 

จากผู้เรียบเรียง

บันทึกของครูตั๊กเรื่องนี้ เล่าถึงกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจ และการสร้างให้ผู้เรียนมีฉันทะในการเขียนอ่านที่สามารถนำผู้เรียนให้รู้จักตัวเอง  ด้วยโจทย์การเรียนรู้ที่ช่วยทำให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์งานเขียนจากมุมที่คำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการคำนึงถึงความเข้าใจของผู้อ่านนี้ ส่งผลให้ทุกคนต้องทบทวน ไตร่ตรอง ประณีตกับงานที่อยู่ในมือมากขึ้น คุณภาพของชิ้นงานและการเรียนรู้จึงพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว 

หมายเลขบันทึก: 562367เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2014 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท